6 แนวทางการออกแบบที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง
โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด
สวัสดีครับสมาชิก “TerraBKK” เข้าสู่หน้าหนาวกันแล้ว เป็นไงกันบ้างครับกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่หน้าหนาวช่วงปลายตุลาคมที่ผ่านมา หนาวกันไหมครับ
ก่อนส่งท้ายปลายปี 2566 หลายคนอาจจะอยากปรับปรุงที่พักอาศัย หรือกำลังเลือกซื้อที่อยู่อาศัยกัน โดยเฉพาะคนที่มีสัตว์เลี้ยง ทีม “LWS” เลยอยากแนะนำแนวทางการเลือกที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง จากข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย และกรมปศุสัตว์ สรุปว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมดประมาณ 15 ล้านตัว โดยจำนวนสุนัขประมาณ 9 ล้านตัว เพิ่มจากปี 2562 ที่มีทั้งหมดประมาณ 2 ล้านตัว และจำนวนแมวประมาณ 3 ล้านตัว เพิ่มจากปี 2562 ที่มีทั้งหมดประมาณ 8 แสนตัว
ในขณะที่การสำรวจของทีมวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ “LWS” ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่าในปี 2565 มีโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งสิ้น 5,663 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4,394% จากจำนวน 157 ยูนิต ในปี 2561 สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในแบบ “pet humanization” หรือที่เรียกว่า พฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก หรือเป็นสมาชิกของครอบครัว จากการคาดการณ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569
จากแนวโน้มดังกล่าว “LWS” มีข้อแนะนำสำหรับการเลือกซื้ออาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ว่าควรจะมีการออกแบบอย่างไร และการเลือกใช้วัสดุอย่างไรที่เป็นมิตรกับเจ้าของและตัวสัตว์เลี้ยง โดยมี 6 แนวทางในการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อสัตว์เลี้ยงได้แก่
1. เลือกใช้วัสดุพื้นที่ทนทานต่อการขีดข่วนและไม่ลื่นจนเกินไป
เนื่องจากสุนัขและแมวมีเล็บที่แหลมคม หากวิ่งไปมาจะทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนวัสดุพื้นได้ และพื้นที่ลื่นเกินไปจะทำให้สุนัขและแมวมีปัญหาการบาดเจ็บบริเวณข้อสะโพกในระยะยาว ดังนั้นวัสดุพื้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก วัสดุที่เหมาะสมนำมาใช้ เช่นพื้น SPC หรือ พื้นไวนิล ที่ทนต่อการขีดข่วน กันน้ำได้และไม่ลื่น
2. การออกแบบผนังที่มีการลบมุมเพื่อป้องกันการวิ่งชนบาดเจ็บ
การออกแบบผนังควรจะมีการออกแบบที่ลบมุมเพื่อป้องกันการวิ่งชนบาดเจ็บ พร้อมกับเลือกใช้สีที่มีสารอินทรีย์ระเหยต่ำ (Low VOCs) ปลอดภัยต่อทางเดินหายใจสัตว์เลี้ยงและผู้อยู่อาศัย และใช้สีที่เช็ดทำความสะอาดคราบเปื้อนได้ง่าย
3. ออกแบบระบบระบายอากาศที่เหมาะสม
ในตอนกลางวันที่ร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะหน้าร้อน สัตว์เลี้ยงอาจเกิดอาการ heat stroke ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ การระบายอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยติดตั้งพัดลมเพดาน ควบคู่กับพัดลมดูดอากาศ ให้เกิดอากาศหมุนเวียนที่เพียงพอ นอกจากจะช่วยเรื่องอุณหภูมิแล้วยังเป็นการระบายกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย
4. ติดตั้งระบบ Home Automation
บ้านพักอาศัยหรืออาคารชุดพักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ควรออกแบบให้มีการติดตั้งกล้อง IP Camera เครื่องวัดอุณหภูมิ ความชื้น และติดตั้ง wifi universal remote controller ในการควบคุมการเปิดปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม โดยทั้งหมดนี้สามารถควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือของเจ้าของได้เมื่อไม่อยู่บ้าน เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง
5. ออกแบบพื้นที่ห้องชุดให้มีโซนสัตว์เลี้ยงที่ระบายอากาศได้ดี
นอกจากพื้นที่นอนและเล่นแล้ว ไม่ว่าจะสุนัขหรือแมวล้วนต้องการพื้นที่วางกะบะสำหรับขับถ่าย ซึ่งควรอยู่ในจุดที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น เพื่อลดการสะสมของกลิ่นและเชื้อโรค
6. ควรออกแบบระเบียงให้มีความปลอดภัย
มีอุบัติเหตุแมวตกจากระเบียงอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นระเบียงจึงควรติดตั้งตาข่ายหรือระแนงที่มีความถี่มากพอ หรือมีช่องว่างเล็กกว่าขนาดหัวของแมว และมีความสูงจรดเพดาน
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงพื้นฐานในการออกแบบพื้นที่ จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ให้มีความพร้อม ปลอดภัย และลดการสะสมของเชื้อโรค ซึ่งสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดก็อาจมีความต้องการพิเศษที่แตกต่างกันออกไปก็สามารถนำแนวทางทั้ง 6 แนวทางไปปรับใช้เพื่อความเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดนะครับ สนใจศึกษาข้อมูลหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม คลิ๊กเข้าไปอ่านและส่งคำถามได้ที่ www.lws.co.th กันนะครับ
แล้วพบกันใหม่เดือนธันวาคม เราจะมาดูกันว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 เป็นอย่างไรกันบ้างแล้วปีหน้า 2567 จะมีปัจจัยบวกปัจจัยลบอะไรกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเตรียมรับมือกันครับ