สร้างบ้าน เริ่มต้นอย่างไร – ต้องเตรียมงบเท่าไหร่ ?
เพราะ “บ้าน” เป็นเหมือนความฝันและความภาคภูมิใจของใครหลายคน ที่ต้องการมีโอกาสสร้างขึ้นมาสักครั้งในชีวิต แต่เชื่อว่ามีเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยยังอาจสับสนและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี หากคิดจะมีบ้านสักหลัง ไม่ว่าจะซื้อหรือสร้างเอง ซึ่งหนทางดีที่สุดเจ้าของบ้านควรต้องศึกษาข้อมูลหลาย ๆ ด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ
การจะมีบ้านสักหลัง เราสามารถพิจารณาตามเหตุผลและปัจจัยที่นำมาประกอบการตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป เพื่อเลือกใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เช่น ในกรณีที่ต้องการบ้านพร้อมอยู่อาศัยหรือรอระยะเวลาผ่อนดาวน์ได้ การเลือกซื้อบ้านจัดสรรโครงการต่าง ๆ ก็สามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ โดยเจ้าของบ้านสามารถพิจารณาจากความเหมาะสมเรื่องทำเลที่ตั้ง และ lifestyle การใช้ชีวิต ดีไซน์ของบ้าน ความเชื่อมั่นในแบรนด์ของโครงการนั้น รวมถึงต้องการได้รับความสะดวกสบายในการใช้พื้นที่ส่วนกลางของโครงการ และสุดท้ายราคาบ้านควรอยู่ในงบประมาณที่จัดเตรียมไว้ หรือไม่เกินความสามารถในการกู้ธนาคารของผู้จะกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น
ในกรณีเจ้าของบ้านมีที่ดินเปล่าอยู่แล้ว สามารถหาผู้ออกแบบหรือก่อสร้างได้หลายลักษณะ อาทิ บริษัทรับสร้างบ้านที่ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษา ออกแบบควบคุมงานก่อสร้าง จนสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งกรณีนี้จะให้ความสะดวกสบายกับเจ้าของบ้านในแง่ของการติดต่อประสานงานกับบริษัทรับสร้างบ้านเพียงผู้เดียว แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องแบบบ้านที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องดีไซน์ และการปรับแก้แบบ รวมถึงวัสดุที่ทางบริษัทมักมีมาตรฐานให้เลือกได้ตามงบประมาณและไม่สามารถปรับแก้ได้มากนัก อีกทั้งรูปแบบการก่อสร้างก็จะต้องสร้างตามความถนัดของบริษัทรับสร้างบ้านนั้น ๆ
หรือเจ้าของบ้านหลายท่านอาจเลือกว่าจ้างสถาปนิกและผู้รับเหมาเอง เพราะต้องการแบบบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านดีไซน์ ผ่านการวิเคราะห์แบบ ตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้ง ทิศทางการวางอาคารให้เหมาะสมกับทิศทางแสงแดด สายลม พฤติกรรมการใช้สอยพื้นที่ ฟังก์ชันการใช้งาน และการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลาย รวมไปถึงต้องการเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถในการก่อสร้างตามแบบสถาปนิกและความถนัดในการก่อสร้างที่ต่างกันออกไปในแต่ละเจ้า โดยกรณีนี้เจ้าของบ้านจะต้องเป็นผู้คัดสรรสถาปนิกและผู้รับเหมาที่มีคุณภาพงานที่ดี มีความรับผิดชอบ ตลอดจนต้องประสานงานด้วยตัวเอง และต้องมีระยะเวลาเผื่อสำหรับการออกแบบและก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมถึงควรกำหนดงบประมาณให้ดีไม่บานปลายอีกด้วย
สำหรับการเตรียมงบประมาณนั้น หากเลือกที่จะซื้อบ้านจากโครงการ โดยขอสินเชื่อซื้อบ้านจากธนาคารแทนการซื้อเงินสด ควรประเมินความสามารถและสภาพคล่องทางการเงินของตัวเอง รวมถึงภาระหนี้สินอื่นที่มีอยู่ เพื่อขอวงเงินกู้ที่เหมาะสม ซึ่งควรมีเงินดาวน์อย่างน้อย 10-20% ของมูลค่าบ้าน เนื่องจากธนาคารมักปล่อยสินเชื่อในอัตรา 80-90% ของมูลค่าบ้าน ซึ่งนอกจากราคาบ้านแล้วจะต้องเผื่องบสำหรับตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่จำเป็น ค่าส่วนกลาง รวมถึงค่าต่อเติมเพิ่มพื้นที่ใช้สอยหากมีแผนในอนาคตด้วย
