•  
  • ในช่วงเทศกาลสินค้าที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะมีราคาที่ปรับเพิ่มกว่าช่วงปกติ แต่เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้ามีทิศทางที่ปะปนกันเมื่อเทียบกับปีก่อน กลุ่มเครื่องเซ่นไหว้หลักอย่าง เนื้อสัตว์และส้ม มีแนวโน้มราคาปรับลดลง จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่สินค้าบางตัวก็มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง จากสภาพอากาศที่แปรปรวน      
  • ทิศทางราคาสินค้ามงคลช่วงตรุษจีนปี 2567 พบว่า ราคาส้มอาจปรับลดลงมาอยู่ที่ 47 บาท/กก. หดตัว 17.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่ระดับ 56.5 บาท/กก.) เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตส้มออกสู่ตลาดมาก ทำให้ระดับราคาย่อตัวลงจากปีก่อน

ราคาทองคำแท่งในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34,500-35,000 บาท เติบโตราว 15.0-16.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่ระดับ 30,100 บาท) จากการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของ FED และการทยอยสะสมทองคำเพิ่มของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ท่ามกลางความกังวลจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

  • จากแบบสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2567 ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากกลุ่มตัวอย่าง 310 คน วันที่ 6 -17 มกราคม 2567 พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 55 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยมีกิจกรรมหลักที่ทำคือ จัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้ (ร้อยละ 25) แจกอั่งเปา (ร้อยละ 25) และทำบุญ/ท่องเที่ยว/กินข้าวนอกบ้าน (ร้อยละ 21) ตามลำดับ

ในมุมของผู้บริโภค บรรยากาศการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2567 น่าจะให้ภาพที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ อาจเติบโตได้ราว 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งนอกจากจำนวนคนที่เข้าร่วมเทศกาลตรุษจีนจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีแรงกระตุ้นบางส่วนจากมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E–Receipt)

  •  โดยจากผลสำรวจ พบว่า คนกรุงเทพฯ ราว 50% สนใจใช้สิทธิจากมาตรการ Easy E–Receipt ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ โดยเฉพาะการจับจ่ายสินค้าในกลุ่มของใช้ภายในบ้าน เครื่องเซ่นไหว้และกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้ อาทิ การออกใบกำกับภาษี หรือมีโปรโมชั่นด้านราคา เป็นต้น
  • ส่วนในฝั่งของผู้ประกอบการ บางส่วนได้เตรียมพร้อมและพยายามปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับพฤติกรรมการบริโภคและกำลังซื้อที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม อาทิ เพิ่มสัดส่วนของกลุ่มสินค้าเซ่นไหว้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กเหมาะกับครอบครัวเดี่ยว พื้นที่น้อยหรือมีวิถีชีวิตสังคมเมือง ซึ่งสอดรับไปกับผลการสำรวจที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องการลดการเผากระดาษ/จุดรูป รองลงมาคือ หันไปใช้ธูปที่มีควันน้อย และปรับขนาดเครื่องเซ่นไหว้ลงในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตามลำดับ