ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า ESG มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เริ่มให้ความสำคัญกับ ESG แม้กระทั่งในวงการลงทุนที่มีการบังคับให้บริษัทต่างๆ ทำรายงาน ESG ประจำปีเคียงคู่ไปกับรายงานประจำปี โดย ESG เป็นตัวย่อมาจากคำสามคำคือ Environment (E),  Social (S), และ Governance (G) โดยมีแนวคิดมาจากในสมัยก่อนบริษัทต่างๆ ก็จะสนใจแต่การบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลกำไรและรายได้เป็นหลัก และให้ความสนใจผลกระทบในด้านอื่นๆ น้อย จึงมีการออกแนวทางให้บริษัทต่างๆ หันมาสนใจในมิติอื่นๆ มากขึ้น

โดย ESG นั้นแบ่งเป็น 3 มิติ คือ ใน ด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment) เน้นไปที่ผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงาน การกำจัดของเสีย การลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลภาวะแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดต้นทุน อีกด้วย

มิติด้านสังคม (S-Social) มุ่งเน้นไปที่ผลการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การดูแลพนักงาน การดูแลลูกค้า สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของชุมชน การสนับสนุนและพัฒนาชุมชน ซึ่งจะช่วยในการดูแลพนักงาน รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

มิติด้าน ธรรมมาภิบาล (G-Governance) มุ่งไปที่การจัดการและนโยบายของบริษัทให้มีความโปร่งใส จริยธรรม และมีการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ มีการกำกับกิจการที่ดี ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร และจากนักลงทุน

โดยในปัจจุบัน สามารถหาข้อมูลผลประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ได้จาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://setsustainability.com/libraries/1282/item/set-esg-ratings) โดยในปี 2566 มีบริษัทได้รับการประเมินทั้งสิ้น 193 บริษัท แบ่งเป็นระดับ AAA จำนวน 34 บริษัท ระดับ AA จำนวน 70 บริษัท ระดับ A จำนวน 64 บริษัท และ ระดับ BBB จำนวน 25 บริษัท

ซึ่งบริษัทที่สามารถรายงานเรื่องเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้นและมีมาตรฐานความยั่งยืนที่สูงขึ้น ซึ่งการให้ความสำคัญกับ ESG ก็เป็นตัวสะท้อนอีกด้านหนึ่งของความมั่นคงของกิจการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรนั้นๆ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบริหารรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นองค์กรที่ประสิทธิภาพในการบริหารในด้านอื่นๆ อีกด้วย