กรณีที่จะต้องการว่าจ้างสถาปนิกออกแบบและหาผู้รับเหมาเองนั้น ค่าใช้จ่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ค่าบริการวิชาชีพสถาปนิก และ ค่าก่อสร้าง โดยในส่วนของค่าบริการวิชาชีพสถาปนิก หรือค่าจ้างสถาปนิกเพื่อออกแบบนั้น หมายรวมถึงค่าจ้างวิศวกรคำนวณโครงสร้าง งานระบบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 7.5% ของมูลค่าก่อสร้างบ้าน อ้างอิงราคามาตรฐานจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (สำหรับการออกแบบบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มูลค่าการก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท หากมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท จะมีวิธีคิดค่าบริการตามสัดส่วน) ทั้งนี้ บริษัทออกแบบหรือสถาปนิก Freelance แต่ละท่านจะอ้างอิงตามราคามาตรฐานสมาคมหรืออาจแตกต่างจากนี้ได้ตามประสบการณ์การทำงาน และความยากง่ายของงานออกแบบหรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งต้องสอบถามและศึกษารายละเอียดราคา สัญญาการทำงานกับบริษัทออกแบบ หรือสถาปนิกท่านนั้น ๆ โดยตรง
ส่วนค่าก่อสร้างบ้านนั้น ปกติจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ขึ้นอยู่กับราคาวัสดุและค่าแรงงานก่อสร้างในขณะนั้น ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถประเมินราคาค่าก่อสร้างในเบื้องต้น เพื่อเตรียมงบประมาณการก่อสร้างได้จากราคาค่าก่อสร้างต่อ ตร.ม. ของพื้นที่ใช้สอย โดยปัจจุบันอ้างอิงค่าก่อสร้างที่ประมาณ 15,000 -18,000 บาทต่อ ตร.ม. มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น สร้างบ้านใน กทม. และปริมณฑล อาจมีราคาสูงกว่าสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากค่าแรงที่แตกต่างกัน หรือแหล่งที่มาของวัสดุ ค่าขนส่งวัสดุ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น บ้านมีพื้นที่ใช้สอย 200 ตร.ม. x (15,000 -18,000) บาท = 3,000,000 - 3,600,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวนี้ จะยังไม่ใช่ราคาค่าก่อสร้างที่แท้จริง แต่ใช้สำหรับประมาณการในการเตรียมงบประมาณได้
สำหรับราคาค่าก่อสร้างที่แท้จริงนั้น เจ้าของบ้านต้องพิจารณาจากแบบก่อสร้าง และ BOQ หรือรายการแสดงปริมาณงานและราคาวัสดุก่อสร้างที่ถอดมาจากแบบก่อสร้างอย่างละเอียด โดยผู้ออกแบบ หรือผู้รับเหมารายที่เจ้าของบ้านเลือกว่าจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างให้ ทั้งนี้ นอกจากค่าว่าจ้างสถาปนิกออกแบบและค่าก่อสร้างดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าของบ้านควรเตรียมงบประมาณเผื่อสำหรับค่าออกแบบตกแต่งภายใน ค่าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ หรือสำรองค่าใช้จ่ายในกรณีที่บานปลายไว้อีกด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมาในเบื้องต้น น่าจะช่วยให้คนที่วางแผนอยากมีบ้านสักหลัง สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อบ้าน หรือใช้บริการออกแบบก่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตัวเองได้ รวมถึงสามารถคำนวณงบประมาณค่าแบบ และค่าก่อสร้างเบื้องต้น เพื่อให้เป็นไปตามแผน รวมถึงงบประมาณที่ตั้งไว้อีกด้วย
สำหรับคนที่อยากหาไอเดียเรื่องแบบบ้านแวะไปเยี่ยมชมได้ที่ https://bit.ly/3DD55pn และหากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำสอบถามเรื่องการทำบ้าน
สามารถลงทะเบียนปรึกษาเรื่องบ้านออนไลน์กับหมอบ้านของ SCG HOME ได้ที่ https://bit.ly/3iUco3N
นอกจากนี้ ถ้าสนใจใช้บริการออกแบบบ้านพร้อมบริการก่อสร้างของ SCG HOME สามารถดูรายละเอียดของบริการได้ที่ https://bit.ly/บริการออกแบบบ้านพร้อมก่อสร้าง บริการออกแบบบ้านพร้อมก่อสร้าง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCG HOME Contact Center 02-586-2222
ขอขอบคุณข้อมูลจาก SCG HOME Experience