ด้วยความมุ่งมั่นของไอคอนสยาม แลนด์มาร์กระดับโลกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในการเชิดชูวัฒนธรรมและประเพณีไทยให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลก จึงต้อนรับเทศกาลลอยกระทงอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ด้วยการจัด “นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ” เพื่อเชื่อมโยงประเพณีไทยเข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลายของนานาประเทศ โดยถ่ายทอดเรื่องราวอัตลักษณ์อันโดดเด่นจากแรงบันดาลใจของสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ผ่านกระทงไทย  “นิทรรศการกระทงนานาชาติ” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยเชิญสถานเอกอัครราชทูต 15 ประเทศ ได้แก่ ชิลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เปรู, โปรตุเกส, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สาธารณรัฐเกาหลี, เม็กซิโก, เนปาล และเวียดนาม มาร่วมเนรมิตไอเดียถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ รังสรรค์เป็นผลงานจัดแสดงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ระหว่างวันที่ 2 - 17 พฤศจิกายน 2567 ณ​ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม

โดยความพิเศษของนิทรรศการกระทงนานาชาติในปีนี้ รังสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิด Upcycled Kratong หรือกระทงรักษ์โลก โดยนำแรงบันดาลใจจากงานเทศกาลของ 15 ประเทศ มาสร้างสรรค์เป็นกระทงไทยที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยฝีมือนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ โชว์ความงดงามบนฐานกระทงจากฝีมือของศิลปินนักทำโมเดลชาวไทย โดยเกือบทุกองค์ประกอบทำขึ้นจากการนำวัสดุเหลือใช้หลากหลายประเภทจากโครงการ 360 Waste Journey to Zero Waste ของไอคอนสยามมารีไซเคิลและอัพไซเคิล เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ให้มีประโยชน์ ส่งต่อคุณค่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด  นับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรังสรรค์กระทงนานาชาติและรักษ์โลกไปพร้อมกัน ซึ่งในปีนี้สถานเอกอัครราชทูต 15 ประเทศ ได้นำสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของประเทศ และเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลสำคัญและประเพณีอันมีคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมานำเสนอ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีลอยกระทงของประเทศไทย ทำให้ประชาชนผู้เข้าชมรู้สึกราวกับว่าได้ไปเยือนเทศกาลที่น่าตื่นตาของประเทศต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อาทิ

ประเทศชิลี นำเสนอเทศกาล Tapati Festival เทศกาลเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบชาวเกาะดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์และความภูมิใจของชาวราปานุย (Rapa Nui) ซึ่งมีทั้งการแสดงเต้นรำและแข่งเรือแคนู สะท้อนถึงจิตวิญญาณและวิถีชีวิตท้องถิ่น พร้อมด้วยอาหารและดนตรีพื้นเมือง ที่สร้างสีสันแห่งความสนุกให้ทุกคนเต็มอิ่มไปด้วยความสุข นอกจากนี้โดยรอบกระทงยังตกแต่งด้วยโมอาย รูปปั้นหินเอกลักษณ์เกาะอีสเตอร์ สร้อยดอกไม้สีชมพูที่สื่อถึงความรักและความสุข รวมถึงนก Manutara นกศักดิ์สิทธิ์ของชาวราปานุย

สาธารณรัฐประชาชนจีน บอกเล่าเรื่องราวของเทศกาลไหว้พระจันทร์ หนึ่งในเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เป็นเทศกาลที่ผู้คนจะเดินทางกลับบ้านเกิดไปหาครอบครัวเพื่อจัดงานเลี้ยง ชมพระจันทร์และกินขนมไหว้พระจันทร์ร่วมกัน กระทงนี้จึงมีทั้งพระจันทร์ กระต่าย สัตว์เลี้ยงข้างกายของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ รวมถึงดอกโบตั๋น ดอกไม้มงคลของประเทศจีนที่สื่อความหมายถึงความรัก โดยเน้นโทนสีแดง-เหลืองทอง ซึ่งสื่อถึงความโชคดี ความสุขและความเป็นมงคล

ประเทศอินเดีย มาพร้อมเทศกาลนวราตรี (Navratri) ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่ชัยชนะขององค์พระแม่ทุรคาที่ปราบอสูรได้ (อวตารปางหนี่งของพระแม่อุมาเทวี) โดยจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน ตามระยะเวลาที่องค์พระแม่ทุรคาต่อสู้กับศัตรู และทั้ง 9 วันผู้คนจะร่วมกันบูชาพระแม่อุมาเทวี 9 ปาง รวมถึงสวดมนต์ ร้องเพลง และเต้นรำ Garba ซึ่งนักเต้นจะสวมชุดแต่งกายตามประเพณี และเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบดวงไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตและจิตวิญญาณ ท่ามกลางบรรยากาศที่ตกแต่งด้วยสีสันสวยงามจากดอกไม้และโคมไฟ

