เป็นประจำทุกปีสำหรับงาน TERRAHINT Brand Series ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย TERRA BKK สื่อด้านอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาวิจัยด้านการตลาด โดยปีนี้กลับมาอีกครั้งในชื่องานว่า TERRAHINT ​​Brand Series 2021 : DEVELOP THE LEADERSHIP BRAND IN A GAME CHANGING WAY พลิกเกม เปลี่ยนแบรนด์สู่ผู้นำ

อย่างที่ทราบดีว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเผชิญหน้ากับผลกระทบรอบด้าน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะเจอกับสภาพการฟื้นตัวอันแสนยาวนานกว่าที่คิดชนิดที่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม

แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือ ‘พฤติกรรมของผู้บริโภค’ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของแบรนด์ต้องรู้ให้เท่าทันความผันผวนนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อให้ ‘ผ่านวิกฤต’ หรือ ‘อยู่รอด’ เท่านั้น แต่ต้องเติบโตไปข้างหน้าด้วย

ภายในจึงได้รวบรวมเนื้อหาสำคัญที่จะเป็นอาวุธสร้างแต้มต่อในการสร้างแบรนด์ ประกอบไปด้วย

  • การบรรยาย : พลิกเกมเปลี่ยนแบรนด์สร้างความเหนือกว่า Brand Leadership & Brand Portfolio Management โดย ดลชัย  บุณยะรัตเวช President/Head of strategic planning, Inspirity partnership ltd.,
  • เผยผลงานวิจัย The most powerful real estate brand 2021 และเจาะลึกพฤติกรรมการอยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง โดย สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ TerraBkk.com
  • ประกาศผลรางวัลสุดยอดแบรนด์ Powerful 2021 & รางวัลผู้โดดเด่น Rising Star

มอบรางวัลโดย มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

  • วงเสวนา “ก้าวไปต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย Real Estate Transformation” 

หนึ่งในคีย์ไฮไลต์สำคัญที่ทุกคนรอคอย คือ การเปิดเผยผลวิจัย The most powerful real estate brand 2021 และเจาะลึกพฤติกรรมการอยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งทั้งในมุมของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และในมุมของผู้บริโภค เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของแบรนด์ต่างๆ นำไปต่อยอดปรับตัวให้เท่าสถานการณ์โลกและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  

ผลงานวิจัย The most powerful real estate brand 2021 และเจาะลึกพฤติกรรมการอยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง โดย คุณสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ TerraBkk.com อ่านเนื้อหา Session 1 ได้ที่นี่ คลิก

จากข้อมูลพบว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคต้องการซื้ออสังหาฯ ประเภทแนวราบและบ้านเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์และบ้านแฝด ที่เติบโตมากว่าปีก่อนสูงถึง 116% สะท้อนให้เห็นความต้องการบ้านใหม่ ที่มีพื้นที่พร้อมรองรับการทำงาน และการทำธุรกิจการค้าได้มากขึ้น โดยในกลุ่มคน Gen Y ส่วนใหญ่เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานให้เกิดความไม่แน่นอน ส่งผลต่อรายได้ลดลง และสร้างความรู้สึกวิตกกังวลมาก ดังนั้นจึงชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ออกไป

แม้จะชะลอการซื้อ แต่ในภาพรวมคนส่วนใหญ่ก็ยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อรองรับการอยู่อาศัย ทำงาน และต้องการมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมภายในบ้านด้วย เพราะพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนยุคนี้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจ, ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน และต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลังกายภายในบ้านมากขึ้น

สำหรับผลวิจัยในปีนี้เก็บข้อมูล 2 วิธี คือ 1.โฟกัสกรุ๊ป (Qualitative Research : Focus Group 22-25 พ.ย. 2021) สัมภาษณ์กลุ่มผู้มีกำลังซื้อและสนใจจะซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี ทั้งในกลุ่ม Gen X, Gen Y, Gen Z ผู้เล่นใหม่ในตลาดในปีนี้ 2.เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,700 ชุด (Qualitative Research : Online Survey 29 ต.ค.-30 พ.ย.2021) แต่วิเคราะห์เพียง 1,000 ชุด คัดเฉพาะผู้มีกำลังซื้อที่มีรายได้มากกว่า 12,000 บาท ดังนั้นผลวิจัยปีนี้จึงเป็นข้อมูลของผู้ที่มีกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคา 1 ล้านบาทขึ้นไป

