ส่องเทรนด์ Pet Parent “เลี้ยงสัตว์เหมือนลูก” ชี้ทาสหมา-แมว จ่ายค่าเลี้ยงดู 41,000 ต่อตัวต่อปีเลบทีเดียว
ส่องเทรนด์ Pet Parent ในไทยล่าสุดปี 2567 ข้อมูลจาก The 1 Insight และ CRC VoiceShare พบว่าตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา จำนวนการเลี้ยงสัตว์ในบ้านมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงในทุกๆ ปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ยอดขายโตแตะ 14%
โดยผู้เลี้ยงสัตว์ในบ้านมีแนวโน้มเป็นกลุ่มมีฐานะและเป็นกลุ่มลูกค้ามูลค่าสูง (High-value users: HVUs) โดย 65% เป็นกลุ่ม Pet Parent ที่มีพฤติกรรมเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก มีค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวเฉลี่ยถึง 1-2 หมื่นบาทต่อปี โดยพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ตามแต่ละช่วงวัย พบว่า Gen Y ขึ้นแท่นทาสแมวอันดับ 1 ส่วน Gen Z ใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเติบโตสูงสุด 46% สำหรับเทรนด์ธุรกิจเพื่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่กำลังมาแรง อาทิ อาหารสัตว์เกรดโฮลิสติก และ Pet Wellness Center บริการดูแลและรักษาสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร
เมื่อพิจารณาด้านพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวนั้นคิดเป็น 63 % ของยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ทั้งหมด เพราะสินค้าสำหรับแมวมีความหลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของเหล่า Pet Parent กว่าสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ โดยสินค้าที่มียอดขายสูงสุดในทุกหมวดสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารและขนมสำหรับแมว ทรายแมว และห้องน้ำแมว นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการขยายตัวของจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic อาทิ ปลา กระต่าย และนก เป็นต้น สะท้อนผ่านตัวเลขการใช้จ่ายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง Exotic ที่เติบโตสูงกว่า 50% ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวเติบโตอยู่ที่ 8% ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขเติบโตอยู่ที่ 6%
ขณะที่กลุ่มแบรนด์ยอดนิยม ได้แก่ วิสกัส เพดดิกรี สมาร์ทฮาร์ท สมาร์ทเตอร์ และมีโอ ส่วนเทรนด์ Pet Parent ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้เลี้ยงสัตว์บางกลุ่มเริ่มให้ความสำคัญและลงทุนกับ "อาหารสัตว์เกรดโฮลิสติก" ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาวมากกว่า แบรนด์ในกลุ่มนี้จึงมียอดขายเติบโตกว่า 20 เท่าในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโอริเจน คานาแกน โยร่า แฮปปี้ ด็อก นูเทรียนซ์ เป็นต้น โดยแบรนด์เหล่านี้มักพบได้ใน ‘ร้านขายของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ’
สำหรับพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ในบ้าน พบว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่า 65% เลี้ยงสัตว์เหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว หรือที่เรียกว่า Pet Parent ในขณะที่ 33% เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา และ 2% เลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัดเยียวยาจิตใจ โดยสัตว์เลี้ยงยอดนิยมยังคงเป็นไปตามคาด
อันดับ 1 เลี้ยงสุนัข 63%
อันดับ 2 เลี้ยงแมว 49%
อันดับ 3 เลือกเลี้ยงสัตว์ Exotic 12%
สำหรับสัตว์เลี้ยง Exotic ที่เป็นที่นิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ปลา กระต่าย และนก นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้เลี้ยงในไทยยังคงได้สัตว์เลี้ยงมาจากการซื้อจากร้านหรือฟาร์ม ยกเว้นเหล่าทาสแมว ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 50% ที่ได้สัตว์เลี้ยงมาจากการรับอุปการะแมวจรจัด การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับเทรนด์ “Adopt, Don’t Shop” ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกที่ทั้งองค์กรและคนดังต่างร่วมกันรณรงค์ให้คน ‘รับเลี้ยง’ สัตว์จรจัดมากกว่าการ ‘ซื้อ’ จากฟาร์ม
