เลือกตั้งอินโดนีเซียหนุนเศรษฐกิจไตรมาส 1/2024 โตสูงกว่าคาดที่ 5.1%YoY ทั้งปี 2024 มองเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 5.0%
- เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 1/2024 ขยายตัว 5.1%YoY โตสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 4.9%YoY (Bloomberg consensus) (รูปที่ 1) จากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นอย่างมาก 19.9%YoY รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง 4.9%YoY สาเหตุหลักมาจากปัจจัยหนุนชั่วคราวในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี การใช้จ่ายช่วงเทศกาลรอมฏอนและงบประมาณอุดหนุนผู้บริโภครายได้น้อยที่เข้ามาในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยขยายตัวที่ 0.5%YoY เป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงส์ของคู่ค้าเป็นหลัก (รูปที่ 2) โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
- ปัจจัยชั่วคราวที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ได้แก่ 1) งบประมาณเพื่อลดภาระด้านการใช้จ่ายและบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อให้แก่ประชาชนรายได้น้อย จะทยอยสิ้นสุดลงตั้งแต่เดือน มี.ค. ไปจนถึงเดือน มิ.ย. อาทิ การแจกข้าวสาร 10 กิโลกรัม/ครัวเรือน ให้แก่ 22 ล้านครัวเรือน ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2023 จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.2024 และงบประมาณช่วยเหลือค่าครองชีพรวมเป็นวงเงิน 11.25 ล้านล้านรูเปียห์ (711.8 ล้านดอลลาร์ฯ) ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2024 โดยแจกเงินให้แก่ครัวเรือนรายได้น้อย 18.8 ล้านครัวเรือน เดือนละ 2 แสนรูเปียห์/ครัวเรือน 2) ปัจจัยด้านเทศกาลกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ก.พ. และการใช้จ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลรอมฏอนในเดือน มี.ค.
-
- การส่งออกและการลงทุนเติบโตอย่างจำกัด การส่งออกในไตรมาส 1/2024 ขยายตัวต่ำที่ 0.5%YoY ตามการอ่อนแรงของเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกเป็นโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนเพื่อรอติดตามผลการเลือกตั้งทำให้การลงทุนในไตรมาสแรกเติบโต 3.79% YoY
- สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2024 เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรก โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การบริโภคมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากการสิ้นสุดมาตรการภาครัฐและผลจากปัจจัยของฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ที่ 3.0% ในเดือน เม.ย.
- การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะยังหดตัวเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งการส่งออกไปจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมแล้วมีสัดส่วนถึง 40% ของการส่งออกของอินโดนีเซียทั้งหมด
- นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนมีข้อจำกัดมากขึ้น จากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียจะยังคงอยู่ในระดับสูงโดยคงไว้ที่ 6.25% เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ แต่ถ้าหากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟดอยู่ในระดับสูงนานขึ้นอาจกดดันให้ BI ต้องพิจารณามาตราการเพิ่มเติม สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.0% ทั้งนี้ ยังต้องติดตามแนวนโยบายของนายปราโบโว ซูเบียนโต ที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.2024 ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะมีบทบาทเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีถัดไป
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.