ประเทศอินโดนีเซีย นำความสวยงามของเทศกาลโคมลอยที่วัดโบโรบูดูร์ (Borobudur Temple) มาบอกเล่า โดยเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงวันวิสาขบูชา ณ วัดโบโรบูดูร์ บนเกาะชวาตอนกลาง ซึ่งเป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ในเทศกาลมีทั้งขบวนแห่เครื่องบูชา การสวดมนต์และการทำสมาธิ โดยจุดเด่นอยู่ที่การปล่อยโคมไฟนับพันดวงขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน พร้อมคำอธิษฐานและความหวังของผู้เข้าร่วมพีธี เพื่อสันติภาพ ความสามัคคี และการหลุดพ้นจากความทุกข์

ประเทศอิตาลี เลือกใช้ธีมเทศกาลดนตรีซานเรโม (Sanremo Music Festival) งานสำคัญทางวัฒนธรรมของอิตาลีซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในด้านการเฉลิมฉลองดนตรีมาออกแบบ โดยนำเวทีคอนเสิร์ต ถ้วยรางวัลสไตล์โมเสก และต้นปาล์มสัญลักษณ์ของเมืองซานเรโม มารวมไว้บนกระทง ซึ่งส่วนของโมเสกเป็นการระลึกถึงงาน “Mosaico – the Italian code of timeless art” ที่สถานฑูตอิตาลีร่วมกับมิวเซียมสยามจัดขึ้นในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลักที่ต้องการผสมผสานสองวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะและประเพณี ทั้งเทศกาลลอยกระทงของไทยและเทศกาลดนตรีซานเรโมของอิตาลี เข้าด้วยกัน

ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบขึ้นภายใต้หัวข้อ “Expo 2025 Osaka, Kansai” งานมหกรรมโลกซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายนถึง 13 ตุลาคม 2568 ณ เกาะยูเมชิมะ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีธีมหลักคือ “การออกแบบสังคมในอนาคตที่ชีวิตส่องประกาย” โดยได้นำ “เมียะคุเมียะคุ” มาสคอตของงาน สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์และน้ำ เปรียบดังดีเอ็นเอภูมิปัญญา เทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของมวลมนุษย์ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มาเคียงข้าง “น้องภูมิใจ” มาสคอตตัวแทน Thai Pavilion ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพ

ประเทศเปรู ชวนทำความรู้จักกับเทศกาล อินติไรมี (Inti Raymi) เทศกาลสำคัญของชาวเปรู ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระอินติ หรือพระเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่ชาวอินคาเคารพนับถือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี ณ เมืองคุสโก อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรอินคา โดยถือเป็นการเฉลิมฉลองวันครีษมายันและปีใหม่ของชาวอินคา เพื่อต้อนรับการกลับมาของดวงอาทิตย์ที่นำพาความอบอุ่นและแสงสว่างมาสู่การเพาะปลูก ในอดีตเทศกาลอินติไรมีเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่มีการถวายเครื่องสังเวยพระอาทิตย์และจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ แต่หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรอินคาก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

ประเทศโปรตุเกส นำเสนอเรื่องราวอันน่าสนใจของไก่บาร์เซลูส สัตว์ประจำชาติ และ Flower Festival โดยบนกระทงจะเห็นไก่บาร์เซลูสซึ่งมีรูปหัวใจด้านข้างลำตัวและช่วงหาง สื่อความหมายถึงโชคลาภ ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง ยืนเด่นอยู่ ส่วนดอกไม้หลากหลายสีสันที่รายล้อมตัวไก่นั้นสื่อถึงเทศกาลดอกไม้สุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมือง Madeira ซึ่งภายในงานจะมีทั้งขบวนพาเหรดดอกไม้ นิทรรศการดอกไม้ แข่งขันจัดดอกไม้  ตลาดดอกไม้ และทั่วทั้งเมืองจะตกแต่งด้วยดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์

ประเทศฟิลิปปินส์ นำแนวคิดและประเพณีของชาวฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า “bayanihanซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณแห่งชุมชน ความร่วมมือ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน มาจัดแสดงผ่านองค์ประกอบของเทศกาลเก็บเกี่ยวประจำปี Pahiyas ที่ประเทศฟิลิปปินส์จะเฉลิมฉลองทุกวันที่ 15 พฤษภาคม ในเมือง Lucban จังหวัด Quezon เพื่อเป็นเกียรติแก่ San Isidro Labrador นักบุญอุปถัมภ์คาทอลิกของชาวไร่ชาวนา การผสานเทศกาล Pahiyas เข้ากับประเพณีไทยอย่างลอยกระทง นับเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของฟิลิปปินส์และไทย และเป็นการเฉลิมฉลอง 75 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปีนี้ด้วย

ประเทศสหรัฐอเมริกา มาในธีมงานฉลองบอลลูนระดับโลก Albuquerque International Balloon Fiesta ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองอัลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก โดยจะฉลองอย่างยิ่งใหญ่ 9 วันเต็ม ด้วยการปล่อยบอลลูนพร้อมกันหลายร้อยลูกทุกวัน พร้อมด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงดนตรี การออกร้านขายอาหาร และความบันเทิงอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีขบวนพาเหรดบอลลูนสีสันสดใส พาเหรดรถประดับ และพิพิธภัณฑ์บอลลูน ฯลฯ นับเป็นงานเทศกาลที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความสวยงามและความหลากหลายของรัฐนิวเม็กซิโก

ประเทศฝรั่งเศส ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและฝรั่งเศส ด้วยการนำรูปปั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มาเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 340 ปี เมื่อครั้งที่พระยาโกษาธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฐานะคณะทูต และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ขณะที่อีกด้านจำลองสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อันโดดเด่นของฝรั่งเศส อาทิ หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประตูชัย รวมถึงโอลิมปิกบอลลูนและกระถางคบเพลิง เพื่อพาผู้ชมข้ามเวลาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

สาธารณรัฐเกาหลี ปีนี้นำกีฬาประจำชาติอย่าง “เทควันโด” ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีมานานนับพันปี  ก่อนกลายมาเป็นกีฬาระดับโลกที่ได้บรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2000 มานำเสนอ โดยยกเอาทั้งสนามแข่งและโพเดียมมอบรางวัลมาไว้บนกระทง พร้อมนำภาพของ “เทนนิส พาณิภัค” นักกีฬาเทควันโดระดับโลกสายเลือดไทย และโค้ชเช "ชัชชัย เช" หรือชื่อเดิม "ยอง ซอก เช" โค้ชเทควันโดชาวเกาหลีใต้ สัญชาติไทย มาไว้บนแท่นรับรางวัลที่ 1 เป็นการเชื่อมสองประเทศเข้าด้วยกัน

ประเทศเม็กซิโก โดดเด่นสะดุดตาด้วยสีสันสดใสของ Alebrijes (อเลบริเฆ่) ประติมากรรมพื้นบ้านรูปสิ่งมีชีวิตแฟนตาซีจากจินตนาการ ซึ่งมีต้นกำเนิดในเม็กซิโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 โดยทั่วไป Alebrijes จะทำจากไม้และแต่งแต้มด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ในสีสันสดใส แต่ทุกวันนี้ Alebrijes ถูกนำไปใช้ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์และการเฉลิมฉลองของชีวิตที่มักปรากฏในเทศกาลและขบวนพาเหรดต่าง ๆ นับเป็นศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินทั่วโลก และยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างประเพณีกับความทันสมัย ตัวแทนของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของประเทศเม็กซิโก

ประเทศเนปาล พาไปชมความงามของ สวยัมภูนาถ (Swayambhunath) หรือที่รู้จักในชื่อ "วัดลิง" สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาในกาฐมาณฑุ ซึ่งได้ชื่อเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดในเนปาล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งชาวพุทธและฮินดู โดยชาวเนปาลเชื่อว่าสถานที่นี้เกิดขึ้นเองเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน จากดอกบัวที่ผุดขึ้นกลางน้ำ ในสมัยที่กาฐมาณฑุยังเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ และด้วยความที่มีลิงอาศัยอยู่มากจึงได้ชื่อว่าเป็น "วัดลิง" ซึ่งด้วยความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมทำให้สวยัมภูนาถเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่งดงามของศิลปะโบราณของเนปาล

ประเทศเวียดนาม ปีนี้นำเสนอมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า “Múa Rối Nước” หรือหุ่นกระบอกน้ำ (Water Puppetry) หนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติที่สืบทอดมานานกว่า 1,000 ปี เป็นการละเล่นประกอบดนตรีพื้นบ้าน โดยจะมีผู้บังคับหุ่นให้โชว์บนผืนน้ำอย่างมีชีวิตชีวา ในฉาก “Thủy Đình” โบราณสถานอันสวยงามที่มักสร้างขึ้นบริเวณแหล่งน้ำหรือบ่อน้ำ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต วรรณกรรมพื้นบ้าน หรือตำนานท้องถิ่น นับเป็นกระทงที่สะท้อนงานหัตถศิลป์และมรดกทางวัฒนธรรมของเวียดนามได้อย่างดียิ่ง

มาเพลิดเพลินไปกับเทศกาลทั่วโลก พร้อมชมเอกลักษณ์ของประเทศต่าง ๆ ผ่าน “นิทรรศการกระทงนานาชาติ 15 ประเทศ” ที่ผนวกประเพณีไทยเข้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลายของนานาประเทศได้​ ณ ไอคอนลักซ์ อวเนิว ชั้น M ไอคอนสยาม โดยจัดแสดงให้ชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 พฤศจิกายน 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1338 และ Facebook: ICONSIAM