ไมโครพลาสติก ภัยคุกคามที่เข้าสู่ร่างกายและส่งผลร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัว!
ในปัจจุบัน พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าอย่างแก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอด เครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งเสื้อผ้าก็มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน และหลายคนอาจไม่ทราบว่า เมื่อพลาสติกผ่านการใช้งานไปนานๆ เกิดการสึกหรอ และย่อยสลายจากสภาพแวดล้อม ตัวพลาสติกจะกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดจิ๋วที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ทั้งยังเป็นตัวการทำให้เกิดอันตราย เพราะไมโครพลาสติกที่เล็กจิ๋วนี้สามารถปนเปื้อนและแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายของเราได้ ไม่ว่าจะผ่านการกิน หรือการหายใจโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว! เพื่อตระหนักและหาแนวทางป้องกันปัญหาเหล่านี้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับไมโครพลาสติกและผลกระทบของไมโครพลาสติกเมื่อเข้าสู่ร่างกายกัน
ไมโครพลาสติก คืออะไร
ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร อาจเปรียบเทียบได้ว่ามีขนาดเล็กกว่าเม็ดข้าวสาร โดยเกิดจากการสึกกร่อนและการย่อยสลายของพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น เสื้อผ้าใยสังเคราะห์ ถุงพลาสติก โฟมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมากๆ ไมโครพลาสติกจึงสามารถแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ดิน อากาศ ทั้งยังสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้จากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม นับเป็นภัยคุกคามที่อันตรายทั้งต่อระบบนิเวศทั้งบนบกและทางทะเลเลย
ผลกระทบของไมโครพลาสติกเมื่อเข้าสู่ร่างกาย
รู้หรือไม่ ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งอากาศที่เราหายใจ และยังเข้าสู่ร่างกายเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัว และเมื่อสะสมอยู่ในร่างกายในระยะยาว อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ ดังนี้
- กระทบต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ
เพราะไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปสะสมที่อวัยวะสำคัญต่างๆ ได้ เช่น การสะสมของไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อตับ อาจนำไปสู่ปัญหาการทำงานของตับที่เป็นอวัยวะหลักในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย การสะสมของไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อปอด อาจก่อให้เกิดการอักเสบและอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจได้ หรือการสะสมของไมโครพลาสติกในสมองและเยื่อหุ้มสมอง อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและการทำงานทางสมอง เป็นต้น
- ผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร
สำหรับไมโครพลาสติกที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภค ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สามารถทำลายเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นบริเวณสำคัญในการดูดซึมสารอาหารและวิตามิน เสี่ยงต่อการอุดตันในทางเดินอาหาร ท้องผูก ท้องอืด อีกทั้งการสะสมของไมโครพลาสติกในร่างกายยังมีแนวโน้มจะรบกวนสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการย่อยอาหารและนำไปสู่โรคทางเดินอาหารต่างๆ เช่น โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ได้อีกด้วย
- ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย จะถูกระบบภูมิคุ้มกันจัดให้อยู่ในกลุ่มของสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดออก ซึ่งหากมีการสะสมไมโครพลาสติกในร่างกายเป็นเวลานาน จึงอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนัก จนอาจนำไปสู่โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะภูมิแพ้ และภาวะอักเสบเรื้อรังได้ อีกทั้งไมโครพลาสติกบางชนิดยังเป็นต้นเหตุของสารพิษต่างๆ เช่น สารบิสฟินอล เอ (Bisphenol A) และไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride) ที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้นั่นเอง
- ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์
ไมโครพลาสติกบางชนิด มีคุณสมบัติรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งนับเป็นระบบสำคัญที่ควบคุมการสร้างและปล่อยฮอร์โมนต่างๆ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง การรบกวนนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะสารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) และสารฟทาเลต (Phthalate) (ตรวจพบในไมโครพลาสติกหลายชนิด) ที่ส่งผลกระทบลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของเพศชาย และยังรบกวนความสมดุลของฮอร์โมนในเพศหญิง ซึ่งอาจส่งผลต่อรอบเดือนและการตกไข่ได้นั่นเอง
แม้ว่าไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายเราในแต่ละวันจะมีปริมาณไม่มาก แต่หากมองภาพรวมในระยะยาว อาการต่างๆ ที่เป็นผลจากการสะสมของไมโครพลาสติกในร่างกายก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้น การหาทางป้องกันและลดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่เราควรให้สำคัญ เริ่มตั้งแต่การลดใช้พลาสติก เลือกซื้ออาหารที่ไม่ได้บรรจุหรือหุ้มด้วยพลาสติก เพื่อลดการได้รับไมโครพลาสติกที่อาจปนเปื้อนมาจากบรรจุภัณฑ์ หลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก เพราะความร้อนอาจทำให้พลาสติกสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกได้ รวมถึงการเลือกใช้เครื่องกรองน้ำ ประสิทธิภาพสูง ที่สามารถกรองสารปนเปื้อนและกรองไมโครพลาสติกได้ เป็นต้น เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของเราไปพร้อมกัน