จับตาแนวโน้มการออกแบบเพื่ออนาคต ตามแนวคิด WELL-BEING ผ่านเวที Creative Talk ในงาน TERRAHINT Brand Series 2022 EP.2
เก็บตกสาระการออกแบบและจัดการเมืองบนเวที Creative Talk ในงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ของ TERRAHINT Brand Series 2022 : ขบคิด ติดเครื่องแบรนด์ เพื่ออนาคต โดยปีนี้จัดขึ้นตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” ทำให้งานสัมมนาในปีนี้มาในหัวข้อ “แนวคิดการออกแบบเพื่ออนาคต DESIGN FOR THE FUTURE” เนื้อหาเข้มข้นอัดแน่น นำเสนอแนวทางการสร้างเมืองเพื่อความยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิต จากวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายวงการถึง 7 ท่าน
ส่วนแต่ละท่านมาแชร์ไอเดียบรรเจิดขนาดไหน TerraBkk มีสรุปของแต่ละท่านมาฝาก
อ่านบทความ EP.1 คลิก
Adaptive Landscape and Environment
ธัชพล สุนทราจารย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ บริษัท ภูมิสถาปนิก Landscape Collaboration จำกัด
มองในมุมของการออกแบบอาคารกันแล้ว ลองมองในเชิงนักภูมิสถาปัตย์บ้าง เพราะแท้จริงแล้วศาสตร์ของแลนด์สเปคมีผลต่อการสร้างชีวิต Well-Being ได้อย่างมากมายชนิดคาดไม่ถึงเช่นกัน อย่างที่ ธัชพล สุนทราจารย์ นักภูมิสถาปนิกอาชีพ กล่าวเปิดการทอล์คว่า
“ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ของการจัดการที่วางหรือที่ดิน เรื่องของพื้นที่ว่างเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นที่จะสามารถปรับให้เข้ากับธรรมชาติหรือเป็นพื้นที่สีเขียวได้ ดังนั้นเรื่องแลนด์สเปคเป็นเรื่องการจัดความสมดุลระหว่างธรรมชาติ สังคมมนุษย์ และวัฒนธรรม”
ทั้งนี้หลักภูมิสถาบัตย์สามารถรักษาสมดุลระหว่างสามสิ่งนี้ ไปพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิต โดยยังสามารถใช้ธรรมชาติมารักษาเอกลักษณ์พื้นที่เดิมไว้ได้ด้วย ธัชพลได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาผ่านผลงานของทีมออกแบบของเขา เช่น โปรเจ็คต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ในชื่อ ‘พาสาน’ (Pasarn) ลานสาธารณะต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวปากน้ำโพได้ไปโดยปริยาย
‘พาสาน’ เป็นโครงการตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจุดที่แม่น้ำน่านมาเจอกัน ความท้าทายของโครงการนี้ คือ เป็นจุดที่ระดับน้ำขึ้นลงต่างกันถึง 9 เมตรในช่วงหน้าแล้งและฤดูน้ำหลาก แต่โจทย์ต้องการให้จุดนี้สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ของแม่น้ำสองสีในจุดที่น้ำท่วม ในฐานะแลนด์สเปคต้องทำให้พื้นที่บางส่วนโดนน้ำท่วมได้ เพื่อให้อาคารดูกลมกลืนกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ด้วย
“ดังนั้นการออกแบบอาคารที่จะอยู่บนพื้นที่นี้ เราจึงเล่นกับฟอร์มของอาคารที่ให้รูปทรงโค้งเหมือนสะพาน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากสามารถพายเรือลอดใต้อาคารได้ เมื่อถึงฤดูแล้งพื้นที่ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ผู้คนสามารถให้พื้นที่ใต้อาคารประกอบกิจกรรมของชุมชนได้ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็สามารถขึ้นไปบนอาคารชมปรากฏการณ์แม่น้ำสองสีได้”
ถือเป็นอีกตัวอย่างอันชาญฉลาดในการใช้ศาสตร์ภูมิสถาปัตย์มาตอบโจทย์ได้ครบทุกมิติทั้งเรื่องธรรมชาติ, สังคม และวัฒนธรรม
ไม่เพียงแต่โครงการสาธารณะเท่านั้น แลนด์สเคปยังมีส่วนสำคัญต่อการออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยและเชิงพาณชย์ไม่แพ้การออกแบบในอาคารแบบอื่นๆ ยกตัวอย่างคอนโดนมิเนียม U Delight Residence Riverfront พระราม 3 ของ Grand U ซึ่งเป็นคอนโดริมแม่น้ำ โจทย์คือทำให้โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร แต่ยังคงดื่มด่ำกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาดั้งเดิมของพื้นที่เอาไว้
