REIC คาดอสังหาฯ ปี 66 โครงการใหม่ชะลอ แนะรัฐฯ เพิ่มสัดส่วนขายต่างชาติเพิ่มในทำเลฮ็อต
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปี 2566 ตลาดอสังหาฯ ยังชะลอตัว ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีการเปิดตัวใหม่ราว 1 แสนหน่วย เป็นแนวราบ ราว 5.8 หมื่นหน่วย และแนวสูง ราว 4 หมื่นหน่วย โดยในช่วงไตรมาส 1/66 การออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศมีจำนวน 15,267 หน่วย ลดลง -13.6% ซึ่งทาวน์เฮ้าส์ เป็นประเภทที่มีจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุดจำนวน 6,290 หน่วย (41.2%) รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 4,992 หน่วย (32.7%) และบ้านแฝดจำนวน 3,233 หน่วย (21.2%)
หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า บ้านแฝดที่ขยายตัว 2.9% แต่บ้านเดี่ยวลดลง -17.8% และทาวน์เฮ้าส์ลดลง -10.4% ซึ่งบ้านแฝดเพิ่มขึ้นแสดงถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการที่เน้นขายบ้านแฝดในตลาดมากขึ้น เพื่อรับลูกค้าที่มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมาก แต่มีงบประมาณจำกัด ซึ่งบ้านแฝดก็สามารถตอบโจทย์ได้ดี และสอดคล้องกับต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนบ้านที่มีราคาตั้งแต่ 15 ล้านบาท จะเห็นมีการเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 180.9%
ด้านคอนโดฯ ช่วงไตรมาส 1/66 มีการเปิดตัว 7,260 หน่วย ลดลงถึง -61.5% โดยห้องสตูดิโอ ลดลง -68.3% แต่ระดับราคา 1.51 – 1.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 233.3% ระดับราคา 1.751 – 2.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.6% ระดับราคา 1.251 – 1.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.1% ส่วนแบบ 2 ห้องนอน ภาพรวมลดลง -83.0% โดยลดลงในทุกระดับราคา
“ตลาดอสังหาฯในปี 66 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านโดยเฉพาะการยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่ยังสูงถึงเกือบ 90% ของ GDP และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถผ่อนชำระลดลง กระทบยอดขาย ยอดโอน และยอดการปล่อยสินเชื่อ”
อย่างไรก็ดีหลังจากการเลือกตั้ง สิ่งที่กังวลก็คงจะเป็นเรื่องงบประมาณซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็จะมีผลต่อการอนุมัติงบปีหน้าล่าช้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญกระทบต่อ GDP ไทยอาจไม่เติบโตตามคาด ซึ่งก็อาจจะเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ ในส่วนภาคอสังหาฯ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดซึ่งต้องดูว่าเศรษฐกิจปีนี้จะไปในทิศทางใด เพื่อประเมินผลกระทบต่อธุรกิจในระยะต่อไป
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศช่วงไตรมาส 1/66 พบว่า มีการโอน 84,619 หน่วย ลดลง -0.8% และมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 241,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% เป็น แนวราบจำนวน 60,950 หน่วย ลดลง -6.8% และมีมูลค่า 170,686 ล้านบาท ลดลง -0.3% ในขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีจำนวน 23,669 หน่วย เพิ่มขึ้น 18.7% และมีมูลค่า 70,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.7%
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติช่วงไตรมาส 1/66 พบว่า หน่วยการโอนมีจำนวน 3,775 หน่วย มีมูลค่า 17,128 ล้านบาท โดย จีน ยังมีการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด จำนวน 1,747 หน่วย คิดเป็น 46% มูลค่า 8,191 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คนต่างชาติทั้งหมด และน่าสังเกตว่าในปีนี้ รัสเซียมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10% คิดเป็นมูลค่า 1,364 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้าพม่าปีนี้มีแนวโน้มเข้ามาซื้ออสังหาฯไทยต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาส 1/66 มีสัดส่วนการโอนแล้ว 2% มูลค่า 497 ล้านบาท
ทั้งนี้ตลาดต่างชาติในปีนี้ยังมีความน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าตามหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ชลบุรี, กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, หัวหิน และระยอง มีลูกค้าต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่อง ขณะที่บางทำเลยังมีความต้องการสูงกว่าสัดส่วนขายต่างชาติที่ 49% ซึ่งที่ผ่านมา REIC ก็มีการนำเสนอให้รัฐขยายสัดส่วนการขายให้ลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นในทำเลยอดนิยมของลูกค้าต่างชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายอสังหาฯ และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศตามระบบการซื้อขายที่ถูกต้องและช่วยกระจายเม็ดเงินให้ประชาชนในทำเลนั้นๆ ด้วย
ด้านสินเชื่อปล่อยใหม่ทั่วประเทศ พบว่า ไตรมาส 1/66 มีมูลค่า 152,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 ที่มีจำนวน 143,571 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าสินเชื่อคงค้างทั่วประเทศจำนวน 4,775,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีจำนวน 4,539,391 ล้านบาท