“ActiveScore” มาตรฐานการพัฒนาอาคารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
โดยนายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด
ผ่านช่วงสงกรานต์กันมาแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ปรับโหมดชีวิตเข้าสู่การทำงานในเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยอากาศยังร้อนแถมยังมีฝุ่น PM 2.5 ทำให้หลายคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพกันนะครับ พอเขียนเรื่องสุขภาพทำให้ผมคิดถึงมาตรฐานการพัฒนาอาคารเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ActiveScore ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานการประเมินอาคารที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างการสนับสนุนให้เกิดการเดินทาง (Active Travel) หรือการเดินทางในลักษณะที่ทำให้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดินหรือปั่นจักรยาน โดยมีรายละเอียดในเรื่องของความหลากหลายของประเภทจักรยาน รูปแบบพื้นฐานการเดินทางทั่วไปของมนุษย์อย่างเช่นการเดินและการวิ่ง หรือการเดินทางในรูปแบบใหม่ ๆ อย่าง สกู๊ตเตอร์ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Segway Sketch board ประกอบกับการให้ความสำคัญในด้านของความยั่งยืน ไม่เกิดผลกระทบด้านมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม
แนวคิดในการพัฒนาโครงการในแบบ ActiveScore ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ต้องใช้อาคารให้มีกิจกรรมในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี ลดการก่อเกิดโรคที่ไม่ติดต่อประเภทที่เรียกว่า NCDs (Non-Communicable Diseases) ซึ่งนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และมะเร็งหลายชนิด โดย 27.1% ของการเกิดโรคในกลุ่มนี้มีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ
แนวคิดเรื่องการประเมินอาคารแบบ ActiveScore ถูกจัดตั้งครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2017 และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในปัจจุบันมีโครงการกว่า 450 โครงการใน 15 ประเทศทั่วโลกที่เข้ารับการประเมินจาก ActiveScore โดยการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิด ActiveScore เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ช่วยแก้ปัญหากลุ่มอาคารอันเป็นส่วนที่ย่อยลงมาจากองค์ประกอบของผังเมือง อีกทั้งใบรับรองยังช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่สนับสนุนในเรื่องของความยั่งยืน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และเงินทุนสนับสนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยที่จะผลักดันไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissionโดยเกณฑ์ ActiveScore นั้นจะมีแนวทางการประเมินที่แตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของอาคาร โดยแบ่งตามประเภทอาคารดังนี้
- อาคารสำนักงาน หรืออาคารเชิงพาณิชย์ (Commercial / Office)
- ที่พักอาศัย(Residential)
- ค้าปลีก (Retail)
- อาคารสาธารณะ (Public Cycle Hubs)
- อาคารขนาดใหญ่ (Large Scale Development)
- โรงแรม(Hotels)
- สถานศึกษา (Education)
โดยการประเมินอาคาร ActiveScore จะให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลักได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): 70%
ปัจจัยในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้ใช้อาคารอาคารสามารถเข้าถึงได้ อย่างเช่น ที่แขวนจักรยาน ที่เก็บของ ห้องอาบน้ำ ระบบการนำทาง เป็นต้น
- บริการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้อาคาร (Occupier Engagement Service / Soft Measure) : 20%
ปัจจัยในด้านการบริการสำหรับผู้ใช้งานอาคารอย่างเช่น บริการซักล้าง หรือซ่อมบำรุงอุปกรณ์ การช่วยเหลือในด้านเดินทาง
- การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Proofing): 10%
ปัจจัยในด้านการเตรียมความพร้อมและกลยุทธ์การรองรับสำหรับอนาคต
การประเมินอาคาร ActiveScore ประกอบไปด้วย 18 หัวข้อได้แก่
- พื้นที่สำหรับการจอดรถจักรยาน สกู๊ตเตอร์ ฯลฯสำหรับผู้ใช้อาคาร (Location of occupant active travel parking)
- พื้นที่สำหรับจอดรถจักรยานของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมอาคาร (Location of visitor cycle parking)
- สัดส่วนของพื้นที่จอดรถจักรยานในแต่ละชั้น (Proportion of cycle parking to floor area)