จากกลุ่มตัวอย่างจะเป็นกลุ่ม C อยู่ที่ 42% (รายได้ต่ำกว่า 24,000-35,000 บาท) และ A-B ขึ้นไป 58% (รายได้มากกว่า 35,001 บาทขึ้นไป) แบ่งเป็นกลุ่ม Gen Y มากที่สุด รองลงมาคือ Gen X ส่วน Gen Z และ Baby Boomer อยู่ในสัดส่วนเท่าๆ กัน เป็นกลุ่มคนโสด 47% รองลงมาคือแต่งงานแล้ว, เป็นแฟนอยู่ด้วยกัน (ยังไม่ได้แต่งงาน) จากกลุ่มตัวอย่างนี้ส่วนใหญ่ทำงานในเมืองสีลม, สาทร, สุขุมวิท และอาศัยกระจายตัวไปทั้งในเมืองปริมณฑลและจังหวัดข้างเคียง

พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย : แนวราบ เป็นที่ต้องการมากขึ้น

ผลการวิจัยพบว่าความสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นบ้านเดี่ยวถึง 63% รองลงมา คือ คอนโดมิเนียม 39%, ทาวน์โฮม 28%, บ้าน/คอนโดตากอากาศ 18%, บ้านแฝด 13% โดยทุกกลุ่มผู้บริโภคจะสนใจที่อยู่อาศัยในราคา 3-5 ล้านบาท จากตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (2020) จะเห็นว่าบ้านเดี่ยวได้รับความสนใจมากขึ้นจากปีแล้วถึง 21% (จาก 52% มาที่ 63%) เช่นเดียวกับบ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อมากกว่าปีที่แล้วถึง 116% และ 100% ขณะที่คอนโดมิเนียมและทาวน์โฮมไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่กลับมีความสนใจซื้อที่ดินสร้างมาสร้างบ้านเอง


จากที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่กล่าวมา ‘ทุกอาชีพ’ พร้อมที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา ตามกำลังซื้อของแต่ละกลุ่มอาชีพ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ ‘อาคารพาณิชย์’ ได้รับความสนใจจากกลุ่มอาชีพพนักงานบริษัทสัดส่วนพอๆ กับกลุ่มอาชีพผู้ประกอบการกิจการค้าขาย แสดงให้เห็นว่าจากสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา จากอินไซด์ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มพนักงานบริษัทถูกลดรายได้ ทำให้มองว่าต้องมีอาชีพเสริมและทำงานค้าขายออนไลน์ไปพร้อมกัน คนกลุ่มนี้จึงต้องการอาคารพิณชย์ที่อยู่อาศัยและเก็บของได้ หรือนัดลูกค้าได้

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บ้าน/คอนโดตากอากาศได้รับความสนใจจากกลุ่มอาชีพราชการและกลุ่มอาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพ (แพทย์/วิศวกร) โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการเกษียณจะมีความต้องการที่ชัดเจนมาก สอดคล้องการข่าวของสมาคมรับสร้างบ้านต่างๆ ที่มีการประกาศยอดขายสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะกลุ่มอาชีพค้าขาย รับราชการ รัฐวิสาหกิจ เข้ามาสู่ตลาดที่ดินจัดสรรมากขึ้น

ทำเลยอดนิยมของคอนโด-บ้านเดี่ยวที่ผู้บริโภคมองหา

เมื่อมาดูที่ทำเลยอดนิยมที่ผู้บริโภคมองหาในการซื้อคอนโดมิเนียม อันดับ 1 คือ ธนบุรี-วงเวียนใหญ่-บางหว้า รองลงมาได้แก่ 2.รัชดา-พระราม 9 -เพชรบุรี 3.อารีย์-สะพานควาย-จตุจักร 4.บางซื่อ-บางโพ-วงศ์สว่าง 5.บางนา-วงแหวน 6.อ่อนนุช-พระโขนง-อุดมสุข ตามลำดับ