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละช่วงวัยกับพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ พบว่า ในภาพรวมคน Gen Z เลี้ยงสุนัขมากที่สุด มีการใช้จ่ายเติบโตสูงสุดจากทุกช่วงวัยถึง 46% ส่วน Gen Y มีสัดส่วนผู้เลี้ยงแมวสูงสุดจากสัตว์ทุกชนิด เพราะเป็นช่วงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและนิยมในการอาศัยอยู่คอนโดฯ การเลี้ยงแมวจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวสำหรับคนรักสัตว์ในวัยสร้างตัว ในส่วนของ Gen X มีสัดส่วนผู้เลี้ยงปลาและนกสูงสุดจากสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เสริมให้บ้านมีชีวิตชีวาได้โดยไม่สร้างภาระให้ผู้เลี้ยงมากนัก อีกทั้งยังอาจช่วยเสริมความสิริมงคลตามความเชื่อได้อีกด้วย และ Baby Boomer นั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์น้อยที่สุดจากทุกช่วงวัย
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันยังใช้จ่ายกับ "บริการ" เพื่อสัตว์เลี้ยงต่างๆ ในทุกเดือน โดยบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับได้แก่
อันดับ 1 บริการอาบน้ำ-ตัดขน-สปา
อันดับ 2 บริการรับฝากเลี้ยง
อันดับ 3 บริการสระว่ายน้ำและสถานที่ออกกำลังกาย
โดยกว่า 65% ของผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการใช้บริการ ‘Pet Wellness Center’ หรือบริการดูแลและรักษาสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร ที่มีพร้อมทั้งการดูแลทั่วไปไปจนถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยผ่อนภาระให้ผู้เลี้ยงสามารถฝากดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงแสนรักได้อย่างไร้กังวลเมื่อมีเหตุจำเป็น มีผู้เลี้ยง 40% ที่ต้องการให้มี ‘คลินิกเฉพาะทาง’ มากขึ้น และ 27% ที่ต้องการให้มี ‘Pet Park สถานที่ออกกำลังกาย’ มากขึ้น โดยที่บริการเหล่านี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก เมื่อประกอบกับเทรนด์ Pet Parent ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นโอกาสของธุรกิจสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมถึงภาคอสังหาฯ ที่จะใช้ช่องว่างช่วงชิงโอกาสเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ Pet Parent ที่มีกำลังซื้อสูงในตอนนี้ นับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจทีเดียว
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่คาดว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนของการต่อยอดรูปแบบการเลี้ยงดูในมิติของ Pet Humanization เข้าสู่ Petriarchy และ Pet Celebrity ที่หนุนบทบาทให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาทต่อตัวต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายจากอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ค่าดูแล รวมถึงอาหารที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้กระแสของ Pet Humanization และ Petriarchy แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจพัฒนาบทบาทจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่สามารถยกระดับจาก “สมาชิกในครอบครัวปกติ” เป็น “สมาชิกในครอบครัวที่สามารถสร้างรายได้” ผ่านรูปแบบลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในสังคมวงกว้าง หรือ Pet Celebrity และถูกพัฒนาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) เมื่อมีการนำเสนอนิสัยหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงนั้นผ่านการเล่าเรื่องหรือการสร้าง Content โดยเจ้าของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ถูกยกระดับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (Petfluencer) ที่สามารถสร้างรายได้ผ่าน Content ต่าง ๆ ที่เจ้าของได้สรรสร้างเพื่อนำเสนอให้กลุ่มผู้ติดตาม ทำให้นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์และค่าดูแลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ยังมีความถี่ในการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงในลักษณะเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) แบบทั่ว ๆ ไป
ขณะที่ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และ บริการรักษาสัตว์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการเติบโตจากกระแสรูปแบบการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ขยายตัวโดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าตลาดย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 17.0% สอดคล้องกับบริการรักษาสัตว์ที่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจากความตระหนักในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และต้องรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงที่ประหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้มูลค่าบริการรักษาสัตว์เติบโตต่อเนื่องที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (CAGR) ที่ 21.7% ด้วยมูลค่า 6.64 พันล้านบาท ในปี 2567