REIC ชี้ต้นปี 65 ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มฟื้นตัว ลูกค้าต่างชาติเตรียมกลับมาซื้อ รับอานิสงค์ “วีซ่าระยะยาว”
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า จากข้อมูลการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้จัดเก็บ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 มีโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาดน้อย โดยมีเพียง 18,713 หน่วย หรือลดลง 4.7% มีมูลค่ารวม 86,419 ล้านบาท หรือลดลง 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 63 ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีจำนวนรวม 194,779 หน่วย หรือลดลง 5.4% มีมูลค่ารวม 971,460 ล้านบาท หรือลดลง 6.4%
โดยมีหน่วยขายได้ใหม่ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ประมาณ 29,776 หน่วย หรือลดลง 9.1% มีมูลค่า 144,651 ล้านบาท หรือลดลง 9% ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ 165,003 หน่วย และมีมูลค่ารวมประมาณ 826,809 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 4.7% และ 5.9% ตามลำดับ
อาคารชุดเปิดขายใหม่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ ชะลอตัว มีจำนวนหน่วยลดลง 70.1%, 67.1% และ 29.1% ตามลำดับ ส่วนใน จ.นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการยังคงมีหน่วยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 82.4%, 43.1% และ 16.8% ตามลำดับ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้คาดว่า ทั้งปี 64 ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หน่วยขายได้ใหม่จะมีจำนวนประมาณ 61,993 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 292,616 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 31,999 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 173,652 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 29,994 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 118,965 ล้านบาท
ส่วนหน่วยเหลือขายปี 64 มีจำนวนประมาณ 171,283 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 836,530 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 99,744 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 516,072 ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ 71,539 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 320,458 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มปี 2565 ศูนย์ข้อมูลฯ คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนประมาณ 86,117 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 374,368 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร ประมาณ 37,792 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 202,726 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด ประมาณ 42,325 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 171,642 ล้านบาท
โดยคาดว่าช่วงครึ่งแรกปี 65 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 ถึง 95.8% และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 24.3% ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี 65 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 100.3% และเริ่มชะลอการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังปี 65 โดยจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 75,843 มูลค่ารวม 341,472 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 35,070 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 180,421 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 40,773 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 161,051 ล้านบาท
โดยตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมียอดขายดีกว่าปี 64 ราว 17.4% และครึ่งปีหลัง 65 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 26.9% มูลค่าในครึ่งแรกของปี 65 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% และขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 22.3% ในช่วงครึ่งหลังปี 65 เป็นผลมาจากการกระจายวัคซีนในประเทศทั่วถึง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวประมาณ 4%
นอกจากนี้ ปี 65 จะมีหน่วยเหลือขายในตลาดจำนวนประมาณ 161,120 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 771,953 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 92,751 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 482,778 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 68,369 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 289,175 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 65
ทั้งนี้ในวงเสวนา เรื่อง “การคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อคนไทยและชาวต่างชาติ หลังโควิด-19” นางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้มีการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพื่อระบายสต๊อกไปตั้งแต่ปี63 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานทำให้คนหันมาต้องการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯห้องที่ใหญ่ขึ้น หรือบ้านแนวราบกันมากขึ้น ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติ มองว่า การที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติให้จัดทำ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Resident Visa) มุ่งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะดีหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพำนักในไทย เพื่อดึงกำลังซื้อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะโครงการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะการขอวีซ่าพำนักจะง่ายขึ้นและอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องรายงานตัวกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน แต่การมีวีซ่าตามโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องไปรายงานตัว ขณะเดียวกันก็จะดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในประเทศตามเป้าหมายในระยะ 5 ปี (2565-2569) ตลอดระยะโครงการหวังผลดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน แต่ละคนมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าจากการลงทุนและการชำระภาษีเงินได้ที่ไทยจะได้ประโยชน์
ทางด้านนางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ลูกค้าชาวต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจอสังหาฯ ไทย โดยเฉพาะชาวจีน โดยอสังหาฯ ไทย เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนจีนในการลงทุนนอกประเทศ รองจากญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ทั้งนี้คนจีน มองว่าอสังหาฯ ไทยมีโอกาสได้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 5% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนในจีนเอง ที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น และบางกลุ่มยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไทย เพื่อหู้กหลานได้พักอาศัยในช่วงระหว่างเรียน หรือมีการหาที่อยู่อาศัยเพื่อมาสร้างธุรกิจที่ไทยด้วย โดยระดับราคาที่ชาวจีนสนใจอสังหาฯ จะอยู่ที่ ในราคามากกว่า 10 ล้านบาท สอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการให้มีกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