การใช้ประโยชน์จากข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
สัมมา คีตสิน
กรรมการและกรรมการอิสระ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์
การบริโภคข้อมูลในยุคปัจจุบันนั้นมีแหล่งที่มาของข้อมูลมากมายกว่าในอดีต แต่ใช่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำไปใช้ทั้งหมด ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทของข้อมูลที่ต้องนำไปใช้อย่างระมัดระวัง
ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มีหลากหลาย สามารถแบ่งได้ตามประเภทของอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ต่างๆ แบ่งตามมิติต่างๆ เช่น อุปสงค์ อุปทาน ราคา ภูมิภาค ภาษี นโยบายหรือมาตรการ ฯลฯ โดยตัวเลขหลายชุดที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาโดยหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในการประกอบกันขึ้นเป็นองค์ความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ เราต้องลำดับจากจุดเริ่มต้นคือการมีข้อมูลหรือข้อมูลดิบ (Raw Data or Data) ซึ่งอาจเป็นตัวเลขชุดเดียวหรือหลายชุด ต่อเมื่อนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นจึงกลายเป็นสารสนเทศ (Information) ซึ่งอาจโยงความสัมพันธ์เป็นรูปตาราง กราฟเส้น กราฟแท่ง กราฟวงกลม หรือ Infogxraphics ต่างๆ
หลังจากนั้น หากมีการนำข้อมูลและสารสนเทศดังกล่าวมาเขียนหรือพูดผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อดั้งเดิมในรูปกระดาษหรือสื่อโซเชียล เป็นการขยายความเนื้อหาให้เป็นที่เข้าใจในบริบทที่กว้างขวางขึ้น เราเรียกว่าเป็นความรู้ (Knowledge) ซึ่งผู้ที่นำความรู้นั้นไปใช้จะต้องนำประสบการณ์และความรู้อื่นๆ มาประยุกต์หรือต่อยอด เพื่อให้เกิดภูมิปัญญา (Wisdom) ให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ดีนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนงานต่างๆ ได้ดี
ในการนำข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ ด้านอสังหาริมทรัพย์ไปใช้ เราต้องใส่ใจกับแหล่งที่มาของข้อมูล ว่าหน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูลเป็นต้นทางหรือไม่ กล่าวคือเป็นแหล่งปฐมภูมิ (Primary Source) หรือทุติยภูมิ (Secondary Source) ที่ไปนำข้อมูลจากต้นทางมาประมวลผลเป็นสารสนเทศต่อ ในการพิจารณาแหล่งที่มา ก็เพื่อดูความน่าเชื่อถือของข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ นั้นว่าเชื่อถือได้หรือไม่ หรืออาจต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ อย่างน้อย 2-3 แหล่ง เพื่อตรวจสอบซึ่งกันและกัน
ประการต่อไปคือต้องดูมิติด้านเวลา ว่าดูวันที่ของข่าวและดูลึกไปถึงวันที่ที่มีการให้ข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ นั้นว่าเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากในหลายกรณีเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจไม่เป็นจริงแล้ว เช่น อัตราภาษีต่างๆ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ การพัฒนาเส้นทางขนส่งมวลชน การเปลี่ยนแปลงด้านเมืองและประชากร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุที่ไม่เป็นธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา เช่น อาจมีภัยธรรมชาติ มีอุทกภัย มีโรคระบาด มีเหตุการณ์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ มีผลทำให้ข้อมูลเปลี่ยนไป ซึ่งผู้เผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นควรทำหมายเหตุหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อจำกัดเหล่านี้ และผู้นำข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นไปใช้ต้องรู้จักสังเกตและตั้งข้อสงสัยเมื่อตัวเลขเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญ
ขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างกันก็มีผลทำให้ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ด้านอสังหาริมทรัพยฺคลาดเคลื่อนได้โดยง่าย เช่น บางแหล่งเน้นการจัดเก็บในพื้นที่กรุงเทพมหานครจังหวัดเดียว บางแหล่งครอบคลุมถึงปริมณฑล หรือบางแหล่งอาจครอบคลุมทั้งประเทศ จึงต้องมีการเปิดเผยและทราบรายละเอียดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ด้วย
นอกจากนั้น ผู้นำข้อมูล สารสนเทศ หรือความรู้ จากแหล่งจากต่างๆ ไปใช้ต้องอาจต้องพิสูจน์ทราบด้วยตนเอง โดยการสุ่มตรวจข้อมูล สารสนเทศ ด้วยตนเอง เมื่อมีโอกาสหรือเมื่อเป็นไปได้
การนำข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ไปใช้ โดยเฉพาะที่มาจากบทความ ข้อเขียน ข่าวต่างๆ จึงต้องมีสติ และรอบคอบ รู้แหล่งที่มา รู้คน รู้เวลา รู้สถานที และตรวจสอบ โดยไม่อ่านเพียงบรรทัดพาดหัวหรือเฉพาะประโยคนำหรือย่อหน้านำ มิเช่นนั้นจะตีความผิดเพี้ยนและไม่ก่อให้เกิดภูมิปัญญาที่แท้จริง