ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดในปี 2565 คาดว่าธุรกิจอสังหาฯ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจาก อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น, โควิด, ภาวะครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงถึง 90% ของ GDP และอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจส่งผลต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนในปีนี้

 

         ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า  ในปี 2565 คาดว่าธุรกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่า ดัชนีรวมตลาดอสังหาฯ ปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 14.2%  โดยจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าในปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล จะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้นราว 81,226 หน่วย เพิ่มขึ้น 74.3% จากปี 64  โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 389,210 ล้านบาท

            ซึ่งโครงการแนวราบยังคงมีการเปิดในสัดส่วนที่มากกว่าคอนโดฯ เพราะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อมากกว่า ส่วนคอนโดฯ คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากสต็อกที่ลดลงและราคาที่ดินที่แพงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างอาคารชุดเพื่อให้สอดคล้องกำลังซื้อ

            ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่าในปี 65 จะมีการโอน ประมาณ 332,192 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.1%   โดยการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบจะเพิ่มขึ้น 24.6% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดจะเพิ่มขึ้น 26.1% คิดเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์รวม ประมาณ 909,864 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 13.3%   

ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศคาดว่าปี 2565 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศประมาณ 627,548 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างประมาณ 4,748,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 5.5%

 

            ทั้งนี้ ภาคธุรกิจอสังหาฯ ยังต้องเผชิญกับปัจจัยบวก และปัจจัยลบ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขยายความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงถึง 90% ของ GDP สภาวะการจ้างงานและการมีรายได้ของประชาชนที่อาจจะมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของ NPL ของสถาบันการเงิน อาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่อาจจะมีการปรับราคาขึ้น และภาวะเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดีจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

            ส่วนปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดอสังหาฯเติบโตได้ มาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของภาครัฐ อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% รวมถึงการขยายไปสู่บ้านมือสองด้วย, การผ่อนคลายมาตรการผ่อนปรน LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้มีการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการลงทุนมีเพิ่มมากขึ้น, สภาพคล่องของธนาคารมีมากพอสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีการทำโปรโมชั่นลดราคาขายและให้ของแถมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

            ทั้งนี้ ในปี 2565 ต้องระมัดระวัง หากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค 19 มากจนต้องมีการ Lock-down จะส่งผลให้ตลาดอสังหาริทรัพย์ไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร  บ้านมือสองอาจจะเป็นสินค้าทดแทนบ้านใหม่ นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานอาจส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า และอาจทำให้แผนการส่งมอบล่าช้าไปด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการระบาย backlog ของผู้ประกอบ และถ้าหากเกิด NPL สถาบันการเงินอาจจะมีนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดต่ออีกในปี 2565 จะส่งผลต่อกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่สถานะการเงินไม่แข็งแรง