นักวิจัยเมืองชี้วิกฤตเมืองในอนาคต อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด คาดปี 2050 ฝุ่น PM2.5 เพิ่ม 5 เท่าและ CO2 พุ่ง 8 เท่า บวกภัยแล้งและน้ำทะเลหนุน กระทบผู้คนทั่วโลก
ศูนย์วิจัยชี้สภาพภูมิอากาศและมลภาวะของเมืองในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มในอนาคตชี้ไปในทิศทางที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง เผยฉากทัศน์จำลองเมืองกรุงเทพฯ ในปี 2050 เป็น 2 รูปแบบ คือเมืองในโดมฟอกอากาศที่มีความเหลื่อมล้ำของชีวิตความเป็นอยู่แบบสุดขั้ว และการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง ชี้แก้ได้ด้วยนวัตกรรมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainnovation) และจัดกระบวนการทำงานด้านวิศวกรรมแนวใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราในวันหน้าอย่างมหาศาล
ในงานเสวนา “MQDC Sustainnovation Forum 2022 เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤตอย่างไร” ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของ 4 องค์กรสำคัญด้านการพัฒนาเมืองทั้ง FutureTales Lab, RISC, Creative Lab และ Unisus-EEC ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยของสภาพเมืองแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง พร้อมระดมแนวคิดและโซลูชันจากทีมนักวิจัย นักวิชาการ สถาปนิก วิศวกร และนวัตกร ในการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครฯ ในฐานะ Resilient City ไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืนมากที่สุด
ฉากทัศน์เมืองอันไม่พึงประสงค์
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัย คาดการณ์อนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมือง ได้นำเสนอการคาดการณ์อนาคตของเมืองปี 2050 โดยพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อัตราการใช้พลังงาน และพฤติกรรมของผู้คน พบว่าโลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากถึง 200 กว่าล้านคน และมีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะการเคลื่อนย้ายประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะสูงขึ้น 8 เท่า ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่าของในปัจจุบัน
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ยังได้เปิดเผยฉากทัศน์เมืองกรุงเทพฯ ในอนาคตปี 2050 เป็นครั้งแรกต่อสื่อมวลชน จากการคาดการณ์อนาคต ได้ฉากทัศน์ออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ ฉากทัศน์เมืองในโดมฟอกอากาศขนาดยักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มของคนที่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคมสูงเท่านั้น ในขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกโดม ต้องเผชิญกลุ่มหมอกควันและมลพิษ และวิกฤตน้ำท่วมอยู่เสมอ และ ฉากทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ เพื่อแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อดำรงชีวิต ซึ่งทั้ง 2 ฉากทัศน์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม เรายังมีโอกาสร่วมมือกันปรับทิศทางอนาคตเมืองให้ดีขึ้น โดยการร่วมกันเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบาย การพัฒนาโครงการ และพฤติกรรมของผู้คนบนแนวคิด “Not Only Urbanscape But Also Humanscape”
เทรนด์การพัฒนาเมืองเพื่อสร้าง Urbanscape ที่ยั่งยืน
จากแนวโน้มเมืองในอนาคตของไทยที่น่าจะเกิดวิกฤตที่สร้างความตื่นตระหนกและความเครียดต่อผู้คนสูงมาก (Shocks & Stresses) และจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในอนาคตประชากรบนโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 70% รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) จึงมองว่าการแก้ไขต้องเริ่มต้นที่สร้างสังคมเมือง โดยอิงจากกรอบความคิดสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นให้มีความพร้อมรับมือ (resilience) กับความไม่แน่นอนของอนาคตที่จะมาถึง หรือ “Resilience Framework for Future Cities: กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต” โดยเฟรมเวิร์คนี้ประกอบด้วย กลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอนใน 3 ด้าน ได้แก่ Nature & Environment, Living & Infrastructure และ Society & Economy
ทั้งนี้ ปัญหาในแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Nature & Environment)อาทิ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาเรื่องน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องการใช้ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน (Living & Infrastructure)เช่น อุบัติการณ์ไม่คาดฝัน ปัญหาสุขภาพ และการหยุดชะงักของบริการสาธารณูปโภค และสุดท้าย กลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ (Society & Economy) เช่น วิกฤตเศรษฐกิจและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ความไม่สงบ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และ ประเด็นทางสังคม
เนื่องจากพื้นที่แต่ละแห่งในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน จึงน่าจะประสบปัญหาต่างๆกันไป จึงต้องพิจารณาแยกรายพื้นที่และนำ Resilience Framework มาจับเพื่อตั้งรับและปรับตัวได้ตรงจุด อาทิเช่น การสร้าง Framework เฉพาะกลุ่มปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เราอาจพิจารณาความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักและน้ำท่วมจากแม่น้ำหนุนสูง และลดน้ำหนักด้านการป้องกันภัยแล้งลง เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราพิจารณากลุ่มของปัญหาทั้งหมดให้ครบถ้วน เราจะได้ Framework ที่สมบูรณ์ซึ่งเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือเมืองที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถมองเห็นโซลูชันในการสร้างเมืองนั้น ๆ รวมถึงการป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และลงทุนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เฉพาะการแสวงหาโซลูชั่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่เรายังสามารถจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโซลูชั่นและเทคโนโลยีขึ้นใหม่ที่ตอบโจทย์เมืองแห่งอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ภายใต้กรอบ Resilience Framework For City Developments แต่ละด้านจะมีความท้าทายปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ RISC จึงดำเนินการวิจัยและบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อนำเสนอโซลูชันที่สร้างความอยู่ดีมีสุขของทุกสรรพสิ่ง (For All Well-Being) ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ RISC 5 Research Hubs ได้แก่
- Plants & Biodiversity: ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ
- Air Quality: ศึกษาปัจจัยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร
- Happiness Science: ศึกษาการทำงานของสมองเพื่อสร้างความสุขด้วยวิทยาศาสตร์
- Materials & Resources: ศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาวะ
- Resilience: ศึกษาด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมเพื่อวางแผนรับมือ
อีกหนึ่งพันธมิตรของงานเสวนาครั้งนี้อย่างกลุ่มบริษัทอีอีซี ซึ่งเป็นทีมวิศวกรที่ปรึกษาชั้นแนวหน้าที่มีผลงานทั้งในและต่างประเทศมามากกว่า 46 ปี โดยมีนายเกชา ธีระโกเมน ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท EEC และประธานกรรมการ บริษัท ยูนิซัส กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ร่วมเสนอแนวทางการทำงานด้านวิศวกรรมที่ต้อง “คิดในทิศทางใหม่” อย่างจริงจัง จากเดิมที่หน้าที่ของทีมวิศวกรในโครงการคือเพียงแค่ทำให้น้ำไหลไฟสว่างและแอร์เย็น แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ทีมวิศวกรจะต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยเริ่มจากการออกแบบระบบของโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมวิศวกรจะออกแบบระบบปรับอากาศเพื่อทำให้อาคารเย็น แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นออกแบบระบบให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบายโดยใช้ระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย เพื่อเปลี่ยนจาก Heat Urban ให้กลายเป็น Cool Urban และแทนที่จะเป็นโครงการที่สร้างมลภาวะ แต่กลับเป็นโครงการที่ช่วยลดมลภาวะได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวทางและวิธีการคิดทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหามวลความร้อนในเขตเมืองที่ต้นเหตุ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้พลังงานของทุกระบบวิศวกรรม เป็นเหตุให้เกิดความร้อนสะสม
หนึ่งในโครงการตัวอย่างที่สามารถใช้ระบบวิศวกรรมและนวัตกรรมการออกแบบแนวใหม่เพื่อสร้างเมืองในอุดมคติให้เป็นจริงนั้น ได้แก่โครงการ The Forestias ซึ่งมีการออกแบบอาคารที่หายใจได้ (Breathable Building) ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีโดยไม่ต้องใช้พลังงาน บวกกับการปลูกป่าในโครงการในอัตราส่วนถึง 50% เพื่อช่วยฟอกอากาศให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้โครงการสามารถลดความร้อนของพื้นที่ สร้างออกซิเจน เพิ่มการหมุนเวียนอากาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ระบบ Zero Water Waste Model คือการนำน้ำเสียในโครงการมาบำบัดและ reuse กลับมาใช้ในโครงการ 100% โดยไม่ปล่อยออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ เรียกว่าใช้ทรัพยากรน้ำจากภายนอกโครงการน้อยมาก แถมโครงการยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย รวมถึงโซลูชั่นการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ช่วยสร้างความรู้สึกสบายแก่ผู้อยู่อาศัยโดยไม่ต้องใช้พลังงานเลย เหล่านี้ถือเป็นแม่แบบและจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการอื่น ๆ และพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คน โดยไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม
Humanscape การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเริ่มได้จากเราทุกคน
การพัฒนาเมืองแห่งอนาคตจะขาดความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์รวมถึงแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปไม่ได้เลย ดังที่ ภารุต เพ็ญพายัพ ผู้อำนวยการอาวุโส ครีเอทีฟ แล็ป (Creative Lab) และผู้อำนวยการโครงการ MQDC Metaverse หนึ่งในพันธมิตรการจัดงานเสวนาครั้งนี้เชื่อว่า “มนุษย์เป็นทั้งต้นทางและปลายทางของการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน” ด้วยเหตุนี้ ครีเอทีฟ แล็ป จึงได้ทำการศึกษาปัญหาและความต้องการของมนุษย์ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการออกแบบประสบการณ์ (Experience Innovation) และวิธีคิดทางธุรกิจแบบใหม่ ครีเอทีฟ แล็ปได้ประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการออกแบบบริการ (Service Design) เข้ามาใช้ให้เกิดการออกแบบวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยในบางกรณี การแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับโลก สามารถทำได้จริงจากการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของประชากร รวมถึงพวกเราทุกคนที่สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญ
ดังที่ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ได้ชี้ไว้ในเบื้องต้นว่า การเปลี่ยนแปลงอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม บริษัทผู้พัฒนาโครงการที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอนาคตเมือง และถือประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จของบริษัทนอกจากเม็ดเงิน และส่วนสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนที่ต้องร่วมขับเคลื่อนการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ซึ่งทุกคนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งกับเพื่อนมนุษย์ กับสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมถึงโลกใบนี้