การกินอาหารให้เป็นยาและโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย ศาสตร์แห่งความสุขจากการสร้างเสริมสุขภาพจากระดับเซลล์สู่วิถีชีวิตแบบไทยๆอย่างยั่งยืน
โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับ โควิค 19 ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจบลงอย่างไรหรือรูปแบบของการปรับตัวที่ลงตัวจะเป็นอย่างไร การดำรงชีวิตที่พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับช่วงเวลาแบบนี้ บทความในตอนนี้จึงพยายามรวบรวมงานวิจัยที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้ให้ได้วิถีชีวิตแบบไทยๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยคำว่ากินอาหารให้เป็นยาอาจจะเป็นคำที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งแล้ว แต่ในมุมมองของผู้เขียนอาจจะมองในมุมที่แตกต่างออกไป โดยเริ่มต้นจากคำว่า “อาหาร” ก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เรากินหรือบริโภคผ่านทางปากเท่านั้น ในที่นี้จะหมายถึงทุกๆสิ่งที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมก็นับว่าเป็นอาหารด้วย เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนคำว่า “ยา” ในที่นี้ ผู้เขียนก็จะหมายถึงสิ่งที่มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ในด้านการป้องกันโรคและรักษาโรคด้วยในขณะเดียวกัน นอกจากนี้หัวข้อโภชนาการของผู้สูงวัย ผู้เขียนก็พยายามจะนำเสนอสิ่งที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิชาการของท่านอื่นๆ โดยพยายามเลือกคำแนะนำที่เน้นธรรมชาติและไม่มีต้นทุนพิเศษในการหามาบริโภค ทั้งนี้จึงได้กำหนดเป็นสมมุติฐานการนำเสนอของบทความตอนนี้ไว้ 3 หัวข้อหลักๆ คือ
สมมุติฐาน 3 ประการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบยั่งยืน
- การรักษาคนให้หายป่วยเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ทำให้คนไม่ป่วยเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากบทความในตอนที่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนมีความเชื่อเป็นการส่วนตัว ว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแนวทางการดูแลสุขภาพมาในแนวทางนี้เพราะการกลายพันธ์ของเชื้อโรคต่างๆจะรวดเร็วมากจนกระทั่งไม่คุ้มค่ากับการที่ต้องไปไล่จับเชื้อไวรัสทุกๆตัว แต่จะมาเน้นเรื่องการสร้างภูมิต้านทานภายในแต่ละบุคคลให้มากขึ้น อาจจะมีจุดเสี่ยงบ้างพื้นที่เท่านั้นที่ต้องการควบคุมและป้องกันเชิงรักษาอย่างจริงจังเพราะทุกคนเชื่อและเข้าใจคำพูดของ Antoine Bechamp ที่พูดไว้ว่าภูมิต้านทานที่อ่อนแอคือสาเหตุของการเกิดโรค ดังนั้นการสร้างภูมิต้านทานภายในของตัวเองให้แข็งแรงคือการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่ดีที่สุด
- ความชราไม่ใช้ธรรมชาติสามารถชะลอได้ สังคมของชาวพุทธเราเชื่อในวงจรของเกิดแก่เจ็บตาย ว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกๆคนต้องเผชิญ อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งต่างๆเหล่านี้เราอาจจะไม่ถึงกับขัดขืนแต่สามารถทำให้กระบวนการต่างๆช้าลงได้ หลักการโดยทั่วๆไปพวกเราจะนับอายุและกำหนดเกณฑ์การชราตามเวลาในปฏิทิน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ยังมีการกำหนดอายุทางชีวภาพ ซึ่งจะแบ่งตามสมรรถนะของอวัยวะแต่ละส่วนแยกกันออกไป โดยอายุทางชีวภาพของอวัยวะจะแตกต่างกันไปตามการดูแลรักษาและใช้งาน ซึ่งเกณฑ์ในการแบ่งดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดเกณฑ์กลางของสมรรถนะในแต่ช่วงอายุไว้แล้ว อายุทางชีวภาพจึงเป็นเสมือนค่าเปรียบเทียบที่แสดงถึงการดูแลรักษาสุขภาพ นอกจากนี้แล้วในแต่ละเซลล์ของอวัยวะต่างๆก็จะมีอายุเฉลี่ยที่แตกต่างกันไปอีกด้วยดังเช่น
