การเติบโตของพหลฯ - ประดิพัทธ์ ปัจจุบันมีการเข้าถึงของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเพียบพร้อมทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ แต่ว่าหากพูดถึงย่านในแง่มุมเมือง การเติบโตย่อมต้องไม่ใช่แค่เชิงโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งขนาดใหญ่และธุรกิจรายย่อย รวมไปถึงความเป็นชุมชน (Community) ที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของย่านด้วย

        จากการเป็นย่านเก่าแก่ดั้งเดิมในวันเมื่อวาน ตามมาด้วยการพัฒนาและเสน่ห์อันน่าดึงดูดของทำเลในหลายมิติ ดังนั้นบทความนี้จะขอพูดถึงทำเลพหลฯ – ประดิพัทธ์ ในวันนี้ และอนาคตที่จะเป็นในวันข้างหน้า 

พหลฯ - ประดิพัทธ์ ย่านเติบโตโดดเด่นในมิติเมือง

        หากอารีย์เปรียบเหมือนทองหล่อของกรุงเทพฯฝั่งเหนือ ทำเลพหลฯ - ประดิพัทธ์ ย่านเพื่อนบ้านก็คงไม่ต่างอะไรกับเอกมัยที่เติบโตไปพร้อมๆ กับอารีย์เช่นเดียวกัน และด้วยความกลมกลืนทั้งลักษณะของย่านทำให้ในวันนี้ในสายตาของคนเมืองต่างมองว่า อารีย์ - พหลฯ – ประดิพัทธ์ คือย่านเดียวกันอย่างแยกไม่ได้ โดยเฉพาะการเกิดกลุ่ม Community ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ที่เหนียวแน่น จนทำให้ อารีย์ - พหลฯ – ประดิพัทธ์ กลายเป็น ’49 ย่านที่คูลที่สุดของโลก’ ในสายตา TimeOut

 

        แน่นอนว่าการติดโผย่านที่คูลที่สุดในสายตาสื่อระดับโลก ไม่ใช่แค่เพราะว่าย่านนี้เป็นย่านสมัยใหม่ ที่มีแต่ร้านอาหาร แกลอรีศิลปะ และคาเฟ่สวย ๆ เท่านั้น แต่ในเชิงมิติเมือง ย่านแห่งนี้ยังมีบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ การเกิดกลุ่ม Community ในรูปแบบ Social media ของคนในย่านที่เหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็น AriAround หรือ เพื่อนบ้านอารีย์ ที่เป็นการแบ่งปันความช่วยเหลือ ริเริ่มสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ และการส่งต่อข้อมูลให้ธุรกิจท้องถิ่นและคนในย่าน เพื่อให้สามารถรอดพ้นวิกฤตโควิดที่ผ่านมาไปได้ และหากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าชื่อกลุ่มนั้นไม่ได้ระบุถึงแค่ย่านอารีย์ แต่ยังมีคำว่า ‘Around’ และ ‘เพื่อนบ้าน’ ที่หมายถึงย่านโดยรอบอย่าง พหลฯ – ประดิพัทธ์ ด้วย

        ย่านแห่งนี้ยังเป็นย่านเนื้อหอมที่มีโครงการสนับสนุนความเป็นเมืองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ เดินได้-เดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาออกแบบการเดินเท้าในย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ให้สามารถเดินได้และเดินดี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองและคุณภาพชีวิตคนในย่าน

        และล่าสุด โครงการย่านนวัตกรรมอารีย์ จากความร่วมมือระหว่าง เอไอเอสและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พร้อมพันธมิตรในย่านอารีย์ - พหลฯ - สะพานควาย โครงการที่ยกระดับการพัฒนาย่านให้เป็นย่านแห่งดิจิตอลแพลตฟอร์ม ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศน์เมืองให้รอบรับวิถีชีวิตใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ “อารีย์ 2025 ก้าวสู่เมืองฉลาดรู้ ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่” ซึ่งทำให้ย่านแห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งย่านอนาคตที่น่าจับตามอง

ความหลากหลายของ Demand และการใช้ประโยชน์อาคาร

        การเติบโตของทำเลพหลฯ - ประดิพัทธ์ ไม่ได้มีแค่ในแง่ของความเป็นชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ในด้านการเป็นแหล่งงานและศูนย์รวมธุรกิจก็ยังมีความโดดเด่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายของแหล่งงานทั้งภายในและทำเลโดยรอบ ส่งผลให้พหลฯ – ประดิพัทธ์เป็นที่อยู่อาศัยของ Demand จากแหล่งงานขนาดใหญ่หลายประเภท ได้แก่ สถาบันราชการ, ออฟฟิศให้เช่า, สถาบันการแพทย์ และสำนักงานใหญ่ จำนวนรวมกว่า 120 แห่ง ได้แก่