“โครงการนี้ทีมงานมีการศึกษาอินไซด์บริเวณสองข้างแม่น้ำแถบนั้น รวมถึงน้ำขึ้นน้ำลง เราพบกว่าตรงข้ามโครงการมีต้นลำพูขึ้นอยู่รายล้อม จึงดึงมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ โดยเราดีไซน์พื้นที่ส่วนกลางมาอยู่ริมแม่น้ำ โดยเว้นพื้นที่บางส่วนปลูกต้นลำพูไว้ เป็นพื้นที่เปิดรองรับน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำ มีเขื่อนกันอาณาเขตระหว่างน้ำและพื้นที่แห้ง ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำปลูกต้นลำพูบนพื้นสโลปได้ เพื่อสร้างบรรยากาศชายน้ำให้มีความโรแมนติก คงเสน่ห์พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้”
นอกจากนี้เทคนิคด้านดีไซน์แล้ว ยังมีการศึกษาเรื่องเขื่อนธรรมชาติด้วยว่าแบบไหนจึงจะเหมาะกับลักษณะโครงการ ทีมออกแบบเลือกใช้ไผ่ตงโคนซอมาสร้างเป็นแนวป่าโกงกาง เพื่อเป็นเขื่อนธรรมชาติป้องกันการกัดเซาะปลูกคู่ไปกับต้นลำพู เป็นอีกเคสที่เห็นถึงการใช้ความลื่นไหลของธรรมชาติมาสร้างเอกลักษณะให้กับที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด
หรืออย่างกรณีอาคารสำนักงานใหญ่ SCG ก็เช่นกัน เป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคาร LEED Platinum โดยเริ่มแรกโครงการนี้มีโจทย์เรื่องการเก็บคุณค่าเดิมของพื้นที่เอาไว้ และเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำในอาคาร ทีมออกแบบจึงพยายามเก็บต้นไม้เดิมไว้เกือบทุกต้น โดยใช้พื้นสโลปเชื่อมต่อระหว่างอาคารสำนักงานเก่าและสำนักงานใหม่ โดยไม่ทำลายต้นไม้ดั้งเดิม เพื่อให้ได้ตามโจทย์ รวมถึงมีตัวอย่างของการบำบัดน้ำด้วยธรรมชาติ โดยเก็บน้ำทิ้งทั้งหมดจากตัวอาคาร ออกแบบพื้นที่ให้มีการหน่วงน้ำไว้ตามบริเวณโดยรอบของโครงการ เพื่อรอนำมาบำบัด เพื่อไม่ปล่อยให้เป็นภาระของเมือง
“การออกแบบแลนด์สเปคในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย แกนที่ตอบโจทย์เรื่อง Well-Being มาก คือ เรื่อง Microclimate ทำอย่างไรให้คนอยู่สบายท่ามกลางอากาศที่ร้อน อีกประการคือเรื่อง Empathy ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้ใช้งาน”
โครงการ Mega Foodwalk 2018 ถือเป็นตัวอย่างของโครงการที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 ส่วนที่กล่าวมา โดยห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา มีโครงการสร้างอาคารใหม่ที่จะเชื่อมต่ออาคารอินดอร์เดิม โดยมีด้านล่างเป็นที่จอดรถ เป็นการทยอยคนจากอาคารจอดรถเข้าสู่ตัวอาคารหลักในทุกชั้น
จากประสบการณ์จากหลายๆ โครงการที่ผ่านมาของธัชพลและทีม คำนึกถึงหลักสำคัญ คือ พื้นที่เอาต์ดอร์นอกจากต้องสวยงามแล้ว ต้องทำให้คนรู้สึกอยากใช้ด้วย นั่นทำให้การออกแบบพื้นที่เอาต์ดอร์ตรงนี้ เน้นการดีไซน์ให้มีความร่มรื่นเป็นหลัก มีน้ำไหลผ่าน โดยนำพลังงานโซล่าเซลล์มาใช้ขับเคลื่อนระบบหมุนเวียนเปลี่ยนน้ำ ซึ่งน้ำทำให้เกิดระบบความเย็นในพื้นที่
“เราดีไซน์ให้น้ำมีความลื่นไหลที่หลากหลาย เช่น สร้างวอเตอร์เพลย์สำหรับเด็กเล่นได้ ต้นไม้เราปลูกลงดินทั้งหมด ส่งผลให้พื้นที่เอาต์ดอร์บริเวณนี้เกิดความรู้สึกสบาย เย็นกว่าการเดินข้างนอกประมาณ 30% ถือเป็นอีกคีย์ซัคเซสในการออกแบบพื้นที่เอาต์ดอร์ เพราะมีผู้คนออกมาใช้พื้นที่นี้จริง”
นอกจากนี้ในโครงการเดียวกันยังตอบโจทย์เรื่อง Empathy ด้วยใช้หลักการเดียวกันกับการออกแบบพื้นที่สีเขียว กรณีส่วนต่อขยายของเมกาบางนา เนื่องจากพื้นที่กลางห้างเป็นส่วนที่ผู้คนเข้าไปใช้มากสุดที่สุดโดยไม่ได้ออกมาบริเวณโดยรอบเลย ดังนั้นทีมออกแบบจึงนำพื้นที่สีเขียวมาดัดแปลงใช้กับพื้นที่เอาต์ดอร์ เพื่อดึงผู้คนออกมาใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่นอกห้างบ้าง ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบห้าง ให้เป็นพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย
“ทีมออกแบบมีการดีไซน์ทางเดินเชื่อมชั้นบนชั้นล่างเป็นพื้นที่สีเขียว สร้างลู่จักรยานสำหรับเด็กและลานจักรยานสำหรับกลุ่มวัยรุ่น ไปจนถึงสร้างบ้านต้นไม้ที่มีทางเดินล้อมรอบ เพื่อเป็นจุดเดินเล่นพักผ่อนของเด็ก รวมถึงสไลด์เดอร์สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ บันไดสโลปเพื่อเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนสำหรับผู้ใหญ่และกลุ่มผู้สูงอายุ”
เป็นอีกงานออกแบบที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทุกเพศทุกวัย เช่นเดียวกับกรณีของโครงการระดับทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่าง Dusit Central Park เป็นการนำอิลิเมนต์ 3 ส่วนมารวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ Heritage, Bangkok Sanctuary, Inclusive Design For Commumity เพื่อสร้างพื้นที่ที่ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดีในกรุงเทพ เกิดสังคมพรรณไม้ที่สมบูรณ์
“โครงการนี้ทีมงานมีการวิจัยกลุ่มยูสเซอร์หลากหลายที่คาดว่าจะเข้ามาใช้พื้นที่ และนำพรรณไม้มาใส่ในพื้นที่ให้เพื่อให้เกิดระบบการกรองอากาศตามธรรมชาติและเพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไลต์ของกลุ่มผู้ใช้พื้นที่แต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้พื้นที่สามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องจากพื้นที่สวนลุมพินีมาที่ Dusit Central Park เช่น การปิกนิกอาจไม่สะดวกทำในสวมลุม แต่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมนี้ต่อได้ที่ Dusit Central Park ได้ หรือวิ่งที่สวนลุมพิธีเสร็จ สามารถมาวิ่งต่อที่นี่ได้เลย หรือการสร้างสโลปเพื่อสร้างจุดชมวิวให้ทุกจุดสามารถชมวิวได้ ใช้พื้นที่ระบบเปิดเพื่อให้เป็นสาธารณะประโยชน์กับสังคม ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง โดยการอาศัยภูมิสถาปัตย์”
Brand Design Forecast 2023
ดร. จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์ Studio Director บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด
มองภาพย่อยกันมาแล้ว มามองภาพใหญ่แห่งอนาคตกันบ้าง เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม แนวโน้มงานออกแบบดีไซน์จะไปในทิศทางไหน ผ่านการถ่ายทอดของ ดร.จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์ Studio Director บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสถาปนิกสัญชาติอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลก มีสาขาอยู่มากกว่า 52 แห่งทั่วโลกและได้รับการยอมรับเรื่องการศึกษาวิจัยเพื่องานออกแบบและสถาปัตย์
ดร.จักรกฤษณ์ ฉายภาพให้เห็นว่าอนาคตอันใกล้นี้ แนวโน้มการสร้างโลกและการสร้างเมืองต้องมุ่งไปสู่งการลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นไปตาม ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ข้อตกลงที่ว่าด้วยความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส จำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในช่วงระหว่างปี 2050 และ 2100 แต่ก่อนจะไปถึงปีนั้นทุกประเทศต้องส่งรายงานว่าแต่ละประเทศมีแนวทางอย่างไรเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นและแจ้งผลการดำเนินงาน นั่นทำให้ทั่วโลกต่างตื่นตัวเรื่อง ESG มากขึ้น
เช่นเดียวกับเก็นสเล่อร์ที่ให้ความใส่ใจเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยมีการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องทุกปี เพื่อทำนายเทรนด์การออกแบบที่จะเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอนาคต เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรืออยู่แวดวงเดียวกันนำไปต่อยอด
ภาพรวมการวิจัยที่ผ่านมาของเก็นสเล่อร์ แบ่งอย่างกว้างๆ ออกเป็น 3 ประเด็น
1.ผู้คนอาจจะมองว่ามนุษย์ผ่านโควิดมาแล้ว แต่แท้จริงโควิดยังอยู่กับเรา นั่นจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนไป เมืองจะเปลี่ยนไป โลกจะเปลี่ยนไป ฉะนั้นการออกแบบต้องเปลี่ยนตาม
