สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย จับมือแบงก์ จัดงาน Home-Loan-NPA Grand Sale เร่งระบายสต๊อก NPA 1.3 แสนล้าน
สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระดมทรัพย์มือสองจากธนาคาร-บริษัทบริหารสินทรัพย์ จัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดซื้อบ้านมือสอง ผ่านงาน Home-Loan-NPA Grand Sale 2022 พร้อมอัดโปรแรง ลด แจก แถม และสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ หวังเร่งระบาย NPA ค้างสต๊อกกว่า 1.3 แสนล้าน ขายผ่าน 2 ช่องทาง ทั้ง Onsite - Online เข้าชมงานผ่าน 3D Virtual Exhibition ได้แล้ววันนี้
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของการซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะการซื้อ NPA จากธนาคารและสถาบันการเงินในต้นทุนเดิม ขณะที่บ้านใหม่มีการปรับราคาขึ้นไป 5-10% จากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น จึงยิ่งทำให้ NPA มีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ไม่ต่ำกว่า 20-30% ประกอบกับการรับประโยชน์จากรัฐ ที่สนับสนุนการซื้ออสังหาฯ ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% จนถึงสิ้นปี 2565 และยังได้ดอกเบี้ยราคาพิเศษด้วย
ซึ่งสมาคมฯได้รวมกับธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Asset: NPA) ภายใต้ชื่องาน “Home-Loan-NPA Grand Sale 2022”ซึ่งเป็นงานแสดงทรัพย์สินรอการขายจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ที่นำมาเสนอขายร่วมกันทำให้มีอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย บนทำเลที่ดีที่สุด สินเชื่อที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อเพื่ออยู่อาศัยและการลงทุน
โดยงานนี้จะมาในรูปแบบ Hybrid มีทั้ง Onsite – Online เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงงาย โดยสามารถเข้าชมงาน Onsite ในระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 ที่ อิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 8 เมืองทองธานี ในขณะเดียวกันได้มีการจัดงาน Online ในรูปแบบ 3D Virtual Exhibition ผ่านเว็บไซต์ https://www.cn-ves.com/npa2022/Exhibitions/Virtual_Exhibition_Hall/3D/
เริ่มตั้งแต่วันนี้ (15 มิถุนายน 2565) ไปจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดสะสมของ NPA ปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ธนาคารพาณิชย์มียอด NPA คงค้างรวมกันมูลค่า 135,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอด NPA คงค้างรวมกันมูลค่า 92,800 ล้านบาท
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการอํานวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ครอบคลุมไปถึงบ้านมือสองได้ทำให้บรรยากาศของตลาดบ้านมือสองมีการขยายตัวด้านอุปทานในตลาดมากขึ้นกว่าปีก่อนด้วย โดยเห็นได้จากที่จำนวนหน่วยและมูลค่าของบ้านมือสองในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีการขยายตัวขึ้น 20.2% และ 25.1% ตามลำดับ
โดยบ้านเดี่ยวมีจำนวนเสนอขายในตลาดบ้านมือสองมากที่สุด รองลงมาคือ ห้องชุด และทาวเฮ้าส์ ซึ่งบ้านมือสองส่วนใหญ่มีการเสนอขายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดหลัก คือ ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และนครราชสีมา สำหรับในกรุงเทพฯ มีจำนวนหน่วยเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 54,627 หน่วย หรือคิดเป็น 39.6% ของทั้งประเทศ และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 581,059 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.9% ของทั้งประเทศ
ขณะที่อุปสงค์ก็มีการขยายตัวสะท้อนผ่านการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านมือสอง โดยพบว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีจำนวน 49,227 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 96,296 ล้านบาท มีการขยายตัวของจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เท่ากับ 4.0% และ 5.9% ตามลำดับ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 61.5% และ 44.7% ของการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด
สำหรับบ้านมือสองราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 80% แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ต้องการหาซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะต้องมองไปที่ตลาดบ้านมือสองมากกว่าบ้านใหม่ เพราะแทบไม่มีอุปทานบ้านใหม่รองรับ ขณะที่บ้านมือสองระดับราคา 2-3 ล้านบาท เป็นระดับราคาที่มีการขยายตัวของการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด เนื่องจากบ้านใหม่ในระดับราคา 2-3 ล้านบาทที่มีการผลิตมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้กลับมาเป็นบ้านมือสองในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การที่ราคาบ้านใหม่มีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อ จึงอาจทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหันมาพิจารณาซื้อบ้านมือสองมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าได้ทำเลที่ดี และยังได้รับการลดค่ารรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองอีกด้วย ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าในปี 2565 เป็นปีที่บ้านมือสองได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวขึ้น
นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ไฮไลท์ของงานในปีนี้ สถาบันการเงินต่างๆ จะนำเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำและวงเงินให้กู้สูง 100% เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ยังได้นำ NPA ที่มีความหลากหลายในทุกทำเล ทุกระดับราคา มาจัดโปรโมชั่นพิเศษให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรตามความต้องการ
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่จองซื้อผ่านระบบออนไลน์ สถาบันการเงินต่างๆ ได้จัดเตรียมเงื่อนไขพิเศษให้กับลูกค้า โดยเฉพาะสิทธิพิเศษในการเลือกโปรโมชั่นรูปแบบต่าง ๆ เช่น การลดราคาพิเศษ หรือการลดค่าธรรมเนียม หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับลูกค้า รวมถึงแคมเปญการตลาด One Price ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมไว้รองรับลูกค้าทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online โดยใช้ช่องทางการสื่อสารให้ตรงกับพฤติกรรมลูกค้าแต่ละราย