ยุคหลังโควิดทาเลนต์ไทยส่งสัญญาณมองหารายได้ผลตอบแทน สวัสดิการ ชีวิตที่สมดุล ความก้าวหน้าและความมั่นคงของงานจากองค์กรนายจ้างมากที่สุดในปี 2023 นี้
WorkVenture ผู้นำด้านที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์นายจ้างและโซลูชั่นแบบครบวงจรของเมืองไทย เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดสอบถามถึงแรงจูงใจและพฤติกรรมการสมัครงานและการเปลี่ยนงานเพื่อเข้าใจถึงปัจจัยและ ความต้องการจากคนทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากสภาวะสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ช่วงอายุและยุคสมัย รวมถึงผ่านพ้นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลอย่างไรกับทาเลนต์ไทยในปัจจุบัน
จากการสำรวจที่นำเอาปัจจัยสำคัญของการดึงดูดและรักษาทาเลนต์มาจาก framework ของ Best Place To Work ลิขสิทธิ์ของ WorkVenture โดยเฉพาะเพื่อใช้ตรวจสุขภาพนายจ้างมุ่งค้นหาความสมบูรณ์เชิงประสบการณ์การจ้างงานซึ่งมีทั้งสิ้น 26 เรื่อง (drivers) ด้วยกัน โดยกลุ่มตัวอย่างได้ตอบคำถามที่ว่า “เรื่องที่สำคัญที่สุดของที่ทำงานใหม่สำหรับคุณเวลาที่อยากจะเปลี่ยนงานคือเรื่องใด?” ผลออกมาชัดเจนว่าใน 10 อันดับแรกได้แก่ 1) เงินเดือนที่สามารถต่อรองได้ (76%) 2) สวัสดิการและสิทธิพิเศษ (73%) 3) สมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต (66%) 4) ความก้าวหน้าในสายอาชีพ (64%) 5) ความมั่นคงในการจ้างงาน (64%) 6) สถานที่ทำงาน (52%) 7) การทำงานเป็นทีม (46%) 8) ความเคารพและความเอาใจใส่ (46%) 9) ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน (45%) และ 10) วัฒนธรรมของบริษัท (45%) ในขณะที่มีปัจจัยบางเรื่องกำลังส่งสัญญาณมาแรงให้กับนายจ้างได้ทราบถึงความต้องการหรือคุณค่าที่ทาเลนต์กำลังมองหาในองค์กรนายจ้างได้แก่ การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ ซึ่งหากนายจ้างมุ่งเน้นประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้และสื่อสารเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ให้ไปถึงยังกลุ่มผู้สมัครที่เป็น เป้าหมายในหลากหลายรูปแบบและช่องทางจะยิ่งมีผลต่อการรับรู้ ความสนใจ และความต้องการสมัครเข้าร่วมงานของทาเลนต์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมพลัง Brand Exposure ให้โดนใจตอบโจทย์เพิ่มการเปิดรับของกลุ่มคนทำงานเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นด้วย
สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ช่วงอายุ 22-34 ปี ซึ่งเป็นประชากรกลุ่ม Gen Y ที่มีประสบการณ์ทำงานเริ่มเป็นหัวหน้างาน และ Gen Z ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงาน (First Jobbers) กำลังมองหาคุณค่าใหม่ๆที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาให้ความสำคัญกับโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาความรู้ เพิ่มพูนทักษะความสามารถใหม่ๆ ได้รับคำแนะนำและมีที่ปรึกษาดีๆจากรุ่นพี่และผู้ใหญ่ในองค์กร การสร้างประสบการณ์โดยตรงเหล่านี้ให้จริงจัง ชัดเจน และเพิ่มมากขึ้นนอกจากจะรักษาคนทำงานกลุ่มนี้ให้อยากที่จะอยู่และเติบโตกับองค์กรในช่วง 1-3 ปีแรกแล้ว การสื่อสารเล่าเรื่องราว (storytelling) ที่มาจากเรื่องจริงของคนทำงานจริงในองค์กรยังเป็นหลักฐานที่ทรงพลังให้กับทาเลนต์ในตลาดแรงงานอีกด้วย
นอกจากนี้ทาง WorkVenture ยังได้สำรวจถึงความต้องการและพฤติกรรมในการทำงานของทาเลนต์ไทยในยุคหลังโควิดเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “เวลาที่คุณมองหางานใหม่ ถ้าเลือกได้คุณอยากจะทำงานในรูปแบบไหนมากที่สุด?” ผลปรากฏออกมาว่าความต้องการที่จะปฏิบัตินอกสถานที่มากกว่าในสถานที่ (More Outside 34%) นั้นใกล้เคียงกับความต้องการที่จะปฏิบัติในสถานที่มากกว่านอกสถานที่ (More Onsite 32%) ในขณะที่มีเพียง 9% เท่านั้นที่ยังคงต้องการทำงานในสถานที่ทำงานเพียงอย่างเดียว