- เซลล์ผิวหนังมีอายุ 1 เดือน
- เซลล์เม็ดเลือดแดงอายุ 120 วัน
- เซลล์เยื่อบุกระเพาะมีอายุ 5 วัน
- เซลล์ตับมีอายุ 6 สัปดาห์
- เซลล์กระดูกมีอายุ 3 เดือน เป็นต้น
โดยที่ภายในภายใน 2 ปี 98% ของอะตอมในร่างกายจะเป็นของใหม่ จึงมีผลทำให้ในแต่ละคนก็จะมีสมรรถนะของอวัยวะที่แตกต่างๆกันไปด้วย ซึ่งทางนักวิชาการก็ได้เอาความแตกต่างเหล่านี้ประเมินออกมาเป็นอายุชีวภาพของอวัยวะในแต่ละคน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าอายุตามปฏิทินก็เป็นไปได้ แล้วแต่การดูแลรักษาของแต่ละบุคคล ส่วนการนับอายุทางจิตวิทยาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและความคิด ซึ่งนักจิตวิทยาก็จะมีเกณฑ์ในการประเมินที่เป็นมาตรฐาน
- ตัวเราเองคือหมอที่ดีที่สุด โลกปัจจุบันข้อมูลความรู้วิชาการทางการแพทย์ วิธีการรักษาและส่งเสริมสุขภาพมีอยู่มากมาย สามารถดึงมาดูได้ตลอดเวลามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นบุคคลแรกในการตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการไหนในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น ”ตัวเราเองคือหมอที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้สุดแสนจะวิเศษคนนี้”
ด้วยสมมุติฐานทั้งสามข้อนี้ ผู้เขียนอยากจะใช้เป็นกรอบความคิดในการขยายความหมายของคำว่า “ การกินอาหารเป็นยาและโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย” เพื่อให้ผู้อ่านได้เอามุมมองความคิดที่นำเสนอไปปรับใช้ในบริบทที่เหมาะสมของตัวเองต่อไป
ข้อควรรู้สำหรับร่างกายของมนุษย์กับวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของสิ่งมีชีวิต
ด้วยเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยทำให้เราได้ค้นพบความเป็นจริงเกี่ยวกับพวกเราที่เป็นสายพันธ์โฮโมซาเปียน ในมุมมองที่แตกต่างจากเดิมมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของวิวัฒนาการในระดับของเซลล์ ซึ่งการค้นพบความจริงในสิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงไม่เกิน 20 ปี ที่ผ่านมานี้เอง โดยเราพบว่ามนุษย์ของเราโดยทั่วไปจะมีเซลล์โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 110 ล้านล้านเซลล์ โดยเป็นเซลล์ของมนุษย์เราเองแค่ 10 ล้านล้านเซลล์เท่านั้น ที่เหลือเป็นเซลล์ของจุลินทรีย์หรือที่เรียกกันว่า “Microbiome” ซึ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือกลุ่มของจุลินทรีย์เหล่านั้นเป็นผู้ผลิตสารเคมีที่ใช้เป็นภูมิต้านทานของเรา ซึ่งประมาณกันว่าน่าจะมากกว่า 40% ขึ้นไป ความรู้ในส่วนนี้จึงนำไปสู่หลักการบริโภคอาหารที่ถูกต้องโดยจะใช้คำว่า “You are what you eat” ต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า “You are what your microbiome eat” จึงจะถูกต้องเพราะจำนวนเซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายเราไม่ใช้ของเราเราอีกต่อไปแล้ว การบริโภคในครั้งต่อๆไปของเราจึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
