สรท. ปรับเป้าส่งออกโต 5-8% มั่นใจครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตในความผันผวน
สรท. ปรับเป้าส่งออกโต 5-8% มั่นใจครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตในความผันผวน แนะรัฐช่วยประคองธุรกิจผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ, รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ และควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็น พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็นด้วย
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาสที่สองของปี 2565 เติบโต 3 - 5% โดยยังคงคาดการณ์รวมปี 2565 ทั้งปีที่ 5-8% โดยปัจจัยบวก มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ อาเซียน เติบโตต่อต่อเนื่อง ขณะที่จีนเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลกหรือ PMI ของประเทศคู่ค่าสำคัญที่ยังทรงตัวอยู่เหนือเส้นBaseline ระหว่าง50-60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ต้องจับตาความเสี่ยงจากราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงจากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ที่กระทบต่อ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์ระวางเรือยังคงตึงตัวในหลายเส้นทางและค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูง และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวนส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
โดยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน 2565 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,521.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 782,146 ล้านบาท ขยายตัว 19.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัว 6.9%)
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 856,253 ล้านบาท ขยายตัว 31.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,908.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 74,107 ล้านบาท
สำหรับในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – เมษายนปี 65) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,183,591 ล้านบาท ขยายตัว 24.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - เมษายนขยายตัว 8.2%)
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 99,975.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,322,907 ล้านบาท ขยายตัว 30.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - เมษายนของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 2,852.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 139,316 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สรท. ขอให้ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมถึงรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือด้านการลดภาษีสรรพาสามิตและเงินกองทุนน้ำมัน หรือกลไกในการควบคุมต้นทุนการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากจนเกินไป และควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการขอให้พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็น