สำหรับความต้องการในด้านช่องทางการสมัครงานในปี 2023 นี้กลุ่มตัวอย่างต่างยกให้การได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์หรืออีเมลจากฝ่ายบุคคลของบริษัทเชิญชวนให้ไปสมัครงานเป็น รูปแบบที่ถูกใจที่สุด (22%) ใกล้เคียงกับการสมัครงานผ่านเว็บไซต์รับสมัครงานทั่วไป (21%) ซึ่งข้อน่าสังเกตก็คือกลุ่มที่ถูกใจการได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์หรืออีเมลจากฝ่ายบุคคลมากที่สุดนั้นส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มที่มีช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ในขณะที่กลุ่มที่ถูกใจการสมัครงานผ่านเว็บไซต์รับสมัครงานทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ตั้งแต่ 34 ปีลงมามากกว่ากลุ่มอื่น
เรื่องขั้นตอนและกระบวนการรับสมัครงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบมีผลต่อการตัดสินใจไปร่วมงานที่บริษัทนั้นหรือไม่? นั้นกว่าครึ่ง (52%) ต่างตอบว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยมีจำนวนที่ตอบใกล้เคียงว่า ค่อนข้างสำคัญในบางประเด็น อีก 43% ที่ส่งสัญญาณให้นายจ้างควรกลับมาทบทวน ออกแบบ และพัฒนาประสบการณ์ในการสมัครงานตั้งแต่จุดแรกจนถึงจุดสุดท้ายก่อนเข้าร่วมงานให้มีประสิทธิภาพราบรื่นและเกิดความประทับใจที่ดีก่อนเริ่มงาน ในขณะที่รูปแบบการสัมภาษณ์งานนั้นผลจากช่วงโควิดทำให้การสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบมาตรฐานที่เริ่มคุ้นชินจนเป็นการปฏิบัติกันเป็นปกติ สะดวกและประหยัดเวลาต่อกันจนทำให้มีความต้องการจากทาเลนต์ถึง 45% เทียบกับสัมภาษณ์แบบพบตัวจริง 55%
ด้านการดูแลพนักงานและสวัสดิการเรื่องไหนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมงานกับบริษัทนั้นๆมากที่สุด? ทาเลนต์กลุ่มตัวอย่างต่างโหวตให้กับการทำประกันสุขภาพให้กับพนักงานมากที่สุด รองลงมาคือเปิดหลักสูตรและเวิร์คชอปให้พนักงานเข้าเรียนเพิ่มพูนทักษะได้ การมีโอกาสได้ไปทำงานในต่างประเทศ คลาสสอนภาษาต่างประเทศ และ โรงอาหารและอาหารฟรีสำหรับพนักงาน ตามลำดับ
สุดท้ายกับเหตุผลของทาเลนต์ต่อคำถามที่ว่า “อะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่จะทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่ได้?” 5 เหตุผลยอดฮิต(ตอบได้มากกว่า 1 สาเหตุ) อันดับหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกกว่าครึ่ง (57%) ยังคงเป็นเรื่องของรายได้และผลตอบแทนที่ต่ำหรือไม่เพียงพอ รองลงมา (51%) เลยคือ การที่ทุ่มเททำงานอย่างสุดความสามารถแล้วก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนและมองไม่เห็นความก้าวหน้าเติบโตกับที่นี่ได้เลย ตามติดมาด้วย (50%) ชีวิตการทำงานไม่สมดุล/ไม่ตอบโจทย์ชีวิตส่วนตัว ตามมาด้วย (40%) อยู่ไปก็ไม่เห็นจะได้รับการพัฒนาอะไรจากที่นี่ และ (39%) ฝ่ายบริหารจัดการไม่ดี
สิ่งที่ได้ค้นพบจากผลสำรวจทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการส่งสัญญาณจากทาเลนต์สะท้อนไปยังนายจ้างให้หันมาทำการศึกษา และเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของทาเลนต์ในตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กรรวมถึงการให้ความ สนใจและรับฟังกลุ่มพนักงานปัจจุบันที่มีอยู่ในองค์กร เพื่อค้นหา เพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขให้ประสบการณ์การจ้างงานนั้นโดดเด่นเป็นจุดแข็งที่รักษาทาเลนต์คนในไว้ได้และยังสามารถที่จะกลายเป็นจุด ขายดึงดูดทาเลนต์ตัวท๊อปในตลาดได้อย่างทรงพลังจนกลายเป็นองค์กร Best Place To Work ตัวจริงเสียงจริงในปี 2023 นี้