ซึ่งเมื่อทำความเข้าใจเชิงลึกลงไปอีก ก็ทำให้เข้าใจว่าเราไม่อยู่อย่างโดดเดียวบนโลกใบนี้ ในตัวเรามีสายพันธ์อื่นๆที่แฝงตัวอยู่ในตัวเราอีกมากมาย การเข้าใจพฤติกรรมหรือธรรมชาติของสิ่งที่อยู่ร่วมกับเราจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น เราอาจจะถูกสอนหลักโภชนาการ 5 หมู่เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตัวเราเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องถูกเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่อยู่ในตัวเราไม่ได้ต้องการอาหารแบบนั้น โดยจุลินทรีย์ในตัวเราจะชอบอาหารที่มาจากธรรมชาติเป็นผักผลไม้ที่มีกากอาหารสูงๆ ส่วนของแสลงคือกลุ่มพวกน้ำตาลสารเคมีของทอดหรืออาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูงๆเป็นต้น ซึ่งถ้าเราจะฝืนกินของแสลงต่างๆเหล่านี้เซลล์ในร่างกายของเราก็จะต่อต้านโดยการเปลี่ยนจากเซลล์ปกติเป็นเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวไม่สิ้นสุดเป็นต้น ส่วนเพื่อนแท้อีกกลุ่มหนึ่งก็คือไมโตคอนเดรีย ซึ่งอาหารที่ต้องการก็คือออกซิเจนซึ่งได้มาจากการออกกำลังกายเป็นต้น
ไมโตคอนเดรียได้เข้ามาอยู่ในร่างกายของพวกเราตั้งแต่แรกเริ่มของกลายจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและกลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ตามทฤษฏี Endosymbiosis โดยอยู่ร่วมกันในภาวะอาศัยแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยหน้าที่ของไมโตคอนเดรียคือการเปลี่ยนสารอาหารที่เราบริโภคเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน โดยมีออกซิเจนเป็นเสมือนสารตั้งต้นของกระบวนการเผาผลาญสารอาหารหรือกระบวนการสร้างพลังงานของเซลล์ ดังนั้นออกซิเจนจึงมีความสำคัญโดยตรงกับร่างกายของเราในระดับเซลล์
สิ่งที่ควรรู้อีกประการคือเรื่องของบทบาทและหน้าที่ของจุลินทรีย์ในด้านของการเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ทั้งหมด จากภาวะการอยู่อาศัยร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยทำให้จุลินทรีย์มีกระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี การอยู่ร่วมของจุลินทรีย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทำให้กลายเป็นกลไกสำคัญของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์กลายเป็นกลไกในการควบคุมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับสิ่งมีชีวิต ถ้ามีความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์สูงก็จะทำให้จุลินทรีย์กลุ่มนั้นสามารถควบคุมจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคไม่สามารถแพร่ระบาดจนเกิดเป็นโทษกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ นอกจากนี้กลไกการเปลี่ยนถ่ายของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่เดิมก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เราจึงไม่สามารถละเลยวงจรความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีจุลินทรีย์เป็นตัวเชื่อมนี้เพราะสุขภาพของจุลินทรีย์ก็จะเกิดการถ่ายทอดจากสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธ์นี้ไปด้วย การประเมินและดูแลสุขภาพที่แท้จริงจึงต้องคำนึงถึงสุขภาพที่เป็นองค์รวม (One health) ประกอบไปด้วย ดังตัวอย่างในรูปด้านล่างที่แสดงให้เห็นว่าสุขภาพที่แข็งแรงเริ่มต้นจากดินที่ดี ซึ่งเป็นวงจรของเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กันโดยตรง
การค้นพบเกี่ยวกับอาหารเป็นยาและการชะลอวัย
