จับตาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว – เงินบาทแข็งค่า อาจกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 65
Krungthai Compass เปิดบทวิเคราะห์ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรไทยปี 64 ชี้ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา และข้าว เป็นกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ปี 65 ต้องจับตาเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลัง และต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น ที่อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง
Krungthai Compass โดยธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2021 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าคึกคักขึ้น และค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทำให้ไตรมาส4/64 ที่ผ่านมาการส่งออก ขยายตัว 19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 19.2% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ซึ่งการส่งออกขยายตัวดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 27% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา และข้าว
สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว19.4% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยสินค้าส่งออกในกลุ่มสิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงยังขยายตัวดี ได้อานิสงค์จากจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้คนต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและใส่ใจสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมทั้งน้ำตาลทรายที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงหดตัว โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 เนื่องจากคู่ค้าต่างประเทศชะลอการกักตุนสินค้าในกลุ่มนี้
สำหรับมูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังติดลบมาอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยมูลค่าการส่งออกข้าวขาวขยายตัว 71.8% จากปัจจัยด้านปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 104.5% จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาส่งออกข้าวขาวปรับลดมาอยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิขยายตัว 4.4%
ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกข้าวใน 2 ไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัว แต่ภาพรวมมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งปียังคงหดตัวที่ 8.9%YoY เนื่องจากในช่วงต้นปีการส่งออกข้าวเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้แข่งขันได้ลำบาก
สำหรับในปี 65 - 66 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตร จะยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งผลจากฐานสูง โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งอยู่ที่ 223,120 และ 261,051 ล้านบาท หรือขยายตัว 17.3%YoY และ 17.0%YoY ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคิดเป็น 53% ประกอบกับไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ประกอบกับคาดว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปจีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผักและผลไม้จากไทยไปจีนมากขึ้น รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน
รวมถึงปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 5.5 และ 5.7 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.1 และ 5.5 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 6% ต่อปี เนื่องจากสต็อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ต้องติดตามปัจจัยท้าทายอย่างใกล้ชิด อาทิ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลง จากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผลกระทบจากนโยบายการจัดการด้านพลังงาน อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคจีน และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก
รวมถึงแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่ง จะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป เช่น เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนจากวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งรวมกัน 80-90% ของต้นทุนทั้งหมด
และมาตรการที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยของจีน อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ โควิด-19 ของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแข่เย็นแช่แข็งจากไทยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2022 อาจส่งผลกระทบกับราคาส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ต่ำ เช่น ข้าวสาร ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้ผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าดังกล่าวอาจได้รับ Margin ที่บางลง
และปัญหาค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อต้นทุนการขนส่งของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยาง นอกจากนี้ ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ทำให้คาดว่าความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมาก กดดันให้อัตราค่าระวางเรือจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงปี 2022-2023
ขอบคุณข้อมูล จาก Krungthai Compass