การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทั้งงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้างอาคาร และงานก่อสร้างที่พักอาศัย โดยเป็นรูปแบบการดำเนินงานโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายหลากหน่วยงาน ความสำเร็จของโครงการก่อสร้าง คือ ความสามารถในการส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด หากแต่ความท้าทายในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพงานก่อนการส่งมอบ ณ ปัจจุบันยังคงพบเห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องของคุณภาพงานก่อสร้างระหว่างผู้ตรวจสอบ กับ ผู้ส่งมอบงาน ประเด็นสำคัญที่ถูกค้นพบ เช่น เจ้าของงานไม่มีความรู้ในการตรวจสอบงานก่อสร้าง การตรวจสอบฝีมือการทำงานขาดหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่แน่นอนของผู้ตรวจ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับระดับคุณภาพงานที่ลูกค้าต้องการ เกณฑ์การตรวจ วิธีการตรวจวัด ค่าการยอมรับความคลาดเคลื่อนของงาน เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวัดคุณภาพงาน รวมทั้งการตรวจประเมินคุณภาพงานที่ยังคงอาศัยดุลยพินิจของผู้ตรวจซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ที่ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ ความชำนาญและความพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสถาปัตยกรรม อาทิ งานผนัง งานทาสี งานวอลเปเปอร์ งานเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากความแข็งแรงและคงทนแล้ว ความสวยงามของผลงานเป็นสิ่งที่สำคัญมากด้วยเช่นกัน

IQUAL Model พัฒนาขึ้นเพื่อนำไปใช้สำหรับการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงานที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนองานก่อสร้างผนังภายในเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายในครั้งนี้

โมเดล IQUAL การพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงาน งานก่อสร้างผนังภายใน

ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ และ 5 กระบวนการ ได้ดังนี้

                1. องค์ประกอบการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงาน

  1. Identify
  2. Quality
  3. Unlock of Limitations
  4. Abilities
  5. Learning

                 2. กระบวนการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงาน

  1. Delphi Technique Research
  2. Identify Customer Requirements
  3. Creative & Concept Design
  4. Development & Testing
  5. 5)   Evaluation and Apply

Identify

การระบุความต้องการ การกำหนดคุณลักษณะและข้อกำหนดต่าง ๆ ของนวัตกรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องค้นหาข้อเท็จจริงนำมาประกอบเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพงานมีลักษณะเป็นงานเฉพาะ ประกอบด้วย องค์ความรู้เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติเกี่ยวข้องกับบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงานที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในงาน ดังนั้นในขั้นตอนของการระบุความเป็นนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย ความต้องการ การกำหนดคุณลักษณะและข้อกำหนดต่าง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม

กระบวนการวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟาย เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาในเรื่องที่ต้องการข้อสรุปและความชัดเจนของแนวทางการตรวจสอบคุณภาพงานหรือหาความรู้ที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด อันเป็นเหตุที่ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเกิดปัญหาความขัดแย้งอยู่ในกระบวนการทำงาน ณ ปัจจุบันผลลัพธ์ที่ได้กระบวนการนี้คือ ข้อสรุปจากเสียงข้างมากที่ได้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารและงานก่อสร้างผนังภายในโดยเฉพาะ จึงทำให้สามารถนำข้อสรุปต่าง ๆ มาใช้สำหรับการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ

Quality

การศึกษาในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพงานผนังภายใน คือการระบุองค์ประกอบ ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องสำหรับการนำมาพัฒนานวัตกรรม โดยข้อมูลที่ได้คือ ผลลัพธ์จากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ตำราเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพงาน การสำรวจ และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา และความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง กระบวนการวิจัยด้วยเทคนิคเดลฟาย และกระบวนการระบุความต้องการของลูกค้า (Identify Customer Requirements) สำหรับเรื่องการตรวจสอบคุณภาพงานถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถกำหนดองค์ประกอบหลักของการพัฒนาแนวทางการตรวจสอบคุณภาพงานผนังภายใน ได้ดังนี้ คือ

  • Quality Requirements of Work
  • Criteria of Work
  • Measurement Method
  • Measurement Tools
  • Tolerance Acceptance