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 ที่มีการประกาศการค้นพบพิมพ์เขียวดีเอ็นเอของมนุษย์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานในระดับเซลล์ก็ได้มีการนำเสนอออกมากันอย่างมากมาย โดยผลงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองเรื่องศาสตร์ของการดูแลสุขภาพและการชะลอวัยคือ Prof.Yoshinori Ohsumi ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิลในปี 2016 สาขาชีวฟิสิกส์และการแพทย์ ด้วยผลงานในการอธิบายกลไกการกลืนกินตัวเองของเซลล์หรือที่เรียกว่า Autophagy โดย Prof.Yoshinori อธิบายว่าธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปจะมีความสมดุลของกระบวนการสร้างและทำลาย ซึ่งกระบวนการที่รักษาสมดุลที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนี้เรียกว่า Homeostasis ซึ่งเป็นการรักษาภาวะสมดุลทั้งในระดับเซลล์และร่างกายของทุกสิ่งมีชีวิต โดยองค์ความรู้ก่อนน่านี้เราจะเข้าใจกลไกการสร้างและสลายสารอาหารที่เราบริโภคกันเป็นส่วนใหญ่ แต่การค้นพบกลไกที่เซลล์มีกระบวนการกำจัดเซลล์ที่หมดอายุแล้วเอามาใช้ใหม่นั้นถือได้ว่าเป็นความยิ่งใหญ่ทางวิชาการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรักษาและดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง
กระบวนการ Autophagy (การกลืนกินตัวเองของเซลล์) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อระบบการรักษาสมดุลและการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกๆส่วนของร่างกาย เปรียบเสมือนกับทีมงานที่ทำหน้าที่ดูแลความสะอาดและกำจัดขยะของร่างกาย ถ้ามีเซลล์ส่วนไหนของร่างกายที่หมดอายุหรือผิดปกติอย่างเช่นเซลล์มะเร็งกลไกนี้ก็จะเข้าทำหน้าที่ในการกำจัดออกนอกร่างกาย โดยชิ้นส่วนที่ถูกกำจัดแล้วถ้ามีส่วนไหนสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะมีการนำชิ้นส่วนนั้นมาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจากรูปก็จะเห็นได้ว่ากระบวนการ Autophagy นี้เกี่ยวข้องทั้งผู้สูงอายุและหนุ่มสาววัยรุ่นทั่วไป เพื่อให้เกิดกระบวนการเริ่มต้นการดูแลสุขภาพจากระดับเซลล์เราจึงต้องหาหนทางที่จะเป็นการสนับสนุนการทำงานของกระบวนการนี้ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดไป
โดยที่ทาง Prof. Yoshinori ก็ได้ให้คำแนะนำในการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการ Autophagy ไว้ 4 ประการคือ การออกกำลัง การกินอาหารคีโตจินิค การอดอาหารและการนอนหลับ ซึ่งในที่นี้ทางผู้เขียนได้นำแนวทางดังกล่าวมาปรับปรุงและเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของคนไทย โดยเฉพาะสถานะการณ์ของโควิค 19 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวนี้เป็นหนทางที่จะทำให้เกิดภูมิต้านทานภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องรอวัคซีนเราก็สามารถสร้างภูมิต้านทานด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุด
นอกจากการค้นพบของ Prof.Yoshinori แล้ว ยังมีอีกท่านคือ David SinClair Ph.D. ผู้เขียนหนังสือ Lifespan : Why we age and Why We don’t have to ที่มีการทดลองเพื่ออธิบายกลไกของการแก่ชราในระดับเซลล์ โดยสามารถมีการทดลองเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างยีนส์ชราหรือเซอร์ทูอิน (Sirtuins) กับ NAD+ โดยเซอร์ทูเป็นยีนส์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาที่ทำให้ร่างกายหิวหรืออดอาหาร ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นปริมาณเซอร์ทูอินจะลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งการค้นพบที่สำคัญก็คือปริมาณเซอร์ทูอินนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ NAD+,NM&NMN ในร่างกาย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือสารในกลุ่มของ NAD+ นี้มีอยู่ในอาหารโดยทั่วไปของคนไทย
