ในปี 2564 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียงเล็กน้อย ไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ และมีเพียงวิลล่าใหม่สองโครงการเท่านั้นที่มีการเปิดตัว   แต่อย่างไรก็ตาม ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก รายงานว่าความต้องการบ้านพักตากอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และผลการดำเนินงานของโรงแรมต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากมีการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางและการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์

 

นางสาวประกายเพชร มีชูสาร หัวหน้าแผนกซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 อาจไม่ได้ผลเท่ากับที่เราคาดหวังไว้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564  มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังสนามบินภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็น 219,144 คน และถึงแม้จำนวนดังกล่าวจะถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจำนวน 4.4 ล้านคนที่เดินทางมาในช่วงหลังครึ่งของปี 2562  แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพักอาศัยระยะยาวและความต้องการวิลล่าหรูจากชาวไทย และชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ”

 

“ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ซีบีอาร์อีปิดการขายวิลล่าจำนวนหลายหลังกับผู้ซื้อในประเทศที่มองหาบ้านพักตากอากาศหรูในภูเก็ต   ซีบีอาร์อีเชื่อว่าตลาดวิลล่าหรูในภูเก็ตจะยังคงไปได้ดี เพราะผู้ซื้อกำลังมองหาพื้นที่สำหรับการทำงานนอกสำนักงานและพื้นที่ที่หลบจากความวุ่นวายเพื่อความเป็นส่วนตัวของครอบครัว    ความต้องการสะสมที่เพิ่มขึ้นมาจากลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติที่มองหาโอกาสในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตในราคาพิเศษ ทั้งในรูปแบบคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว ซึ่งเสนอขายในราคาที่ต่ำลง เนื่องจากเจ้าของเดิมไม่สามารถเดินทางกลับมายังเกาะภูเก็ตได้เนื่องจากโควิด-19 หรือบางรายอาจต้องการปลดภาระทรัพย์สิน”

 

นอกจากนี้ จำนวนนักลงทุนชาวจีนและชาวรัสเซียในตลาดคอนโดมิเนียมภูเก็ตลดลง เนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่   หากกลุ่มผู้ซื้อเหล่านี้กลับมา ซีบีอาร์อีเชื่อว่าตลาดการซื้อของลูกค้าดังกล่าวจะขยายครอบคลุมทั้งการซื้อเพื่อการลงทุนและเพื่ออยู่อาศัยเอง  ในขณะเดียวกัน ตลาดลูกค้าชาวจีนจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้พัฒนาโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเพดานการโอนเงินออกนอกประเทศ  ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการร่วมทุนกับบริษัทจีนอาจมีข้อได้เปรียบในเรื่องความมั่นใจในโครงการที่จะได้รับจากลูกค้าชาวจีนที่มากกว่า

 

ซีบีอาร์อีมีความเห็นว่า กลุ่มผู้ซื้อชาวจีนที่มีศักยภาพสำหรับภูเก็ตมีด้วยกันสองกลุ่ม  กลุ่มแรกคือนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่มีการการันตีและการบริหารการเช่า และกลุ่มที่สองคือผู้ซื้อเพื่ออยู่เองที่มองหาวิลล่าสุดหรูเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศ พร้อมโอกาสที่จะนำมาปล่อยเช่าได้ด้วย

 

จากข้อมูลของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตลาดอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมภูเก็ตมียอดขาย 115 ยูนิต เพิ่มขึ้น 113% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่มียอดขายเพียง 54 ยูนิต หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 74.2% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2564 ที่มียอดขาย 66 ยูนิต   ในภูเก็ตไม่มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่มาเป็นเวลาสองปีติดต่อกันนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562  ในขณะที่มียูนิตใหม่ที่สร้างเสร็จจำนวน 209 ยูนิตมาจากเพียงโครงการเดียว และมีมากกว่า 4,700 ยูนิตอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกตอนกลางและชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้

 

สำหรับตลาดวิลล่าภูเก็ต แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่ามีวิลล่าทั้งหมด 81 หลังที่ปิดการขายไปในช่วงครึ่งหลังปี 2564 เพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และเพิ่มขึ้นถึง 125% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563    นอกจากนี้ ยอดขายยังเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส โดยในไตรมาส 3 ปี 2564 มีวิลล่าขายไปได้ 36 หลัง ขณะที่ในไตรมาส 4 ปี 2564  มีการขายวิลล่า 45 หลัง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความต้องการจำนวนมากที่มาจากผู้ซื้อในประเทศที่มองหาบ้านพักตากอากาศและบ้านหลังที่สอง   ดังนั้น แนวโน้มตลาดวิลล่าภูเก็ตในปี 2565 จึงเป็นไปในทิศทางบวกมากกว่าปีก่อน ๆ แต่จะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่นั้นยังยากต่อการคาดการณ์

 

ในด้านตลาดโรงแรมภูเก็ต หากพิจารณาปริมาณห้องพักในโรงแรม แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี รายงานว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้น 1,180 ห้องจากการเปิดโรงแรมใหม่ 9 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณห้องพักทั้งหมดของโรงแรมบนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 43,000 ห้อง   ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการเข้าพักในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เพิ่มขึ้น 16.8% จาก 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนจากข้อมูลของ STR  และภายในปี 2567 ปริมาณห้องพักโรงแรมในภูเก็ตจะเพิ่มขึ้น 7.3% จากโรงแรมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 15 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,120 ห้อง

 

นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ตลาดโรงแรมในภูเก็ตมีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ความมั่นใจในการเดินทาง และนโยบายจากภาครัฐที่ส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศ รวมถึงการปรับนโยบายการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563   ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปีนี้ อัตราการเข้าพักโรงแรมในภูเก็ตกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 60% - 90% สำหรับโรงแรมที่แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ทำการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ แต่รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก หรือ RevPAR ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากเจ้าของโรงแรมยังคงเสนอแพ็คเกจราคาพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเข้าพัก”

“เนื่องจากจีนยังคงปิดพรมแดน  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงเป็นชาวยุโรป ชาวอเมริกัน และชาวรัสเซียที่ตกค้างอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น   นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดในจีนอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางออกจากจีนและเข้าสู่ประเทศไทยนั้นเป็นไปได้ยาก” นายอรรถกวีกล่าวสรุป