“การที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ทำให้การเดินทางเข้าเมืองง่ายขึ้น ซึ่งอย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่ยังทำงานในเมือง การเข้ามาเมืองด้วยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายต่างๆ ในส่วน MRT สีน้ำเงินที่มีจุดเชื่อมกับ BTS จึงทำให้ตรงนั้นใกล้กว่าทำเลอื่น”

            ขณะที่ท็อป 5 ทำเลยอดฮิตของบ้านเดี่ยว ได้แก่ ศรีนครินทร์-พัฒนาการ-บางนา, ดอนเมือง-พหลโยธิน-สายไหม, ธนบุรี-วงเวียนใหญ่-บางหว้า, รัชดา-พระราม9-เพชรบุรี, ราชพฤกษ์-นครอินทร์

            “อันดันต้นๆ ของทำเลบ้านเดี่ยว ส่วนใหญ่จะขยายมาทางโซนบางนา นั่นเพราะส่วนหนึ่งคนนิยมหารายได้เสิรม, ทำธุรกิจออนไลน์ และพวกคลังสินค้า ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะสะดวกมากในแถบบางนา”

สำหรับเหตุผลในการซื้อที่อยู่อาศัย 3 ข้อแรก ได้แก่ 1.ต้องการที่อยู่เป็นของตัวเอง 2.ต้องการสังคมที่ดีขึ้น ต้องการความปลอดภัย 3.เก็งกำไร ซึ่งเหตุผลทั้งสามข้อนี้จะมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยในประเภทคอนโดและบ้านตากอากาศจะมีสัดส่วนซื้อเพื่อลงทุนค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ

“จากสถิตินี้จะสะท้อนให้เห็นว่าคนอยากอยู่ทาวน์โฮมไม่ได้สนใจว่าต้องอยู่ติดรถไฟฟ้า เพราะคนกลุ่มนี้รู้อยู่แล้วว่าถ้าติดรถไฟฟ้า ราคาจะไม่สามารถเข้าถึงได้ หรืออาจไม่มีใครพัฒนาทาวน์โฮมติดรถไฟฟ้าเลยก็ได้ และในระดับราคาเดียวกันระหว่างคอนโดVSทาวน์โฮม ผู้บริโภคยอมรับได้ถ้าทาวน์โฮมจะอยู่ไกลรถไฟฟ้าอีกหน่อย ในระยะที่ยอมรับได้คือ นั่งรถมอเตอร์ไซค์ระดับราคา 20 บาท”

นอกจากนี้ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง หลายคนรายได้ลดลง การ WFH บังคับให้คนอยู่บ้านมากขึ้น บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยอยู่ปัจจุบัน จึงไม่ตอบโจทย์เรื่องไพรเวซี่ของแต่ละคน ทำให้ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมากขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องต้องการสังคมที่ดี มาจากปัจจัยที่ผู้คนทำงานออนไลน์มากขึ้น ทำให้ชุมชนหรือหมู่บ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีคนภายนอกเข้าออก ทำให้ผู้อยู่อาศัยมองหาความปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนเหตุผลเรื่องการอยู่อาศัยใกล้ MRT หรือ BTS จะเห็นว่าเชื่อมโยงกับที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดและทาวน์โฮม ซึ่งมีตัวเลขใกล้เคียงกัน ส่วนบ้านพักตากอากาศจะซื้อเพื่อเป็นมรดกให้ครอบครัว พักผ่อน ส่วนบ้านแฝดจะได้รับความสนใจจากกลุ่มที่ต้องการวางแผนแต่งงาน/ใช้ชีวิตคู่ เป็น Gen Y ที่มองเรื่องครอบครัวขยายในอนาคต