ผลลัพธ์ที่ได้ในขั้นตอนนี้ คือ ข้อมูลองค์ความรู้ที่สำคัญและมีความน่าเชื่อถือเหมาะสมสำหรับการนำไปพัฒนาเป็นคู่มือแนวทางการตรวจสอบคุณภาพงานผนังภายในสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อใช้สำหรับอ้างอิงแนวทางการทำงานร่วมกันในขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบงานได้ในทุกโครงการ อีกทั้งยังสามารถนำมาพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพงานก่อสร้างผนังภายในที่เหมาะสม และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Unlock of Limitations

การดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงาน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนวัตกร คือ การปลดล็อกตนเองจากข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อจำกัดทางความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และข้อจำกัดด้านความเป็นตัวตนเชิงพฤติกรรมของนวัตกร เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรมนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอาศัยทีมงานพัฒนาที่มีพื้นฐานองค์ความรู้หลายศาสตร์ ในขั้นตอนการออกแบบ (Creative and Concept Design) นี้ นวัตกรจำเป็นต้องพร้อมต่อการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ จากการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ของทีมงานร่วมพัฒนาซึ่งประกอบด้วย นวัตกร สถาปนิก นักประดิษฐ์เครื่องมือ รวมทั้งผู้ใช้งาน หรือผู้ที่อยู่ในวงการก่อสร้างงานผนังภายใน เป็นต้น การเปิดใจเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ เช่น ความรู้ด้านเครื่องกล ความรู้ด้านวัสดุ ความรู้ด้านการออกแบบโครงสร้าง และระบบการทำงานของอุปกรณ์ รวมทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยีของเครื่องมือวัดคุณภาพงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้แนวคิดการออกแบบที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ดังนั้น การปลดปล่อยตนเองจากข้อจำกัดต่าง ๆ คือ หนึ่งกุญแจสำคัญสำหรับนวัตกรในการคิดค้น ออกแบบแนวทางการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพงาน

ผลลัพธ์ที่ได้ในขั้นตอนนี้ คือ แนวคิดการออกแบบที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดที่สามารถนำไปประเมิน และคัดเลือกสำหรับการพัฒนาต้นแบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าต่อไป

Abilities

ความสามารถด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ การเลือกแนวคิดการออกแบบที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้สูงสุดสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งผ่านการประเมินโดยกลุ่มลูกค้าและผู้ใช้งาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลศึกษาความเป็นไปได้ของการนำแนวคิดนั้นมาพัฒนาต้นแบบ (Prototyping) ต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทดสอบผลิตภัณฑ์ (Development and Testing) นวัตกรต้องใช้ความสามารถพื้นฐาน 3 ด้าน ดังนี้ คือ

1) ความสามารถด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ การเลือกแนวคิด
การออกแบบที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้สูงสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ศึกษาความเป็นไปได้ของการนำแนวคิดนั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototyping)

2) ความสามารถด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ คือ การดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพและ
การใช้งานของเครื่องมือต้นแบบ พร้อมเก็บข้อมูล Feedback ต่าง ๆ กลับมาพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3) ความสามารถด้านการพาณิชย์ คือ การดำเนินการผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมออกสู่ตลาดเพื่อการพานิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ

Learning

การเรียนรู้ หนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงานผนังภายใน โดยผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการประเมิน(Evaluation) และการนำไปปรับประยุกต์ (Apply) กับกลุ่มตลาดเป้าหมายในขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทดสอบผลิตภัณฑ์นั้น ทำให้นวัตกรได้รับข้อมูลที่สำคัญที่สามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพดีขึ้นและตอบสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายได้สูงสุด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการนี้ คือ นวัตกรได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากผลงานวิจัย และประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริงโดยมีข้อมูลผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลการทดสอบผลิตภัณฑ์มาสนับสนุนการพัฒนาปรับปรุงต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นสร้างบทเรียนการเรียนรู้และการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฉบับก่อนหน้านี้ เราได้เรียนรู้ความจำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว เนื้อหาที่ผู้เขียนได้นำเสนอฉบับนี้ คือ IQUAL MODEL – การพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมในองค์การได้ต่อไป

ในนามของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ( MIRED ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรายินดีให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมในองค์การสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ท้ายสุดนี้ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรค และก้าวข้ามวิกฤตในยุคความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ด้วยนะคะ