จากรูปจะเห็นได้ว่าสารอาหารตั้งต้นของการเพิ่มสารชะลอวัยมีอยู่ในอาหารที่พวกเราบริโภคกันเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการบริโภคอาหารตามหลักการของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านให้ความเห็นตรงกันว่าต้องทำควบคู่การการอดอาหารเป็นช่วงๆ เพื่อให้เซอร์ทูอินแสดงผลได้อย่างเต็มที่
นอกจากในเรื่องประเภทของอาหารเพื่อกระตุ้น NAD+กับเซอร์ทูอินแล้ว จะขอแนะนำเรื่องการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์กับจุลินทรีย์ในร่างกายของเราด้วย ซึ่งก็คืออาหารประเภทพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มของผักและผลไม้ที่มีกากอาหารสูงและน้ำตาลต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มผักในครัวเรือนของคนไทยโดยทั่วไปเช่นกระเทียม หัวหอมหอมหัวใหญ่หน่อไม้ฝรั่งแอปเปิ่ลและอื่นๆอีกมากมาย โดยหลักการกินอาหารที่ถูกต้องต้องทำควบคู่ไปกับการกับการอดอาหารเพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักผ่อนและกำจัดสารอาหารส่วนเกิน โดยกิจกรรมที่ส่งเสริมการกำจัดของเสียส่วนเกินตามหลักการ Autophagy คือการออกกำลังกายและการนอนหลับนั้นเอง
โดยทั่วไปการออกกำลังกายสามารถทำได้หลากหลายวิธีตามความสะดวกของพื้นที่และเวลา อย่างในช่วงเวลาการการทำงานอยู่กับบ้านช่วงนี้การออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เช่น โยคะ การยืดหยุ่น การรักษาสมดุลหรือฟิตเนสภายในบ้านก็สามารถทำได้ เพียงแค่ควรทำให้สม่ำเสมอเพื่อฝึกให้ร่างกายเคยชินกับระบบเผาผลาญที่เกิดขึ้น โดยกิจกรรมที่ต้องทำคู่กับการออกกำลังกายก็คือการพักผ่อนนอนหลับ
โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมของการนอนหลับมากที่สุดคือเวลา 22.00-02.00 น. เพราะช่วงเวลาดังกล่าวร่างกายจะผลิตเมลาโทนินสูงที่สุด โดยเมลาโทนินตัวนี้จะมีผลตัวสุขภาพของไมโตคอนเดรียโดยตรง ซึ่งมีผลต่อการลดความเครียด ลดการชะลอวัย การเสื่อมของอวัยวะและลดอาการปวดเมื่อยของร่างกายได้ อย่างไรก็แล้วแต่การนอนหลับนี้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้และเข้าใจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่การนอนหลับที่มีคุณภาพที่แท้จริงเป็นเรื่องที่ยากในการปฏิบัติ โดยคำแนะนำที่อยากจะเสนอง่ายๆสำหรับกิจกรรมการนอนหลับก็คือการทำกิจกรรมนี้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายกับการอดอาหาร ซึ่งคงต้องใช้เวลาและฝึกฝนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งกลายเป็นสุขนิสัย ซึ่งถ้าทำได้ครบทุกกิจกรรมที่เสนอมาทั้งในเรื่องการเรื่องประเภทอาหารพรีและโปรไบโอติก การอดอาหาร การออกกำลังกายและพักผ่อนนอนหลับอย่างมีคุณภาพอย่างน้อยภายใน 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน จะเห็นความแตกต่างของร่างกายในด้านที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
บทสรุปการกินอาหารเป็นยาและโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย
จากเนื้อหาที่ได้นำเสนอไปทั้งหมด ผู้เขียนมีเจตนาที่อยากจะเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกๆท่าน มีมุมมองเกี่ยวกับคำว่าอาหารในอีกมิติหนึ่ง ที่เข้าใจความหมายของคำอาหารไม่ใช้สิ่งบริโภคผ่านทางปากเท่านั้น เพราะองค์ประกอบของร่างกายที่แท้จริงไม่ใช้เพียงแค่ร่างกายทางกายภาพที่มองเห็นกันอยู่ทั่วๆไป ความเป็นตัวตนของคนยังประกอบไปด้วยความคิดที่มาจากสมอง อารมณ์ความรู้สึกและจิตใจหรือจิตวิญญาณ ที่องค์ประกอบในส่วนต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลถึงสุขภาพโดยตรงได้ทั้งสิ้น