นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยแม้จะมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายและมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ แต่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขยับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี มองว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน เพราะยังคงต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีต่อทิศทางราคาพลังงานและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ส่วนใหญ่เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,032 ล้านบาท หรือ 25.49% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 859 ล้านบาท หรือ 5.20% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมทั้งธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 686 ล้านบาท หรือ 7.93% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มจากเศรษฐกิจโลก

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,310 ล้านบาท หรือ 13.23% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 951 ล้านบาท หรือ 3.09% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.19% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,861 ล้านบาท หรือ 24.40% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,088 ล้านบาท หรือ 15.08% เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 42.82% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 158.33% เป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,133,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 29,849 ล้านบาท หรือ 0.73% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 3.78% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.76% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 18.34% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.35%