เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ผู้รักสัตว์เลี้ยง เข้าใจลูก ๆ ตัวน้อยของคุณมากขึ้น

Photo by Origin Play Sri Lasalle Station Sale Gallery

 

ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับน้อง ๆ ที่น่ารักในแต่ละสายพันธุ์นั้น เรามีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์ Pet Humanization ที่เป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมากันก่อน

Pet Humanization เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความผูกพันระหว่างสัตว์เลี้ยงและมนุษย์มากขึ้น เกิดจากที่คนยุคใหม่ครองตัวเป็นโสด หรือคู่แต่งงานต้องการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นสมาชิกในครอบครัวแทนการมีลูก เนื่องจากทัศนคติของสังคมต่อสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไป ผู้คนส่วนมากตอนนี้มองสัตว์เลี้ยงของตนไม่เพียงแค่เป็นสัตว์ แต่เป็นเพื่อนร่วมชีวิตที่มีความต้องการทางอารมณ์และสิทธิในแบบเดียวกับมนุษย์

ในปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น จากความต้องการเดินทางสะดวกติดรถไฟฟ้าเชื่อมถึงกลางเมือง ใกล้พื้นที่ทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว แต่ยังคงมีความต้องการที่จะเลี้ยงสัตว์ในคอนโด ซึ่งปัจจุบันหลายโครงการนั้นยังไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ และยังไม่มีฟังก์ชั่นที่รองรับเพียงพอสำหรับสัตว์เลี้ยง

เรามาดูกันว่าสัตว์เลี้ยงประเภทไหนมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมเหมาะสำหรับการเลี้ยงในคอนโดกันบ้าง

อย่างที่เราหลายคนคงรู้กันดีว่า สัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือน้องหมาและน้องแมว ซึ่งน้อง ๆ แต่ละชนิดแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป น้องแมวสามารถเลี้ยงในคอนโดมิเนียมได้ไม่ต้องกังวลเรื่องขนาด สายพันธุ์ และน้ำหนักมากนัก แต่ในส่วนของน้องหมานั้นมีหลากหลายพันธุ์และขนาด โดยขนาดของน้องหมาที่เหมาะสมจะเลี้ยงในพื้นที่ขนาดเล็กอย่างคอนโดมิเนียมจะเป็นน้องหมาขนาดจิ๋วและน้องหมาขนาดเล็ก

น้องหมาขนาดจิ๋ว โดยทั่วไปน้ำหนักของพวกเขาจะไม่เกิน 4 กิโลกรัม ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ยกตัวอย่างสายพันธุ์ขนาดจิ๋ว เช่น

  • มอลทีส หนัก 3–4 กก. สูง 7–9 นิ้ว

  • ชิวาวา หนัก 1–4 กก. สูง 6–12 นิ้ว

  • ปอมเมอเรเนียน หนัก 1.3–3.1 กก. สูง 6–7 นิ้ว

  • ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย หนัก 1–3 กก. สูง 7.8–8.6 นิ้ว

ควรระมัดระวัง : เรื่องกระดูก รวมถึงฟัน ไม่ควรให้อาหารชิ้นใหญ่หรือย่อยได้ยาก เพราะระบบย่อยอาหารไม่แข็งแรง ควรมีการออกกำลังกายเล็กน้อยเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดี

ชิวาวา น้องหมาขนาดจิ๋ว Photo by Origin Play Sri Lasalle Station Sale Gallery

น้องหมาขนาดเล็ก เป็นอีกหนึ่งขนาดที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในคอนโด โดยทั่วไป น้ำหนักของพวกเขาจะอยู่ในช่วง 5–10 กิโลกรัม ยกตัวอย่างสายพันธุ์ขนาดเล็ก เช่น

  • ปั๊ก หนัก 6–8 กก. สูง 10–13 นิ้ว

  • คอร์กี้ หนัก 10–12 กก. สูง 10–12 นิ้ว

  • เฟรนช์ บูลด็อก หนัก 7–12 กก. สูง 10–13 นิ้ว

  • บีเกิ้ล หนัก 10–11.3 กก. สูง 13–15 นิ้ว

ควรระมัดระวัง : น้ำหนักตัวกดทับบริเวณข้อกระดูกต่าง ๆ และ ควรลดการกระทบกระเทือนจากการออกกำลังกายหนัก ๆ ไปยังส่วนขาและกระดูกสันหลัง

เฟรนช์ บลูด็อก น้องหมาขนาดเล็ก Photo by Origin Play Sri Lasalle Station Sale Gallery

VCA Animal Hospital กล่าว “Dogs are basically social animals that enjoy the company of their peers.”