2.ความท้าทายเรื่องโควิดสร้างผลกระทบใหม่ๆ และต่อเนื่อง เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนแรงงาน และลักษณะของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง
3.พลังงานทั้งหมดในโลก 39% ส่วนใหญ่ใช้ไปกับอาคาร ดังนั้นการบริหารจัดการอาคารเพื่อมาลดการใช้ทรัพยากร จะกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก
“เมื่อเราบริหารจัดการใช้ทรัพยากรดีขึ้น เราจะใช้ไฟฟ้าน้อยลง ถ่านหินที่ใช้สร้างพลังงานก็จะใช้น้อยลง แน่นอนว่าการปล่อยคาร์บอนฯ ในอากาศจะน้อยลง จะเห็นว่าการใช้พลังงานภาคอาคารมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแค่บอดี้คาร์บอนที่อยู่ในวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในงานก่อสร้างเท่านั้น แม้แต่การบริหารจัดการคาร์บอนก็เป็นส่วนสำคัญ ฉะนั้นการบริหารจัดการอาคารให้ข้อมูลทุกอย่างของอาคารอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล จะช่วยให้ผู้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การลดต้นทุนได้ทั้งหมด เพราะการลดต้นทุนคือการลดการใช้พลังงาน”
ทั้งนี้เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับวงการออกแบบสถาปัตย์ในอนาคตอันใกล้นั้น แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ทำอย่างไรให้พื้นที่นั้นมีความหมายสำคัญกับคน เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น (BELONGING ANDPLACEMAKING WILL BRING PEOPLE TOGETHER)
- สิ่งอำนวยความสะดวกสามารถขับเคลื่อนชุมชนได้และจะกลายเป็นสิ่งมีมูลค่าสูง (AMENITIES THAT DRIVE COMMUNITY WILL BE HIGHLY VALUED)
- ความยืดหยุ่นของพื้นที่ในเชิงการพัฒนาโครงการจะกลายเป็นการลงทุนที่สำคัญ (FLEXIBILITY WILL BECOME A CRITICAL INVESTMENT)
- ข้อมูลเชิงดิจิทัลและข้อมูลเชิงกายภาพจะผสมผสานการทำงาน และเชื่อมต่อใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้อาคาร ผู้บริหารอาคาร และผู้พัฒนาอาคาร (DIGITAL AND PHYSICAL WILL BLEND TO DELIVER CONNECTED EXPERIENCES)
- การสร้างพื้นที่เปิดเพื่อเป็นสถานที่ที่ให้คนมีปฏิสัมพันธ์ จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหามากยิ่งขึ้น อันเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทุกคนเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝัน ดังนั้นในอนาคตในมุมของผู้พัฒนาโครงการการสร้างพื้นที่ให้คนเกิดกิจกรรมร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ (PLACES FOR GATHERING WILL BECOME NEIGHBORHOOD CATALYSTS)
“ในอนาคตงานออกแบบจะเป็นเครื่องมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตและเมือง ผู้พัฒนาโครงการพัฒนาการขายอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ไฮบริด ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่ได้ เรื่องราคาอาจไม่สำคัญ เพราะปัจจุบันผู้คนมองหาพื้นที่ที่สามารถทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข”
ปิดท้ายที่การแชร์องค์ความรู้เรื่อง Brand Design ที่ดีจากการวิจัยของเก็นสเล่อร์ว่าผู้คนมองว่าแบรนด์ดีไซน์ที่ดีต้องประกอบไปด้วย
1.แบรนด์ต้องรักษาสัญญาที่มีต่อผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ทำตามสัญญา
2.องค์กรจะถูกคาดหวังให้แสดงผลลัพธ์หรือแชร์องค์ความรู้ไปสู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การต่อยอด
3.พนักงานควรมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ของแบรนด์หรือองค์กรของคุณ
4.แบรนด์ต่างๆ จะยังคงค้นหาคุณค่าจากประสบการณ์จริง คือ เรียนรู้และทำจากสถานการณ์จริง
“ในอนาคต Gen Y และ Gen Z แบรนด์ที่เขาจะซื้อหรือเชื่อมั่น จะต้องเป็นแบรนด์ที่เขารู้สึกว่าทำได้ตามมั่นสัญญาของพวกเขา และสร้างผลลัพธ์อย่างไรต่อชุมชน”