ช่องทางรับรู้แบรนด์ : เฟสบุ๊ค เบอร์ 1 แต่ต้องไม่ทิ้งช่องทางอื่นขึ้นอยู่กับ Gen

สำหรับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมซื้อที่อยู่อาศัย Facebook ยังคงเป็นช่องทางอันดับหนึ่งในทุกเซกเมนต์อายุ อันดับ 2 รองลงมาจะแตกต่างกันในแต่ละGen โดย Gen Z ให้ความสำคัญกับเสิร์ชเอนจิ้น, Gen Y ให้ความสำคัญพอๆ กัน ทั้งเสิร์ชเอนจิ้น, เว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่วน Gen X และเบบี้บูม ยังชื่นชอบการไปอีเวนต์หรือสัมผัสประสบการณ์ ยังชอบการเจอผู้ขาย

Customer Journey : ในวันที่โควิดอยู่กับเรา และเมื่อผู้บริโภคมองข้าม Bad Comment

กระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภคและลูกค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากปี 2020 Facebook และ Youtube ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาข้อมูล และการรีวิวโครงการต่างๆ ยังคงมีความสำคัญก่อนที่ผู้บริโภคจะเข้าสู่เว็บไซต์ของโครงการ เพียงแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19

  • เมื่อเกิดความต้องการ (ความจำเป็น) : ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงต้องการพื้นที่ไพรเวซี่มากขึ้น พื้นที่ในที่นี้ผู้บริโภคจะพิจารณาจากพื้นที่ห้องนั่งเล่น, ที่จอดรถ, แฟซิลิตี้สำหรับเด็ก, พื้นที่สำหรับคนในครอบครัว
  • การค้นหาข้อมูล : เมื่อรู้ความต้องการของตัวเองจะเกิดการเสิร์ชหาข่าวสาร โดยยังคงเป็นเสิร์ชเอนจิ้นหลักๆ อย่าง Google, Youtube, พันทิป, เฟสบุ๊ค โดยพันทิปจะเข้าไปดู Bad Comment ในโครงการที่ไม่รู้จักหรือเป็นแบรนด์กลาง-แบรนด์เล็ก แต่ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่จะไม่ดู Bad Comment แล้ว ผู้บริโภคยินดีที่จะหันหลังให้กับ Bad Comment เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่าแบรนด์ใหญ่พัฒนาโครงการมากย่อมต้องมีบ้างที่จะมีคนไม่ชอบในบางจุด
  • การเปรียบเทียบ : การเปรียบเทียบโครงการส่วนใหญ่จะดูโลเคชั่น การเดินทางที่สะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวก ดีไซน์ ฟังก์ชั่น แบรนด์ เป็นต้น และหากแบรนด์นั้นๆ ที่เป็นที่รู้จักหรือเป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อ ก็จะให้คะแนนในประเด็นมากขึ้นไปอีก
  • กระบวนการคัดสรร : เกิดการเยี่ยมชมสถานที่จริง 2-3 ครั้ง พนักงานขายยังคงสำคัญในกระบวนการนี้ โดยผู้บริโภคทุกคนจะมีงบประมาณอยู่ในใจ แต่งบประมาณของเขาขยับได้หากเจอสิ่งที่ใช่ เพียงแต่อำนาจในการซื้อในการขยับงบประมาณของผู้บริโภคปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จาก 20% เป็น 10-15% ในโครงการที่มีแบรนด์หรือแบรนด์ที่เขารัก

ปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย : ระบบความปลอดภัย มาเป็นที่ 1

         ต้องยอมรับว่าการมีอยู่ของโควิด-19 ทำให้มุมมองในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกเจเนอเรชั่นให้ความสำคัญกับการมองการเปลี่ยนแปลงนี้ในระยะยาว ส่งผลต่อการปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย  

  • อันดับหนึ่ง คือ ระบบความปลอดภัย ผู้บริโภคมองว่าถ้าโครงการยังใช้มนุษย์ในการรักษาความปลอดภัย จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม อันดับสอง คือ ราคา อันดับสาม คือ สภาพแวดล้อม/สภาพชุมชนรอบโครงการ