เพียงแค่ว่าวิทยาการของโลกแห่งวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดไว้ หลายๆเรื่องแห่งการค้นพบจึงยังไม่แพร่หลาย ทั้งๆที่ปัจจุบันมีการพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆเหล่านี้แล้วก็ตาม อย่างไรก็แล้วแต่หลักเกณฑ์ในการบริโภคอาหารทางความคิด อารมณ์และจิตใจนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการคัดกรองและคัดเลือกสิ่งที่จะเข้ามาสู่ตัวเราเหมือนกัน เนื่องจากการคัดกรองคุณค่าทางโภชนาการขององค์ประกอบทั้งสามสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยาก ละเอียดและลึกซึ้ง ไม่สามารถใช้คำพูดทั่วๆไปมาตีความได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้เพราะว่าคำว่าความรู้ (Knowledge) สำหรับเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ต้องเข้าถึงคำว่าการรู้ (Knowing) ผู้เขียนจึงขอแนะนำหนังสือสองเล่มที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้อ่านเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ โดยหนังสือสมองแห่งพุทธะและหัวใจใหม่ชีวิตใหม่นี้ ได้มีการอธิบายถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของร่างกายทั้งสี่ด้านได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยหนังสือสมองแห่งพุทธะเป็นหนังสือที่อธิบายความเชื่อมโยงของกลไกการรับรู้ของร่างกายแล้วนำไปสู่ทำงานของสมอง แล้วความคิดที่เกิดจากการทำหน้าที่ของสมองนำไปสู่การปลดปล่อยฮอร์โมน โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้มีกระบวนการติดตามและศึกษาผ่านเครื่องมือที่ทันสมัย จนทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของร่างกายว่ามีการทำงานที่เป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน การกรองอาหารที่เข้าสู่องค์ประกอบทั้งสี่ด้านจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญในการกำหนดความแข็งแรงของสุขภาพ ส่วนหนังสือหัวใจใหม่ชีวิตใหม่จะอธิบายกลไกการรับรู้ของร่างกายแล้วนำไปสู่การปลดปล่อยฮอร์โมนของร่างกาย นอกจากนี้ในหนังสือยังได้แนะนำวิธีการลดความเครียดด้วยวิธีการต่างๆมากมายและยังเป็นการเพิ่มพลังงานและฮอร์โมนเชิงบวกอีกทางด้วยครับ
เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติง่ายๆ ผู้เขียนจึงได้สรุปเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆไว้ 10 ประการดังนี้
หัวใจของหลักปฏิบัติที่ได้นำเสนอในครั้งนี้คือข้อที่ 10 เรื่องการหมั่นตรวจสอบสัญญาณชีพและสมรรถนะของร่างกายเป็นประจำ เพราะด้วยกรอบแนวคิดที่ว่า “ตัวเราเองคือหมอที่ดีที่สุดในโลก” การหมั่นตรวจสอบผลของการปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 9 ข้อ ด้วยตนเองก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเห็นผลดีหรือผลเสียจากการหมั่นตรวจสอบสิ่งๆต่างๆที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดความตระหนักในการให้ความสำคัญของสุขภาพได้อย่างแท้จริง จึงหวังว่าสิ่งต่างๆที่ได้นำเสนอในบทความตอนนี้จะได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความตระหนกตื่นกลัวที่สังคมกำลังยัดเยียดให้กับพวกเราทุกๆคนเป็นความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพอย่างเข้าอกเข้าใจเข้าถึงแล้วตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วนำไปสู่การบอกต่อๆหรือเผยแพร่ความรู้ให้คนอื่นๆต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า “ตัวเราเองนี้แหละ คือหมอที่ดีที่สุดในโลก”