4 นวัตกรรมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดี
โดย
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด
สวัสดีปีมังกรทอง 2567 ครับเพื่อนสมาชิก TerraBKK เริ่มต้นศักราชใหม่ หลายคนก็เริ่มวางแผนชีวิตว่าจะทำอะไรในปีใหม่ อะไรที่วางแผนไว้แต่ไม่ได้ทำในปีที่แล้ว ก็ยกกันมาทำในปีนี้ และหลายท่านก็ปรับแผนกันไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป วางแผนอะไรกันมั้งก็อย่าลืมส่งมาเล่าให้กันอ่านนะครับแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์กันครับ
สำหรับเปิดศักราชปีมังกรทอง ผมนำเรื่องราวของนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีหรือ Well-being Residence มาแบ่งปันให้สมาชิกได้อ่านกันครับเพราะปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตของเรามีสุขภาวะที่ดีได้ง่ายๆ โดยผมจะขอแนะนำ 4 นวัตกรรมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ครับ
1.สภาพอากาศที่ดีด้วยระบบระบายอากาศแบบ Active : เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านที่อบอ้าวและอากาศไม่ถ่ายเทด้วยหลักการระบายอากาศ รวมทั้งการถ่ายเทความร้อนจากตัวบ้านและโถงหลังคา ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่สะสมความร้อนระหว่างวันมากที่สุดของบ้าน โดยจะเป็นการดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาแทนที่อากาศร้อนภายในบ้าน และปล่อยอากาศร้อนให้ลอยตัวและระบายออกทางหลังคาบ้าน ซึ่งระบบระบายอากาศแบบ Active นี้จะช่วยให้บ้านเย็นลงได้ 2-5 องศา รวมทั้งยังสามารถช่วยกรองฝุ่น PM2.5 ได้สูงสุดถึง 99.6% และสามารถช่วยในการประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นได้มากถึง 86%
2.ระบบ Smart Irrigation Systems : ในปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัย จะออกแบบให้ที่อยู่อาศัยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ช่วยกรองอากาศภายในโครงการและที่พักอาศัย หรือการจัดทำพื้นที่สำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวในโครงการเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถนำมาบริโภคได้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลระบบนิเวศน์ต่างๆ ภายในโครงการจะช่วยประหยัดคนและประหยัดเวลาในการทำงาน เช่น การตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดน้ำในการใช้ได้ถึง 20-50% หากเทียบกับการรดน้ำด้วยมือ หรือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ได้แก่ การปรับอุณหภูมิในพื้นที่เพาะปลูก การปรับแสงสว่างให้เหมาะสมกับพันธุ์ไม้ ทำให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการและลดอัตราการสูญเสียในกระบวนการเพาะปลูก
3.ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) : ปัจจุบันทุกโครงการที่พักอาศัยมีระบบรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นที่เป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น การใช้กล้องวงจรปิด (CCTV), เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และ ระบบเข้าออกอาคารด้วยระบบสแกน บัตร นิ้วมือ หรือใบหน้า โดยเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ต่อยอดระบบการรักษาความปลอดภัย ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการจดจำใบหน้า (Face Recognition) จากการสแกน เพื่อจำแนกประเภทของบุคคล และจำนวนของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่นการเพิ่มการทำงานของระบบปรับอากาศตามพื้นที่ที่มีคนอยู่เยอะ และลดการทำงานของระบบปรับอากาศในพื้นที่อื่น ๆ ลง
4.นวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัย : จากการที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งต่อตนเอง และครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยภายในบ้าน การมีเทคโนโลยีเพื่อติดตาม หรือคอยแจ้งเตือนเรื่องสุขภาพจึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพของตัวเราและครอบครัวให้ง่ายขึ้น ซึ่งตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพ มีดังนี้
-
- เซ็นเซอร์อินฟราเรดที่คอยตรวจจับอุณหภูมิของร่างกาย – เป็นระบบที่มีการวางเซ็นเซอร์ตรวจวัดด้วยกล้องอินฟราเรด จากรังสีของร่างกาย ที่แผ่ออกมา แล้วแปลงเป็นอุณหภูมิ และสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนได้หากอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินกว่าค่าปกติ จากงานวิจัยพบว่าหลังจากเกิดการระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ หรือ COVID-19 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกตามสถานที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมเพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า ได้มีการปรับแนวทางในการเข้าใช้พื้นที่อาคาร ด้วยเซ็นเซอร์อินฟราเรด กันมากขึ้น
- เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว - การหกล้มเป็นสาเหตุหลักในการบาดเจ็บของผู้สูงอายุ จากการรวบรวมข้อมูลของ CDC (Center for Disease Control and Prevention) พบว่าประมาณ 30-40%ของผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับบาดเจ็บจากการหกล้มอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และเป็นหนึ่งในเรื่องที่สมาชิกในครอบครัวกังวลเป็นอย่างมากเมื่อผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง โดยระบบแจ้งเตือนแบบเก่านั้น จำเป็นต้องมีปุ่มเพื่อกดขอความช่วยเหลือ แต่เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่ติดตั้งภายในบ้านจะสามารถตรวจจับการล้ม จากแรงกระแทกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วผิดปกติ โดยระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลืออัตโนมัติหากผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
- ระบบติดตามสุขภาพ - เป็นการใช้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่น วัดอุณหภูมิรายวัน ติดตามนัดหมายการรักษา เป็นต้น เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้สามารถติดตามความเข้มข้นของออกซิเจน ความดันโลหิต รวมถึงข้อมูลการหายใจ และส่งผลการวิเคราะห์การใช้ชีวิตประจำวันให้ผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์ที่เราใช้กันเป็นประจำไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือนาฬิกา Smart watch จากผลการวิจัย เกี่ยวกับการสวมใส่อุปกรณ์ติดตามสุขภาพ พบว่า อุปกรณ์สวมใส่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยช่วยให้ผู้คนสามารถติดตามสุขภาพของตนเองได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมั่นในข้อมูลสุขภาพที่ได้จากอุปกรณ์สวมใส่ แต่อุปกรณ์สวมใส่ยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน
- หุ่นยนต์ตรวจสุขภาพของผู้อยู่อาศัย - ในปัจจุบันบริษัท Pillo Health ได้พัฒนาหุ่นยนต์ด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถให้การดูแลส่วนบุคคลได้ โดยสามารถตอบคำถามทางการแพทย์ การสั่งยา และการติดต่อทีมแพทย์หากจำเป็น หุ่นยนต์เหล่านี้มาพร้อมกับซอฟต์แวร์จดจำเสียงและใบหน้า เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ใช้ และวินิจฉัยทางการแพทย์เบื้องต้นได้
ทั้ง 4 นวัตกรรมเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การอยู่อาศัยมีสุขภาวะที่ดีและสะดวกสบายขึ้นตอบโจทย์กับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันและอนาคต โดยปัจจุบันนวัตกรรมเหล่านี้มีให้เลือกหลากหลายในระดับราคาที่เหมาะสม ตามกำลังทรัพย์ของผู้ซื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการอยู่อาศัยให้มีคุณภาพและสุขภาวะที่ดี และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะยกระดับตัวเอง จากการเป็นผู้พัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยสู่การเป็นผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะที่ดี ให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการอยู่อาศัยของผู้คนในสังคม และเป็นหนึ่งในเช็คลิสต์ที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องมีไว้สำหรับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและอนาคต
แล้วพบกันใหม่ในเดือนแห่งความรักนะครับ
สวัสดีครับ