  

สถาบันราชการ มีแหล่งงานถึง 24 แห่ง และยังเป็นสถาบันขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ บุคลากรจำนวนกว่า 39,000 คน

ออฟฟิศให้เช่า เกิดการเติบโตของอาคารสำนักงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จำนวน 50 แห่ง พื้นที่รวมกันกว่า 730,000 ตารางเมตร และยังเป็นอาคารออฟฟิศตั้งแต่เกรด B ไปจนถึงเกรด A เช่น Ari Hills, SC Tower, Pearl Bangkok ฯลฯ จำนวนบุคลากรกว่า 50,000 คน และในปี 2565 ยังจะมีออฟฟิศให้เช่าเปิดใหม่อีก 3 แห่ง ได้แก่ S Oasis, Rice Tower และ Vanit Place Area พื้นที่รวมกันประมาณ 105,000 ตารางเมตร บุคลากรใหม่ประมาณ 7,400 คน

สถาบันการแพทย์ ตั้งแต่ช่วงบริเวณสะพานควายไปจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และสถาบันการแพทย์ ถึง 32 แห่ง เช่น โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล, โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลราชวิถี ฯลฯ คาดประมาณบุคลากรทางแพทย์จำนวนกว่า 20,000 คน

สำนักงานใหญ่ จำนวนที่ตั้งของสำนักงานใหญ่โดยรอบทำเลมีจำนวน 16 แห่ง และล้วนแต่เป็นสำนักงานของบริษัทชั้นนำในประเทศ เช่น ปตท, ไทยรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, เอไอเอส, อาคเนย์ประกันภัย ฯลฯ จำนวนบุคลากรกว่า 19,000 คน

ย่านที่มีความครบครันทั้ง ‘กิน เที่ยว อยู่ ดี’

        คงไม่มีใครไม่อยากอาศัยในย่านที่ ‘น่าอยู่’ และด้วยหลายมิติที่กล่าวมา ก็พอจะสามารถบอกได้แล้วว่า ทำเลพหลฯ - ประดิพัทธ์ เป็นย่านที่ตอบโจทย์ได้อย่างครบครันทีเดียว ทั้งด้านการเป็นแหล่งงานและในด้านความเป็นชุมชน ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ พหลฯ - ประดิพัทธ์ ยังมีศักยภาพของการเป็นย่าน ‘กิน เที่ยว อยู่ ดี’ อีกด้วย 

        ประการแรกในด้านการกิน ร้านค้าและร้านอาหารในทำเล พหลฯ – ประดิพัทธ์ มีการผสมผสานระหว่างร้านอาหารดั้งเดิมและร้านสมัยใหม่ สามารถเลือกกินได้ตั้งแต่ Street food, ร้านเก่าแก่, ภัตตาคาร, อาหารนานาชาติ ไปจนถึงอาหารฟิวชั่นได้ในทำเลนี้ ทำให้พหลฯ – ประดิพัทธ์ กลายเป็นย่านผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่าง Traditional และ Pop culture ด้านการกินที่โดดเด่นอีกหนึ่งย่าน

        เช่นเดียวกับการเป็นแหล่ง ‘เที่ยว’ พหลฯ - ประดิพัทธ์ กลายเป็นทำเลปักหมุดของไลฟ์สไตลการเที่ยวในเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะสาย Cafe Hopper, Fashion Hopper, Gallery Hopper และ Hangout Hopper เพราะมีร้านค้าและสถานที่เชิงไลฟ์สไตล์จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาปักหมุดในทำเลหลายแห่ง

        ความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งไลฟ์สไตล์และอาหารการกิน ความสะดวกสบายด้านการเดินทาง และสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านคุณภาพ ด้วยหลายมิติของการเติบโตที่กล่าวมา ทำให้ พหลฯ – ประดิพัทธ์ กลายเป็นย่านที่น่าอยู่ที่สุดอีกหนึ่งย่านของกรุงเทพ ที่สะท้อนถึงความเป็นชุมชนเมืองอย่างแท้จริง

