EIC มองอุตสาหกรรมก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างปี 65 ขยายตัว แต่ยังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น
ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2565 ยังคงมีการขยายตัวที่ 4%YOY แตะระดับ 1.42 ล้านล้านบาท
- มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐ ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 6%YOY แตะระดับ 853,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากทั้งความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องจากในอดีต เช่น รถไฟฟ้าสีส้มตะวันออก, สีชมพู, สีเหลือง, รถไฟทางคู่ เฟส 1, มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง สัญญา 1 และ 3 รวมถึงการเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟฟ้าสีม่วงใต้, สีส้มตะวันตก รถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน รวมถึงมอเตอร์เวย์/ทางด่วนต่าง ๆ
- มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ 1%YOY มาอยู่ที่ 567,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของมูลค่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ ตามการฟื้นตัวของหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ในส่วนของมูลค่าการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในกลุ่มอาคารสำนักงานมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มขยายตัวไปตามการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 ผู้ประกอบการก่อสร้างเผชิญความท้าทายจากต้นทุนก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งต้นทุนแรงงาน และวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์
- ผู้ประกอบการก่อสร้างเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่กลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาด
- ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปตามราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์ จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน
- ผู้ประกอบการก่อสร้างกลุ่มต่าง ๆ ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางจะเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ทำสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากการคำนวณค่า K และผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่ทำสัญญาให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจะเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ไม่ได้ทำสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากการคำนวณค่า K และผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่ทำสัญญาเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างเอง
สำหรับปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้างในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต ท่ามกลางความท้าทายด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นไปตามต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น
- เหล็ก : ปริมาณการบริโภคเหล็กทรงยาว และทรงแบนในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ที่ 6.6 ล้านตัน (+3%YOY) และ 12.9 ล้านตัน (+5%YOY) ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ และการผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่มีการใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ ขณะที่ราคาเหล็กทรงยาว และทรงแบนไทยปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 30.2 บาท/กิโลกรัม (+19%YOY) และ 36.3 บาท/กิโลกรัม (+15%YOY) ตามลำดับ
- ปูนซีเมนต์ : ปริมาณการบริโภคปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 2%YOY มาอยู่ในระดับ 35.1 ล้านตัน โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวจากการก่อสร้างภาครัฐ ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย รวมทั้งปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์และปูนเม็ดฟื้นตัว 5%YOY แตะระดับ 12.4 ล้านตัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก สำหรับราคาปูนซีเมนต์ในปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 8%YOY มาอยู่ที่ 1,753 บาท/ตัน
- กระเบื้อง : ปริมาณการบริโภคกระเบื้องปูพื้นบุผนังในไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1%YOY มาอยู่ที่ 227 ล้านตารางเมตร โดยได้อานิสงส์ทั้งจากการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ตามการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งงานซ่อมแซมอาคาร และที่อยู่อาศัย ขณะที่การนำเข้ากระเบื้องอาจชะลอตัวจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน สะท้อนโอกาสของผู้ผลิตกระเบื้องในประเทศ ที่จะมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
- สีทาอาคาร : มูลค่าตลาดสีทาอาคารในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย 2%YOY อยู่ที่ระดับ 19,000 ล้านบาท โดยได้อานิสงส์ทั้งจากการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย รวมทั้งงานซ่อมแซมอาคาร และที่อยู่อาศัย โดยราคาพลังงานที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตยังต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบจำพวกสารสีมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลง
EIC มองว่า ผู้ประกอบการก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างอาจปรับกลยุทธ์รับมือต้นทุนที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ดังนี้
- ผู้ประกอบการก่อสร้าง ทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้าอย่างสอดคล้องกับความต้องการใช้ หลีกเลี่ยงการเข้าประมูลแบบแข่งขันด้านราคา เพื่อลดโอกาสในการขาดทุนในภาวะที่ต้นทุนก่อสร้างพุ่งสูงขึ้น รวมถึงนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้าง และลดต้นทุน ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน
- ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง บริหารจัดการการผลิต และสต็อกอย่างสอดคล้องกับปริมาณคำสั่งซื้อ ผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงขยายฐานลูกค้าผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่และมีศักยภาพ จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภาคเอกชน หมวดการซ่อมแซมและตกแต่งครัวเรือนได้
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างจะเผชิญกับความท้าทายในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อลดการปล่อย CO2 ประกอบกัน ทั้งผู้ประกอบการเหล็กอาจเร่งนำเทคโนโลยีการหลอมเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้ามาใช้ รวมถึงผู้ประกอบการปูนซีเมนต์อาจใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ เพื่อลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก โดยพัฒนาตามมาตรการทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อย CO2
อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่... https://www.scbeic.com/th/detail/product/8311
หมายเหตุ : *ค่า K หรือ ESCALATION FACTOR คือ ตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน ณ ระยะเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดซองประกวดราคาได้ เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ส่งงานในแต่ละงวด