รู้หรือไม่ ? ว่าต้นกำเนิดน้องหมามาจากป่า !!

หลายงานวิจัยกล่าวว่าน้องหมามีต้นตระกูลที่มาจากสุนัขป่า จึงมีพฤติกรรมที่เฉลียวฉลาด รู้จักการเอาตัวรอด การเข้าสังคมกับฝูง และการปรับตัวเข้าสังคมกับคน ทำให้มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อใช้งานในยุคเริ่มแรก จนแพร่หลายไปทั่วโลกและเกิดเป็นหลากหลายสายพันธุ์ สะท้อนเป็นพฤติกรรมที่ต้องการพื้นที่พักผ่อนที่มีขนาดกว้างเพื่อวิ่งเล่นในแนวราบ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ให้เค้าได้หายใจสะดวก ไม่ปีนป่ายเหมือนแมว

พื้นที่ในการพบปะกับน้องหมาตัวอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการเข้าสังคมจึงสำคัญ แต่ด้วยสัญชาตญาณของน้องหมา บางตัวอาจจะใช้ปัสสาวะเป็นการบอกอาณาเขต บางตัวอาจมีการเห่าและขู่ จึงควรเตรียมการในแง่ความสะอาดและความปลอดภัยของพื้นที่เหล่านี้

น้องหมาวิ่งเล่นในพื้นที่เปิดโล่ง

ถ้าเช่นนั้น สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของน้องหมา ต้องเป็นอย่างไรกันนะ ?

มาฟังคำแนะนำของคุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อกัน…

  • พื้นที่สำหรับพักผ่อน นอนหลับ กิน ควรมีความสงบและเป็นส่วนตัวมีแสงสว่างเข้าถึง เพื่ออุณหภูมิที่หลากหลาย เป็นพื้นที่แห้งและสะอาดเพื่อสุขอนามัย

  • พื้นที่ขับถ่าย โดยปกติจะปัสสาวะประมาณ 6 ครั้งต่อวัน และ ถ่าย 1–3 ครั้งต่อวัน คือ หลังกินอาหาร หรือดื่มน้ำ หลังการเล่น หลังการตื่นนอน

  • พื้นที่เล่น ควรมีพื้นที่ให้ผ่อนคลาย มีระยะในการหมุนตัวและระยะวิ่ง น้องหมาขนาดเล็กต้องการการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับขนาดตัว เช่น วิ่งเล่น, เล่นของเล่น, การวิ่งเบา ๆ ของเล่นที่มีลักษณะ Interactive จะช่วยพัฒนาทักษะของน้อง ๆ ได้ดี แต่ไม่ควรให้มีการกระโดดเพราะจะทำให้เกิดปัญหาข้อต่อหรือปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่งการออกกำลังกาย จะช่วยลดความเครียด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ และยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตของน้องไม่ให้ก้าวร้าว และปัญหาด้านอารมณ์อีกด้วย

ของเล่นของน้องหมาที่เหมาะสมควรเป็นของเล่นขบเคี้ยวเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

ของเล่นของน้องหมา

ส่วนทาสแมวไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักของน้อง ๆ

เพราะส่วนใหญ่ในแต่ละสายพันธ์ุจะมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน แต่ว่าสิ่งที่แตกต่างกันจะขึ้นอยู่กับความยาวของขน โดยเหล่าทาสของน้องแมวขนสั้นหายกังวลเรื่องนี้ไปได้เลย ยกตัวอย่างสายพันธุ์น้องแมวขนสั้น เช่น

แมวที่มีขนสั้น

  • บริติช ชอร์ตแฮร์ หนัก 4–7 กก.

