• ในเดือนส.ค.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตกดดันให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตชะลอตัวลงรวมถึงไทย ทำให้การส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2564 ขยายตัวอยู่ที่ 8.93% ชะลอลงจาก 20.3% ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย ตัวเลขการส่งออกในเดือนส.ค.ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 19.43% ซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าจากตลาดโลกที่ฟื้นตัวขึ้นแข็งแกร่งต่อเนื่อง

• กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคม 2564 การส่งออกไปในประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโต 16.2% จาก 22.2% โดยสามารถขยายตัวได้ 15 เดือนต่อเนื่องกัน ด้านสหภาพยุโรป 27 (+16.1%) ขยายตัวได้ 6 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ทางฝั่งจีนแม้จะมีมาตรการปิดเมืองบางแห่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดแต่การส่งออกไปจีนยังสามารถเติบโตได้ที่ 32.3% อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปใน CLMV กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน โดยหดตัวอยู่ที่ 0.03% หลังการส่งออกไปเวียดนาม (-17.2%) กลับมาปรับตัวลดลงอย่างมากหลังเผชิญสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงจนส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดภายในประเทศ

• เมื่อพิจารณารายสินค้าพบว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from home) สินค้าที่เกี่ยวกับการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมีบางสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงาน โดยการแพร่ระบาดในกลุ่มโรงงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 320 โรงงาน จาก 24 โรงงานในเดือนพ.ค. สินค้าที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ไก่สด แช่แข็ง แช่แข็งและแปรรูป (-31.9%) อาหารทะเลสด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป (-10.4%) อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นได้ (+25.4%) ได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้ราคาข้าวปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น ด้านสินค้าสิ้นเปลืองที่มีราคาสูง เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยังขยายตัวได้สะท้อนว่ากำลังซื้อของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงคาดการณ์ส่งออกในปี 2564 ที่ 12.4% โดยมองว่าในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาคการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้ว่าภาคการส่งออกจะเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมโลหะ และอุตสาหกรรมพลาสติก แต่ในเดือนกันยายนเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับประเทศอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่เร่งตัวอย่างมาก นอกจากนี้ภาครัฐได้เข้ามาแก้ไขและดูแลปัญหาเกี่ยวกับภาคการส่งออก เช่น โครงการ Factory Sandbox และจะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่อง เช่น งานแสดงสินค้านานาชาติ เป็นต้น ด้านปัจจัยต่างประเทศเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นอัตราการเติบโตของการส่งออก 4 เดือนที่เหลือของปีจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แต่อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากช่วง 8 เดือนแรก เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำและปัจจัยการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) มีแนวโน้มคลี่คลายลง

สถานการณ์สินค้าและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย