ภาคอสังหาริมทรัพย์กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ยินวลีใหม่ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อมรอบโลก เช่น Climate Change, Global Warming, Greenhouse Effects, Sustainable Development, Low Carbon, Net-Zero Emissions และผู้คนทั่วไปให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเดือนกันยายน 2015 ผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ได้ตกลงร่วมกันในที่ประขุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 หัวข้อหลัก และ 169 เป้าหมายย่อย (Sub-Goals) เพื่อนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ในการประชุมสุดยอดด้านสภาวะอากาศของ Conference of the Parties (COP) 26 ที่ Glasgow เมื่อปีที่แล้ว นานาประเทศที่เข้าร่วมประชุมหารือมาตรการร่วมกันในการหยุดใช้ถ่านหินและหยุดการตัดไม้ทำลายป่าพร้อมทั้งหาแหล่งพลังงานอื่นที่หมุนเวียนได้ (Renewable Sources) โดยหลายประเทศได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซที่เป็นมลพิษอื่นๆ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกตะวันตกตั้งเป้าหมาย Net-Zero Emissions หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 แต่บางประเทศกำหนดเป้าหมายที่ยาวออกไป เช่น 2060-2070
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ก็มีการกำหนดเรื่อง BGC Economy ซึ่งประกอบด้วย Bio-Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ไว้เป็นประเด็นหารือด้วย
จึงเห็นได้ว่าภาครัฐบาลประเทศต่างๆ มีความตื่นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผูกอิงกับสภาวะสิ่งแวดล้อมมากเป็นทวีคูณในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในนานาประเทศก็ขานรับไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดทุนต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปจนถึงด้านสังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้น
ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยต้องปรับตัวให้ทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้าน มุ่งหน้าสู่การสร้างความยั่งยืนตามเป้าหมายที่กำหนด
การพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการทรัพยากรและพลังงาน การจัดการของเสียและมลภาวะที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ การใช้วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ประกอบบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Materials) ลดขั้นตอนและลดการสูญเสียทรัพยากรที่กระทบต่อสภาวะแวดล้อมและสังคม
การพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสังคม ได้แก่ การมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้บริโภค และคู่ค้า การพัฒนาและดูแลบุคลากรในองค์กรให้มีความสุขอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน การมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การดูแลเอาใจใส่สังคมในยามเกิดวิกฤตสาธารณสุข ยามประสบภัยธรรมชาติ และในยามปกติ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้กระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน กระบวนการส่งมอบและดูแลรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
การพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านธรรมาภิบาลหรือด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงที่ดี การดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม รวมทั้งการต่อต้านการทุจริต
หมายเหตุ เสนาดีเวลลอปเม้นท์เป็นตัวอย่างของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ดำเนินการในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเหล่านี้มาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) มาใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ รวมทั้งในการบำบัดน้ำเสีย การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะประเภทขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วยการจัดทำ Electric Vehicle (EV) Station ในโครงการ การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เน้นการประหยัดพลังงาน การส่งเสริมคู่ค้าให้ใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์ธรรมชาติ การออกแบบโครงการด้วย Active Building Strategies ฯลฯ