  • ความต่างในแต่ละเจเนอเรชั่นในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย : Gen Z และ Gen Y ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย มากกว่าGen อื่นๆ ส่วน Baby Boomer สนใจสังคมเพื่อนบ้าน สภาพแวดล้อมของโครงการ
  • ข้อสังเกตคือ Baby Boomer ผ่านการซื้อโครงการและบ้านมาแล้ว 1-2 ครั้ง ส่วนคน Gen Z และ Y ด้วยกังวลในสถานการณ์ไม่มั่นคงในหน้าที่การงานและรายได้ จึงหนักใจเรื่องเงินดาวน์ ค่าผ่อนต่อเดือนมากกว่า Gen อื่นๆ

  • ปัจจัยสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัย มองในเชิงของแบรดน์ : จะเรียกว่าความเป็นแบรนด์ในมุมมองของผู้บริโภคก็ได้ เพราะปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากแบรนด์ 1.ความน่าเชื่อถือ 2.เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง แบรนด์ต้องรู้ Need-Want ของผู้บริโภค 3.ตอบสนองในการใช้ชีวิต

“แต่ละGenให้ความหมายความเป็นแบรนด์แตกต่างกัน Gen Z กับ Gen Y ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่บริหารธุรกิจด้วยความโปร่งใส ไม่โกง ต้องบอกก่อนว่า Gen Z และ Gen Y ถือเป็นคนยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน และโควิดส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขามาก ทำให้เขารู้สึกว่าแบรด์ที่ไม่โกง จะทำให้ชีวิตที่เหลือของเขา ในอีก 30-40 ปี มีชีวิตที่อยู่ได้แบบสบายใจ ใกล้เคียงกับ Baby Boomer ที่ผ่านการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 3 ครั้ง เขาก็เลือกแบรนด์ที่โปร่งใสและใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

“ที่น่าสนใจคือ Gen Z มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาก ถ้าคิดอีกทีคือไม่แปลก เพราะ Gen นี้เกิดมาพร้อม Eco Concept คนกลุ่มนี้จะมี Eco Mindset ขณะที่การส่งเสริมภาพลักษณ์การอยู่อาศัย ก็จะเหมือนกันในกลุ่มGen Y และ Gen Z”

Need for New Home : ต้องการพื้นที่มากขึ้น

  • ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มบ้านเดี่ยว-แนวราบ : ต้องการความมั่นคง ความสงบในชีวิต ต้องยอมรับว่าการอยู่บ้านเดี่ยว กลายเป็น Compact Life ของการอยู่อาศัย เพราะได้มีโอกาสใช้ชีวิตเต็มที่
  • ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มทาวน์โฮม : กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีงบประมาณเป็นตัวควบคุม แต่คนที่ซื้อทาวน์โฮมในวันนี้ คือ กลุ่มคนที่เลือกฟังก์ชั่นที่เพียงพอกับชีวิต เป็นกลุ่มไม่ต้องการมีลูก ใช้ชีวิตกันแค่สองคน หรือกลุ่มทำธุรกิจจึงต้องการทาวน์โฮมไว้ต่อยอด เป็นสถานที่ติดต่องาน หรือเปิดเป็นกิจการเล็กๆ น้อยๆ เช่น กิจการซักรีด
  • ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มคอนโดมิเนียม : ความต้องการในคนกลุ่มนี้ยังเหมือนเดิม คือ ความสะดวกสบาย สังคมน่าอยู่ แต่สิ่งที่ต้องการมากขึ้นคือความเป็นส่วนตัว โดยความเป็นส่วนตัวนี้ ตีโจทย์ไปที่แฟซิลิตี้ ไม่ใช่แฟซิลิตี้ที่จะมาแชร์พื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด แต่ในพื้นที่แฟซิลิตี้นั้นๆ ต้องมีความเป็นไพรเวซี่ในบางจุดด้วย

โควิด-19 ส่งผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยในแง่มุมที่ต่างในแต่ละ Gen

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ อย่าง Gen X เป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวเร็ว ปรับตัวได้แล้ว ทำให้ปีที่ผ่านมามองเรื่องโควิด-19 กลายเป็นเรื่องปกติที่ต้องอยู่กับมันให้ได้ ต่างจาก Gen Z และ Gen Y ยังรู้สึกว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขารู้สึกกังวลกับสถานการณ์ ชีวิตยังไม่บาลานซ์ ไม่มั่งคงกับรายได้ จากแต่ละมุมมองดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ แตกต่างกันไปตามแต่ละ Gen กล่าวโดยสรุป คือ

  • Gen Z : รู้สึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต แต่ยังต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าพื้นที่นี้จะเป็น Safe Zone   

  • Gen Y : เนื่องจาก Gen Y มีรายได้ที่มั่นคงมากกว่า Gen Z จึงมองว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็น Long Term Security ซื้อเก็บไว้ได้อย่างไรก็ขายได้

  • Gen X : ต้องการพื้นที่การใช้ชีวิตกับครอบครัวให้มากขึ้น ปีที่ผ่านมาได้รับโปรโมชั่นจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดีมาก ได้รับเรตราคาที่น่าสนใจจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์

กำเนิด 4 มนุษย์สปีชีส์ใหม่หลังโควิด

ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตในบ้านของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงนี้ กำลังจะกลายเป็นภาวะปกติธรรมดา โดย 9 กิจกรรมที่ทำเพิ่มขึ้นอันดับต้นๆ หลังเกิดโควิด-19 ได้แก่ 1.กิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจ 2.ใส่ใจอาหารการกิน 3.ให้ความสำคัญกับพื้นที่บ้าน 4.ตกแต่งและปรับปรุงบ้าน 5.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 6.ซื้อของออนไลน์ 7.ดูภาพยนตร์ที่บ้าน 8.ทำกับข้าวที่บ้าน 9.ลดการใช้พลาสติก

จากชุดข้อมูลพฤติกรรมข้างต้น Terra Bkk แบ่งตามลักษณะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบ้าน สามารถจัดกลุ่มออกเป็นมนุษย์ 4 สปีชีส์ ได้แก่

  • HOMEBODY (32%) : กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด รักการใช้ชีวิตในบ้าน แฮปปี้กับการใช้ชีวิตในบ้าน ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร WFH ในบ้านของตัวเอง
  • TIDY (24%) : พวกเจ้าระเบียบ เป็นกลุ่มใหญ่รองลงมา เพราะชอบความเป็นระเบียบ จึงให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่ทำงานของตัวเอง ชอบซื้อของออนไลน์ ไม่ชอบเลี้ยงสัตว์ ชื่นชอบการตกแต่งพื้นที่ของตัวเอง
  • WELLBEING (23%) : กลุ่มที่ชอบใช้ชีวิตของฉันเอง ใช้ชีวิตในบ้านเท่าที่จำเป็น ให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก ทำให้มีแนวโน้ม WFH ลดลง สนใจกิจกรรมเพื่อสุขภาพและพื้นที่สีเขียว
  • OUTDOORST (21%) : กลุ่มที่จะใช้ชีวิตในบ้านลดลง โดยเฉพาะการ WFH หากไปคุยกับบริษัทข้ามชาติหลายๆ แห่งจะพบว่า การประกาศให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศแทนการ WFH คนกลุ่ม Gen Z และ Y จะยกมือเป็นคนแรกๆ ซึ่งก็คือคนกลุ่มนี้

 

สัญญาณที่ดี : ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น

เป็นที่น่ายินดีว่า จากผลวิจัยผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจมากขึ้นถึง 75.6 ท่ามกลางการเกิดขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ถ้าเกิดสถานการณ์สโนว์บอลขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในดัชนีชี้วัดตรงนี้ โดยจากตัวชี้วัดตรงนี้ถือว่าดีขึ้นในทุกระดับอาชีพ จากการเปรียบเทียบของปีนี้กับปีที่แล้ว (2020) ถือว่าดีขึ้น แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ตัวเลขล่าสุดนี้ถือว่าดีกว่ามาก แสดงให้เห็นว่าผู้คนเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

