"ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง" ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง ห้ามการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งการปิดแคมป์ก่อสร้าง 30 วันและ "หยุดก่อสร้าง" นั้นส่งผลกระทบกับธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว

            3 สมาคมธุรกิจอสังหาฯ ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้เปิดวงเสวนาเพื่อพูดคุยถึงปัญหาและทางออกของคำสั่ง "ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง" ครั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” จากการเป็นคลัสเตอร์ แพร่ระบาดเชื้อโควิด19 อย่างหนัก ทำให้งานก่อสร้างภาพรวม ไม่สามารดำเนินการได้ กระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งโครงการบ้านจัดสรร และ คอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 

            นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เผยว่า การปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน มีผลกระทบมากขึ้น จากปัจจุบันที่การขายที่อยู่อาศัยก็ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ยิ่งปิดแคมป์มูลค่าความเสียหายยิ่งมากขึ้น และยังไม่มีความแน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายระยะเวลาเพิ่มอีกหรือไม่ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่มีแผนกำหนดสร้างเสร็จและเตรียมโอนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อาจจะต้องเลื่อนการโอนออกไปบางโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ไป พร้อมกับยังต้องแบกรับต้นทุนการก่อสร้างที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น จากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง และความเสี่ยงในการที่ลูกค้าจะเรียกค่าปรับเมื่อส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด หรือการที่ลูกค้าจะขอยกเลิกการจองและขอเงินคืน

"รอบนี้ก็กอดคอกันลงทั้งอุตสาหกรรมจากมาตรการที่ออกมา ทำให้งานก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงักทันที ก็อยากให้มาตรการที่ออกมาควรเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการเราพร้อมสร้างความมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาด"

โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง เข้าหารือกับกรมอนามัย เพื่อศึกษา - วางมาตรการในส่วนของเอกชน สำหรับการดูแลแคมป์ต่างๆ กรณีได้กลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อให้รัฐมั่นใจ  และผ่อนปรนมาตรการบางส่วนให้  เช่น ให้สามารถทำการก่อสร้าง ตรวจเก็บงานได้ โดยจะเป็นแนวทางควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” ของรัฐฯ แต่ก็มีความกังวล หากผู้ติดเชื้อยังสูงเกิน 5 พันรายต่อวัน อาจมีความเสี่ยง ไม่ได้รับการผ่อนปรน

ซึ่งพวกเราเป็นคนที่เข้าใจพฤติกรรมคนงานในแคมป์มากที่สุด จะให้รอวัคซีนมาฉีดในแคมป์ก็คงรอไม่ได้ เพราะวัคซีนตอนนี้ยังมีไม่พอฉีดให้กับประชาชน เราเลยจะหาแนวทางในการเสนอภาครัฐโดยที่เราพร้อมที่จะร่วมมือในการป้องกันแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน

 

            ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์  นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า คำสั่ง "ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง" เป็นเรื่องช็อกของธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการทุกรายยังคิดไม่ตก ว่าจะปรับตัวกับวิกฤติอย่างไร  และผลกระทบคงมหาศาล เพราะการหยุดก่อสร้าง ไม่ว่าจะ 15 วัน , 30 วัน หรือมากกว่านั้น เกิดความเสียหายไปทั้งระบบ หากประเมิน ธุรกิจอสังหาฯทั้งระบบต่อปี จะมีเม็ดเงินเฉลี่ยอยู่ที่ราว 9 แสนล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายเดือน 1 เดือน ที่หยุดไป จะมีมูลค่าที่สูญเสียไปราว 7-8 หมื่นล้านบาท  ผลพ่วงเกิดขึ้นตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ไปยันปลายน้ำ  โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง - ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มากมาย 

“ผลกระทบจากงานก่อสร้างที่หยุดชะงักยังทำให้การโอนโครงการที่ต้องส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าอาจต้องมีการเลื่อนออกไป ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยงจากลูกค้าที่จะอาจใช้เป็นข้ออ้างขอยกเลิกและขอคืนเงิน หรือจะต้องเสียค่าปรับให้กับลูกค้าจากการส่งมอบโครงการล่าช้าออกไป ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก”

ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอต่อภาครัฐให้ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยใช้เป็นการควบคุมเฉพาะจุด เพื่อให้การก่อสร้างในภาพรวมยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น คัดแยกคนงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากกลุ่มแรงงานที่ไม่ติดเชื้อ พร้อมกับจัดสรรวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มแรงงานในแคมป์เป็นการเร่งด่วน คู่ขนานกับการตรวจเชื้อ ถือเป็นความยุติธรรม ที่ต้องดับไฟที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาภายหน้าต่อไป

ทั้งนี้โครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้รับผลกระทบแน่ๆ  การสำรองเรื่องสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องมีการชำระหนี้ ชำระดอกเบี้ย และเริ่มมีความกังวลกันแล้ว เพราะขณะนี้ธุรกิจอสังหาฯกำลังถูกจับตามองจากสถาบันการเงิน ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เสี่ยง มีความอ่อนแอ 

นอกจากนี้ในส่วนของงานก่อสร้างบางส่วนที่ใช้ระยะเวลาสั้น 1-3 วัน และใช้คนงานไม่มากเพียง 1-3 เช่น การเก็บงาน Defect ให้กับลูกค้าเพื่อเตรียมส่งมอบนั้น อยากให้ทางภาครัฐมีการพิจารณาให้สามารถดำเนินการได้ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งมอบห้องหรือบ้านให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด และทำให้ผู้ประกอบการยังมีรายได้เข้ามา

 

          ทางด้าน นายวสันต์  เคียงศิริ  นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การปิดแคมป์คนงาน 1 เดือนส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับ ซึ่งหากประเมินมูลค่าความเสียหายเพาะจากต้นทุนที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างโครงการทั้งหมดที่หยุดไป 1 เดือนก็น่าจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท/เดือน แต่ถ้าปิดมากกว่า 1 เดือนก็มีโอกาสมากขึ้นกว่านี้ ดังนั้นมาตรการชดเชยของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดถือว่ายังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การก่อสร้างทุกอย่างหยุดชะงักในช่วงระยะเวลา 1 เดือนได้

ส่วนที่จะตรวจรับบ้าน ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะมาตรการที่ออกมาคลุมหมดทุกเรื่อง  เรามองระยะสั้น ผลกระทบเยอะมาก และอยากให้ผ่อนปรน ในแคมป์ที่ไม่มีการติดเชื้อ และสำหรับแคมป์ที่อยู่ในไซส์ก่อสร้าง ให้ทำงานต่อได้ โดยไม่ต้องเยียวยา และกระทบภาษีประชาชน ความเสียหายก็จะลดลง

        ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงาน ผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐ โดยไม่ต้องมีการสั่งปิดแคมป์คนงาน ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการและภาครัฐร่วมมือกันจะทำให้ความเสียหายเกิดน้อยที่สุด และช่วยภาครัฐในการประหยัดงบประมาณในการนำมาชดเชยและเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้าง

            อย่างไรก็ตามทาง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ จะมีการหารือกันเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงาน เพื่อเสนอต่อภาครัฐในการผ่อนคลายมาตรการลง โดยที่ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ทุกรายพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด และทำให้งานก่อสร้างยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้ประกอบการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบไม่มากจนเกินไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้