เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ผนึกสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทยหนุน SROI ชวนภาคธุรกิจวัดผลกระทบทางสังคม สร้างผลลัพธ์ควบคู่ความยั่งยืน
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ "FPT" ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกของประเทศไทยปูทางภาคเอกชนยกระดับการดำเนินงานเพื่อสังคม มุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน เปิดความสำเร็จ 2 โครงการคุณภาพ “C-asean Samyan CO-OP” และ “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” ต้นแบบการดำเนินงานเพื่อสังคมที่สร้างผลลัพธ์ผ่านการประเมินตามแนวทาง SROI หวังสร้างมาตรฐานใหม่ให้ภาคธุรกิจ พร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสาริษฐ์ ไตรโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและแบรนด์ดิ้ง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้นำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของธุรกิจมาพัฒนาโครงการเพื่อสังคม และให้ความสำคัญกับการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI (Social Return on Investment) เพราะช่วยยกระดับการสร้างคุณค่าให้สังคม โดยบริษัทฯ นับเป็นผู้นำของภาคเอกชนในการวัดผลกระทบเชิงลึกจากการดำเนินงานเพื่อสังคม ที่ผ่านมาได้ส่ง C-asean Samyan CO-OP พื้นที่แห่งการแบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน เข้าประเมิน SROI พบว่า ทุกการลงทุน 1 บาทในโครงการก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคม 3.5 บาท และล่าสุดกับโครงการ “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” ที่สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคม 4.5 บาท หรือให้ผลตอบแทนจากการลงทุน 4.5 เท่า
โครงการ “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” เป็นกิจกรรมรับบริจาคโลหิตที่จัดในพื้นที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการมาตั้งแต่พ.ศ. 2563 เป็นการสนับสนุนการจัดหาโลหิตในช่วงโควิด-19 สำหรับเป็นโลหิตสำรองคงคลังให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ และเดินหน้าโครงการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
“บริษัทฯ สามารถระดมโลหิตให้กับสภากาชาดไทยได้ถึง 5,543,350 ซีซี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการวางระบบที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการให้ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า ส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือให้ข้อมูลการรับบริจาคโลหิตสำหรับผู้ที่เคยมาบริจาคแล้ว ขณะที่ในวันงานจะมีพนักงานอาสาของบริษัทฯ มาสอบถาม คัดกรอง และให้คำแนะนำการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่สนใจ ทำให้ยอดผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิตแต่ไม่สามารถบริจาคได้มีจำนวนลดลง และช่วยเพิ่มปริมาณโลหิตให้กับสภากาชาดไทยอีกด้วย” นายสาริษฐ์กล่าวเสริม
การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนสำหรับโครงการ “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” สามารถสร้างคุณค่าทางสังคม ได้ดังนี้
1. ผู้บริจาคโลหิต: ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ทำให้รับรู้สัญญาณของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพระยะยาว
2. อาสาสมัคร: มีความภูมิใจในชีวิตและการทำงาน ได้เสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ทั้งการสื่อสาร การจัดการกิจกรรม และการทำงานเป็นทีม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายทางสังคม
3. ร้านค้าหรือชุมชนรอบข้าง: มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการเยี่ยมชมและการใช้จ่ายในพื้นที่ รวมถึงมีความสุขจากการร่วมทำบุญสมทบกับการรับบริจาคโลหิต
4. ศูนย์บริการโลหิต: มีปริมาณโลหิตเพิ่มขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหากต้องลงทุนในการหาและจัดหาโลหิตเอง
5. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย: เกิดความภักดีต่อองค์กรของพนักงาน พร้อมขยายการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง
นอกจากนั้น การดำเนินงานยังเชื่อมโยงและตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จากการช่วยเพิ่มการเข้าถึงโลหิต มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวม และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของภาคธุรกิจ องค์กรด้านสุขภาพ องค์กรทางสังคม และรัฐบาล ในการสนับสนุนการบริจาคโลหิตจากประชาชนด้วยความสมัครใจ
นางสาวสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการและเลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย ให้ข้อมูลว่า การประเมิน SROI จะทำให้ทราบถึงผลกระทบในทุกมิติที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพการดำเนินงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสื่อสารประเด็นด้านผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ โดยผลการประเมินของโครงการสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและปรับปรุงโครงการที่ดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ให้เกิดศักยภาพในการแก้ปัญหาและช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคม
“โครงการมิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กันของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยเป็นการรับบริจาคโลหิตที่รุกเข้าหากลุ่มเป้าหมาย พร้อมด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานอาสาในการร่วมดูแลสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริจาคโลหิตรูปแบบแบบเดิม ๆ แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของการดำเนินงานที่สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมไปให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถเป็นโมเดลให้กับหน่วยงานอื่นในการต่อยอดหรือขยายผลต่อไปได้" นางสาวสกุลทิพย์กล่าวปิดท้าย