- สัดส่วนพื้นที่ว่างสำหรับจอดรถจักรยานต่อผู้ใช้อาคาร (Proportion of cycle parking to occupancy)
- ความหลากหลายของการรองรับรถประเภท Active Travel (Variety)
- การเข้าถึง เส้นทางการเข้าถึงและการค้นหาเส้นทาง (Access, Routes, and Wayfinding)
- การรักษาความปลอดภัยและแสงสว่าง (Security and Lighting)
- การออกแบบรูปลักษณ์และการใช้งาน (Look and Feel)
- ล็อกเกอร์และที่เก็บของ (Locker and Storage)
- พื้นที่สำหรับอาบน้ำ (Showers)
- ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและสิ่งอำนวยความสะดวก (Changing rooms and amenities)
- พื้นที่สำหรับการทำให้แห้ง/การตากแห้ง (Drying/Airing provision)
- มีพื้นที่สำหรับการบำรุงรักษาและซ่อมแซม (Maintenance and repair station)
- การบริการให้เช่าจักรยาน/สกู๊ตเตอร์ (Hire and pool bicycle/scooter schemes)
- บริการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้อาคาร (Occupier Engagement Service)
- ข้อมูลและการสื่อสาร (Information and communication)
- การสร้างชุมชน (Community Building)
- แผนการรองรับพัฒนาในอนาคต (Future Proofing)
ในแต่ละหัวข้อนั้นจะมีน้ำหนักคะแนนที่แตกต่างกันออกไป และเกณฑ์ ActiveScore ยังแบ่งระดับขั้นของคะแนนออกเป็นหลายระดับโดยระดับสูงที่สุดจะอยู่ที่ 100 คะแนนในระดับ Platinum 100
ประโยชน์ของการประเมินเกณฑ์ ActiveScore
การประเมินเกณฑ์ ActiveScore นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ใช้อาคารเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ยังสร้างผลประโยชน์โดยรอบโดยเริ่มต้นตั้งแต่ผู้ใช้อาคารที่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้การขนส่งสาธารณะ เป็นผลทำให้นักพัฒนาสามารถเพิ่มมูลค่าของอาคารมากขึ้นจากการรับรองการประเมินและในด้านความยั่งยืน ในแง่ของผู้ประกอบการจะช่วยทำให้พนักงานมีสุภาพที่ดี มีอัตราการเจ็บป่วยที่น้อยลง รวมถึงเป็นสวัสดิการในเชิงบวกอีกด้วย สุดท้ายผลประโยชน์เหล่านั้นจะช่วยสร้างสังคมมวลรวมที่มีคุณภาพทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ สร้างอากาศที่บริสุทธิ์มากขึ้นจากการลดการใช้การเดินทางที่ทำร้ายบรรยากาศ
ภาพแสดงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมินเกณฑ์ ActiveScore
โอกาสสำหรับการพัฒนา ActiveScore ในประเทศไทย
การประเมินเกณฑ์อาคาร ActiveScore โครงการในประเทศนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น จราจรที่ติดขัดและมลภาวะทางอากาศ โดยการสนับสนุนการเดินทางแบบ Active Travel จะช่วยลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว และการพึ่งพาจากการขนส่งสาธารณะได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีภูมิอากาศอากาศร้อนชื้นที่เอื้อต่อการเดิน การวิ่ง และการปั่นจักรยาน ไม่มีภัยพิบัติร้ายแรงบ่อยครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีปัญหาในการพัฒนาภายใต้เกณฑ์อาคาร ActiveScore เนื่องจากประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยกับการเดินทางแบบ Active Travel โดยเฉพาะในส่วนของความปลอดภัยบนทางถนน ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเดินทางแบบ Active และตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกิจกรรม เช่นการท่องเที่ยวโดยการใช้จักรยาน วิ่งมาราธอน เป็นต้น จากผลสำรวจของเว็บไซต์ Booking Holding 2021 Sustainability ระบุว่านักท่องเที่ยวกว่า 73% เลือกที่พักอาศัยที่มีความยั่งยืน และ 66% เชื่อมั่นว่าความยั่งยืนมีผลกระทบกับชุมชนรอบข้างในแง่บวกโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในเชิงกิจกรรม
ดังนั้นการนำเกณฑ์ประเมินอาคารภายใต้มาตรฐาน ActiveScore จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการผลักดันประเทศไทยในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น ช่วยสนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาโครงการเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการคมนาคม เป็นการสร้างความยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมแบบรอบด้าน นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่ผมว่าแต่ละจังหวัดในประเทศไทยสามารถนำแนวทางการพัฒนาภายใต้มาตรฐาน ActiveScore มาใช้ได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างชุมชนที่สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีของผู้คนในสังคม
แล้วพบกันใหม่เดือนมิถุนายน ครับ