จับตาญี่ปุ่นขยายการลงทุนด้านพลังงานในอาเซียน
การประชุมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระหว่างประเทศญี่ปุ่น และ รัฐมนตรีด้านพลังงานของประเทศจากกลุ่มอาเซียน ได้ข้อสรุปถึงการลงทุนจำนวน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนแผนงาน ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation (APAEC) ในเฟสที่สอง ระหว่างปี 2021 – 2025 เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมพลังงานในกลุมประเทศอาเซียนที่มีประชากรรวมกันถึงมากกว่า 655 ล้านคน และมีการเข้าถึงไฟฟ้าถึง 89% ของประชากร
ที่มา Asean Center for Energy (aeds.aseanergy.org)
โดยเนื้อหาของการประชุมนั้น มุ่งเน้นที่บทบาทของ ASEAN Center for Energy ที่จะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น และหารือถึงความท้าทายของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ในการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน และ ลดก๊าซคาร์บอน โดยความท้าทายต่างๆ นั้นมาจาก ความแตกต่างของสภาพภูมิศาสตร์ และ สถานการ์ณของแต่ละประเทศในอาเซียน รวมถึงการที่ในแต่ละประเทศของอาเซียนนั้นยังพึ่งพาพลังงานจาก ถ่านหิน น้ำมัน และ ก๊าซ เป็นหลัก
ที่มา Asean Center for Energy (aeds.aseanergy.org)
แผนการหลักๆ ของ APAEC ในเฟสที่สองนั้นจะให้ความสำคัญกับ การพัฒนาตลาดการแลกเปลี่ยนก๊าซ การพัฒนาพลังงานถ่านหินแบบสะอาด (Clean Coal Technology (CCT)) การกักเก็บก๊าซคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage (CCUS)) สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ช่วยเหลือการเปลี่ยนถ่ายพลังงานในประเทศอาเซียนต่างๆ และ พัฒนาความสามารถของบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนต่างๆ
ในท้ายที่สุดญี่ปุ่นได้เสนอแผน Asia Energy Transition Initiative (AETI) ซึ่งส่วนหนึ่งในแผนนี้คือแผนการให้เงินสนับสนุนจำนวน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐแก่กลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อใช้ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอาเซียน ในการประชุมระหว่างญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนั้น เราคงจะได้เห็นแนวทางและนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น