เทรนด์ต่อไปของที่อยู่อาศัย : ประหยัดพลังงาน

สิ่งที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมองข้ามไม่ได้ คือ ความต้องการในอนาคตของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทไหน เรื่องที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องการมากที่สุด คือ ประหยัดพลังงาน โดยปีนี้มีความชัดเจนมากว่าประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย แซงหน้าความคุ้มค่าคุ้มราคา ที่มักปัจจัยอันดับต้นในปีก่อนๆ

รองลงมา คือ มาตรฐานการรักษาความปลอดภัย, การออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อตอบโจทย์ WFH, เน้นพื้นที่สีเขียวของสวนส่วนกลาง, การออกแบบที่เน้นความสะอาด ถูกหลักอนามัย, Smart Home เพื่อลดการสัมผัส และ Universal Design ตามลำดับ

“จะสังเกตได้ว่า Universal Design คน Gen Z ให้ความสำคัญมากพอๆ กับคน Gen X และ Baby Boomer ขณะที่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ในกลุ่ม Gen Z และ Baby Boomer ให้ความสำคัญในระดับที่สูง เช่นเดียวกันกับการใส่ใจในการใช้วัสดุจากธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นปัจจัยที่ Gen Z และ Baby Boomer ให้ความสำคัญสูงพอๆ กัน”

นอกจากนี้เทรนด์ที่ควรเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปของโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคตที่ต้องมี คือ โมเดิร์นดีไซน์ มีนวัตกรรม บ้านที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้ ตลอดจนแฟซิลิตี้ที่จะกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ (norm) ได้แก่ สวนสาธารณะ, ลู่วิ่ง, สระว่ายน้ำ, ยิม, พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง

“ความหมายของแฟซิลิตี้เหล่านี้ลูกค้าหรือผู้บริโภคมองว่าเป็นมาตรฐานที่ควรต้องมี ไม่ใช่เรื่องเซ็กซี่สตอรี่อีกต่อไป สิ่งสำคัญคือขั้นตอนการรับประกันต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว”

 

4 พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่

จากผลวิจัยชุดกันนี้ ในปีนี้ยังมีเสริมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดย TerraBkk นำกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมาวิเคราะห์และแบ่งออกมาได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ THRIFTY กลุ่มใหญ่ที่สุด, ECONOMICAL, SPENDER, CLASSY แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญเลือกซื้อแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ต่างกัน ได้แก่

  • THRIFTY : สนใจแบรนด์อสังหาฯ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำตลาดอสังหา เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง พิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยจากปัจจัยด้านโปรโมชั่น, ค่าส่วนกลาง, ใกล้รถไฟฟ้า
  • ECONOMICAL : สนใจแบรนด์อสังหาฯ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ โดยมีหลักพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยจากปัจจัยด้านราคา, วัสดุ, โปรโมชั่น
  • SPENDER : สนใจแบรนด์อสังหาฯ ที่บริหารธุรกิจด้วยความโปร่งใส เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ ยอมจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ดังนั้นพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยจากปัจจัยด้านบริการหลังการขาย และพื้นที่ใช้สอย
  • CLASSY : คนกลุ่มนี้ถือว่ามีการจับจ่ายสูง มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นปัจจัยที่ต้องการจากแบรนด์จึงมีมากกว่ากลุ่มอื่น จึงสนใจแบรนด์อสังหาฯ ที่มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ส่งเสริมภาพลักษณ์ผู้อยู่อาศัย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยจากปัจจัยด้านระบบรักษาความปลอดภัย, สังคมพื้นบ้านที่ดี, นวัตกรรมภายในที่อยู่อาศัย