  • อเมริกัน ชอร์ตแฮร์ หนัก 3–5 กก.

  • สฟิ้งซ์ หนัก 3–6 กก.

  • วิเชียรมาศ หนัก 3–4 กก.

สฟิ้งซ์ น้องแมวพันธุ์ขนสั้น

แมวที่มีขนยาว

ส่วนน้องแมวขนยาวจะมีเรื่องการดูแล สภาพอากาศที่เหมาะสมและการออกแบบที่อยู่สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้น ยกตัวอย่างสายพันธุ์น้องแมวขนยาว เช่น

  • สก๊อตติช โฟลว์ หนัก 6–8 กก.

  • เปอร์เซีย หนัก 3–5 กก.

  • เมนคูน หนัก 3–8 กก.

  • แร็กดอลล์ หนัก 4–9 กก.

เมนคูน น้องแมวพันธุ์ขนยาว

ข้อควรระมัดระวังสำหรับน้องแมว : คือเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เป็นได้โดยกำเนิด หรือภายหลังที่เกิดจากการผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ จึงต้องคอยสังเกตอาการ ดูแลคุณภาพอาหาร และความเครียดของน้อง ๆ เพราะมักจะพบในแมวพันธุ์ดังกล่าว และโรคผิวหนังสำหรับแมวพันธุ์สฟิ้งซ์ เนื่องจากผิวหนังที่ไม่มีขนทำให้ไวต่อแสง

ส่วนน้องแมวขนยาวมีข้อควรระวังเป็นพิเศษ เพราะน้องแมวกลุ่มนี้ต้องการการดูแลเรื่องขน คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเรื่องโภชนาการที่มีคุณสมบัติบำรุงขน แปรงขนเพื่อป้องกันขนร่วง และหมั่นเช็คท่อระบายน้ำที่อาจจะมีปัญหาการอุดตันของขน ยังมีเรื่อง อุณภูมิเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะวิธีระบายความร้อนของแมวคือการหอบ หรือปล่อยความร้อนที่อุ้งเท้าซึ่งไม่เหมือนคนที่สามารถระบายความร้อนผ่านผิวหนังและเหงื่อได้อย่างรวดเร็ว

ต้นกำเนิดของน้องแมว

สัญชาตญาณมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนิสัยแมว น้องแมวนั้นเป็นทายาทของ โปรไอลูรัส (Proailurus) เหล่าน้องในยุคแรกเริ่มเป็นนักล่า มีกรงเล็บที่ช่วยปีนป่าย เพื่อหนีขึ้นต้นไม้ให้ปลอดภัย หรือปีนขึ้นที่สูงเพื่อนอนรอเหยื่อ ส่งทอดมาถึงปัจจุบัน น้องแมวยังคงรักการปีนป่ายพื้นที่แนวตั้ง เมื่ออยู่บนที่สูงก็จะรู้สึกปลอดภัย และสังเกตการณ์ได้ง่าย

คุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อกล่าวว่า

“พฤติกรรมของแมว จะชอบยืดเหยียด กระโดดขึ้นที่สูง มุด พุ่งตัว และเป็นที่น่าสังเกตว่าแมวบางตัวไม่สามารถเล่นรวมกับแมวตัวอื่นได้”

โดยระยะของพฤติกรรมที่สำคัญสำหรับน้องแมว มี 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ ระยะยืดตัว 29–36 เซนติเมตร ระยะกระโดด 150–180 เซนติเมตร และ ช่องระเบียง กว้างไม่เกิน 5 เซนติเมตร

สำหรับน้องแมว สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรบ้าง ?

คุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อแนะนำว่าพื้นที่ของน้องแมวต้องเป็นพื้นที่ที่สะอาดและจะมีรายละเอียดที่มากกว่าน้องหมา

  • พื้นที่เล่น เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและบริเวณสำหรับการผ่อนคลายที่ใหญ่ที่สุดของแมว ต้องเป็นที่ที่สามารถวิ่งแข่งรอบ ๆ ซ่อน หรือเกาะอยู่บนที่สูงได้ จะช่วยให้แมวสนุกเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องกว้างเหมือนน้องหมาก็เพียงพอต่อการออกกำลังกาย

  • พื้นที่อาหาร ต้องเป็นบริเวณที่เงียบสงบ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ห้องรับประทานอาหารหรือบริเวณที่อาจมีการรบกวน ควรแยกพื้นที่การวางน้ำและอาหารไม่ให้อยู่ใกล้กัน และห่างจากกระบะทราย

  • พื้นที่พักผ่อน นอนหลับกระจายตัวขึ้นอยู่กับแสงแดดและแหล่งความร้อนตามธรรมชาติ น้อง ๆ ชอบนอนที่สูง และมักเลือกพื้นที่ที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด “ยิ่งมีความเป็นส่วนตัว จะสามารถลดความเครียด” ความกังวลได้

  • บริเวณขับถ่าย ต้องวางกระบะทรายในบริเวณที่เงียบสงบและแมวเข้าถึงได้ตลอดเวลาและต้องเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันความเครียดเช่นเดียวกัน


เรารู้ไหมว่าน้องหมาน้องแมวมองเห็นไม่เหมือนเรานะ ?

นอกจากเรื่องพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีเรื่อง “การรับรู้สี”ของดวงตาน้อง ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ คน น้องหมา และน้องแมวแล้ว จะเห็นว่าความสามารถในการรับรู้สีมีไม่เท่ากัน

การทำงานของเซลล์จอตารูปกรวย สามารถดูดกลืนความยาวคลื่นของแสงของเซลล์เม็ดสี 3 ชนิด ได้แก่ สีแดง สีฟ้า และสีเขียว ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นสีอื่น ๆ ได้ และสามารถจำแนกแสงแต่ละสีได้

ในดวงตาของสุนัขและแมวมีเซลล์รูปกรวยอยู่เพียงแค่ 2 ชนิด ทำให้มองเห็นภาพต่างๆ เป็นโทน สีเทา สีเหลือง และ สีฟ้า แต่จะบกพร่องในการมองเห็นสีแดงและสีเขียว

การรับรู้สีระหว่างสัตว์(บน) และคน(ล่าง) Photo by thehoundproject.com

สีแนะนำที่มีผลต่อความรู้สึก จึงเป็นสีในโทน สีเทา ซึ่งเป็นสีกลางที่น้อง ๆ รับรู้ได้หลัก ๆ

  • สีเหลืองกระตุ้นให้น้อง ๆ มีความ active

  • สีฟ้าและสีที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติจะทำรู้สึกเงียบสงบ ผ่อนคลาย

ภาพจำลองการมองเห็นของคน น้องหมา และน้องแมว ตามลำดับ Photo by How Pets See Your Home By HomeAdvisor

อีกเซลล์ที่มีความสำคัญกับน้องหมาและน้องแมว คือ เซลล์รูปแท่ง น้องแมวมีจำนวนเซลล์จอตารูปแท่งมากกว่ามนุษย์ถึง 6 เท่า ในขณะที่น้องหมามีจำนวนมากกว่ามนุษย์ 4 เท่า น้อง ๆ จึงต้องการแสงสว่างสำหรับการมองเห็นในปริมาณน้อยกว่าที่คนต้องการ เพราะฉะนั้นสีที่ควรเลี่ยง คือสีที่ขาวสว่าง หรือสีที่เกิดการเรืองแสง

การมองเห็นของคน (บน) เมื่อเทียบกับแมว (ล่าง) photo by LiveSience

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่คงรู้เเล้วว่า น้อง ๆ สัตว์เลี้ยงตัวน้อยของเรา ต่างมีความต้องการ ความชอบที่แตกต่างกันไป เรามีความเชื่อว่า สัตว์เลี้ยงของทุกคนเปรียบเสมือนคนในครอบครัว รูปแบบที่อยู่อาศัย จึงต้องเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงให้มากยิ่งขึ้น

แนวคิดในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่เหมาะสม เพื่อตอบรับกับความต้องการในการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงจึงเกิดขึ้น


ขอขอบคุณรูปภาพจาก       

: Website thehoundproject

: Website LiveScience

: Website HomeAdvisor