พหลฯ - ประดิพัทธ์ ทำเลที่ Supply คอนโดเริ่มหายาก

        เมื่อดูการเติบโตของคอนโดมิเนียมในโซนพหลฯ - ประดิพัทธ์ จะพบว่าปริมาณ Supply ไม่ได้หนาแน่นมากนัก แต่ละปีก็จะมี Supply ใหม่เข้ามาในทำเลเพียง 1-2 โครงการเท่านั้น หรือบางปีก็แทบจะไม่มีโครงการใหม่เข้ามาเลย ด้วยความที่ที่ดินเปล่าที่จะนำมาพัฒนาคอนโดในย่านนี้ค่อนข้างหายากแล้ว ปัจจุบันในย่านนี้มีคอนโดที่ยังเปิดขายอยู่เพียง 2 โครงการคือ  Lumpini Selected Sutthisan-Saphankwai และ RISE Phahon-Inthamara ซึ่งถูก Absorp ไปแล้วประมาณ 60% ราคาขายปัจจุบันประมาณ 120,000 บาทต่อตารางเมตร แต่หากดูภาพรวมของตลาดราคาเฉลี่ยราวๆ 150,000 บาทต่อตารางเมตร การเติบโตของราคา (Capital Gain) คอนโดในย่านพหลฯ-ประดิพัทธ์ เฉลี่ย 4-5% ราคาขายคอนโดมือสองเฉลี่ยราว 120,000 - 160,000 บาทต่อตารางเมตร ปัจจุบันการจะหาคอนโดที่ราคาต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่า 100,000 บาท เป็นไปไม่ได้แล้วในทำเลนี้

        คอนโดมิเนียมโซนพหลฯ - ประดิพัทธ์ สามารถปล่อยเช่าสร้าง Rental Yield เฉลี่ย 4.6-6.4% ต่อปี ค่าเช่าของโซนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 400-570 บาท/ตร.ม./เดือน ผลตอบแทนค่าเช่ามากน้อยตามแต่ประเภทห้อง โดยประเภท studio ค่าเช่าเฉลี่ย 10,000-13,000 บาทต่อเดือน, ประเภท 1 ห้องนอน ค่าเช่าเฉลี่ย 13,000-23,000 บาทต่อเดือน และ ประเภท 2 ห้องนอน ค่าเช่าเฉลี่ย 21,000-35,000 บาทต่อเดือน

ทำไมต้องคอนโดพหล - ประดิพัทธ์?

ทำเลที่ Supply คอนโดเริ่มหายาก

        ปัจจุบัน Supply คอนโดย่านพหล - ประดิพัทธ์เริ่มเหลือน้อยเข้าไปทุกทีเพราะที่ดินแปลงใหญ่สำหรับการพัฒนาคอนโดค่อนข้างหาได้ยากแล้ว ในขณะที่ Supply เริ่มน้อยลงแต่ Demand ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงตามศักยภาพของทำเลและความต้องการที่มีเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าราคาที่ดินอาจเพิ่มขึ้นในอนาคตทำให้ราคาคอนโดในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ราคาคอนโดที่จับต้องได้

        ถ้าอารีย์เปรียบเหมือนทองหล่อ ย่านนี้ก็คงไม่ต่างจากใจกลางสุขุมวิทที่มีการแบ่งเป็นฝั่งเลขคู่และเลขคี่ที่มีสภาพแวดล้อมและราคาต่างกัน ซึ่งสภาพแวดล้อมของพหล - ประดิพัทธ์แทบจะไม่แตกต่างจากอารีย์ ความครบครันและแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของอารีย์ - พหลฯ - ประดิพัทธ์ก็เปรียบเหมือนทองหล่อ - เอกมัย (สุขุมวิทฝั่งเลขคี่) เมื่อลองเปรียบเทียบราคาขายคอนโดฝั่งพหลฯ - ประดิพัทธ์ (สุขุมวิทเลขคี่) ราคาประมาณ 150,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนพหล-สุทธิสาร(สุขุมวิทเลขคู่) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งก็ต้องบอกว่าภาพรวมตลาดคอนโดของย่านพหลฯ - ประดิพัทธ์ในวันนี้เป็นราคาที่จับต้องได้บนทำเลระดับพรีเมียม เป็นราคาที่ต้องบอกว่าหาไม่ได้แล้วในละแวกนี้และความพิเศษของคอนโดทำเลนี้คืออยู่ในสังคมของความพรีเมียมเพราะเป็นย่านที่มีแต่แบรนด์ระดับ High-end อย่าง The Line และ The Reserve

ราคาคุ้มค่าเหมาะสำหรับคนที่มองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

      สำหรับคนที่ทำงานอยู่ในย่านนี้และกำลังมองหาที่อยู่อาศัย คอนโดย่านพหล - ประดิพัทธ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี ด้วยราคาที่คุ้มค่า จับต้องได้และเมื่อเปรียบเทียบกับการเช่า Apartment ในย่านพหล - ประดิพัทธ์ ที่มีราคาค่าเช่าตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอัตราค่าเช่าประมาณนี้สามารถผ่อนคอนโดในย่านนี้ได้เลย ก็คงจะดีกว่าหากเรามีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองทั้งคุ้มค่าในระยะยาวและเก็บไว้เป็นทรัพย์สินของตนเองได้