         การแบ่งพฤติกรรมการจับจ่ายเหล่านี้ ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของแบรนด์ต่างๆ นำไปวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เพื่อปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและพัฒนาสินค้าต่อไป

แสนสิริ ครองแชมป์ Brand Powerful 4 ปีซ้อน

จนมาถึงผลวิจัย The most powerful real estate brand 2021 ที่จะเป็นการสำรวจแบรนด์อสังหาฯ ผ่านสายตาผู้บริโภค พบว่า แสนสิริ เป็นแบรนด์ที่สามารถครองใจลูกค้า ขึ้นแท่นสุดยอดแบรนด์ Powerful 2021 และเป็นแบรนด์ที่ได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์ Powerful ถึง 4 ปีซ้อน ครองใจลูกค้ากลุ่ม Gen Y และ Gen Z ได้เป็นอย่างดี โดยเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ, มีบริการหลังการขายที่ดี และคุ้มค่าคุ้มราคา เป็นแบรนด์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการปรับตัวตลอดเวลา สร้างสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ

นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีการมอบรางวัลผู้โดดเด่น Rising Star ที่พิจารณาจากคะแนน Powerful Score ที่มีการเติบโตทั้งอันดับ Ranging และอัตราการเติบโตที่โดดเด่น ซึ่ง SC ASSET คว้ารางวัลนี้ไปครอง ด้วยความโดดเด่นของแบรนด์เอสซี แอสเสท ที่ปรับตัวให้เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเข้าถึงง่าย และจับต้องสินค้าได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตตรงที่ ปีนี้ AP มีความโดดเด่นมากทั้งในโฟกัสกรุ๊ปและ Online Survey คะแนนจากหลายๆ หมวดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตัว Top of Mind แบรนด์ AP เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคเลื่อนอันดับขึ้นจากปีที่แล้วจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 3 ขณะที่ Origin สามารถทำคะแนน Powerful Score เพิ่มจากปีที่แล้วมากถึง 243%

Brand Image : Real Estate VS Car 2021

นอกจากนี้ยังมีอีกผลสำรวจที่ได้รับความสนใจทุกปี คือ การเปรียบเทียบผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับแบรนด์รถแต่ละยี่ห้อ ผ่านสายตาของผู้ซื้ออสังหาและผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างบริโภค เป็นการมองภาพแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยผลลัพธ์ปีนี้ยังคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ต่างไปคือตัวเลขเปอร์เซ็นต์

แต่ก็มีหลายค่ายถูกเทียบต่างจากปีก่อนๆ เช่น Q House จากปีที่แล้วเป็น Toyota มาปีนี้เป็น Mercedes-Benz ส่วนเสนา จากปีที่แล้วเป็น Isuzu มาเป็น Toyota ขณะที่ออริจิ้น ปีก่อนมองกำกึ่งว่าเป็น MG และ Mazda มาปีนี้เป็น MINI

            ตลอดจนปีนี้ยังได้มีการสำรวจการรับรู้แบรนด์ต่อผู้บริโภคว่า แท้จริงแล้วผู้ซื้ออสังหารู้สึกและรับรู้ภาพลักษณ์ของแต่ละค่ายอสังหาฯ นั้นๆ เป็นอย่างไร? ซึ่งได้สรุปมาให้แล้วตามภาพด้านล่างนี้

ท้ายสุดแล้วแบรนด์จะก้าวผ่านความท้าทายไปได้ ล้วนต้องอาศัยการปรับตัวรอบด้าน ฟังเสียงจากลูกค้าให้มากที่สุดว่าพวกเขาต้องการอะไร? และจัดระบบระเบียบของตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสอนงความต้องการนั้นให้ได้ เพราะแบรนด์ที่ดี แบรนด์ผู้นำ ไม่ใช่ต้องทำสินค้าลักซ์ชัวรี่เสมอไป แต่ต้องทำของดี มีคุณภาพ ในราคายุติธรรม และตรงใจผู้บริโภคต่างหาก จึงจะเข้าไปครองใจลูกค้าได้