ที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติ
เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีการค้าระหว่างประเทศ มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้รวดเร็ว ประชาชนสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวก มีการลงทุนในทรัพย์สินต่างประเทศ ทั้งในตลาดตราสารหนี้ ตลาดทุน หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นกว่าเดิม มีการเคลื่อนย้ายของพลเมืองไปตั้งรกรากถิ่นฐานหรือไปใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณในประเทศอื่น จนไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นพลเมืองของประเทศอื่นๆเดินทางมาท่องเที่ยวระยะสั้น ระยะยาว หรืออยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย รวมทั้งมีการสมรสระหว่างคนไทยและคนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไป ชาวต่างชาติ (ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต่างชาติ) ในประเทศไทย สามารถมีสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ได้ 2 รูปแบบ คือ การถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) และ การถือสิทธิการเช่าระยะยาว (Leasehold)
การถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ของชาวต่างชาติ สามารถกระทำได้ในกรณีห้องชุดคอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัยในส่วนซึ่งไม่ใช่ที่ดิน ตราบเท่าที่เมื่อรวมกันแล้วชาวต่างชาติมิได้ถือครองกรรมสิทธิ์เกินกว่าร้อยละ 49 ของพื้นที่ขายทั้งหมดของห้องชุดคอนโดมิเนียมในอาคารนั้น
ชาวต่างชาติและนิติบุคคลชาวต่างชาติ ไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในที่ดินได้ เว้นแต่จะได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรการหรือกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
ส่วนการถือสิทธิการเช่าระยะยาว มีระยะเวลาการเช่ายาวที่สุดไม่เกิน 30 ปี ทั้งนี้ ในการขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยให้ชาวต่างชาตินั้น โดยมีการนำเสนอว่าผู้ซื้อชาวต่างชาติสามารถต่อสิทธิการเช่าระยะยาว หรือ Leasehold ได้อีก 2 ครั้ง หรือรวมกันเป็นระยะเวลานานถึง 90 ปี
การดำเนินนโยบาย และการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ มักมีเหตุผลและแนวคิดเกี่ยวโยงกับเรื่องชาตินิยม อุดมการณ์ทางการเมือง ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะด้าน การเปิดประเทศ และการสร้างเสถียรภาพของตลาดในระยะยาว ทำให้นโยบายการให้สิทธิครอบครองทรัพย์สินของชาวต่างชาติของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่รัฐบาลมีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายได้รวดเร็ว เช่น จีน สิงคโปร์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง อาจสามารถดำเนินการให้กฎเกณฑ์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วไปตามสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจในขณะนั้น เช่น หากดูเหมือนราคาที่อยู่อาศัยกำลังปรับสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านธรรมดาไม่มีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ รัฐบาลอาจยกระดับความเข้มงวดในการควบคุม แต่ในทางตรงข้าม หากดูเหมือนตลาดที่อยู่อาศัยจะตกต่ำ รัฐบาลอาจผ่อนคลายความเข้มงวด
ในประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งมีพื้นที่ดินค่อนข้างมากเมื่อเทียบจำนวนประชากร มักเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยพร้อมที่ดินได้แต่ในประเทศแถบเอเชีย รัฐบาลมักหลีกเลี่ยงไม่ให้สิทธิการครอบครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบซึ่งรวมพื้นที่ดิน (Landed Properties) แก่ชาวต่างชาติ แต่ยินดีให้สิทธิการครอบครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดคอนโดมิเนียม ตราบเท่าที่ไม่มีพื้นที่ดินติดไปด้วย
สำหรับสิทธิการเช่าระยะยาวนั้นปรากฏในแทบทุกประเทศด้วยระยะเวลาการให้สิทธิแตกต่างกันไป ในประเทศมาเลเซียรัฐบาลจัดให้มีโครงการ Make Malaysia Tour Second Home (MM2H) มีข้อกำหนดปลีกย่อยเกี่ยวกับการนำเงินเข้าประเทศและการดำรงเงินฝากในสถาบันการเงินในมาเลเซียเพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติไปใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ แต่ในบางประเทศก็มิได้ให้สิทธิการครอบครองที่อยู่อาศัยแก่ชาวต่างชาติมากไปกว่าที่ประเทศไทยให้
ปัจจุบัน มีแนวโน้มชาวต่างชาติสูงอายุนิยมเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีก เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อจริง ชาวต่างชาติที่มีความประสงค์จะซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย สามารถแบ่งได้ตามคุณลักษณะหลายด้าน ชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย อาจช่วยนำเงินตราเข้าประเทศหรือก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่อยู่อาศัย ค่าจ้างดูแลบ้าน ทำความสะอาด ทำครัว ดูแลสวน ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่ารถ ค่าเดินทาง เกิดการจ้างแรงงาน อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมประเทศไทยอาจจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป แต่ทั้งนี้ การดำเนินการควรเป็นไปด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพกว้างเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
______________
สัมมา คีตสิน
กรรมการ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์