นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด
 

ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 11 ของปี 2567 กันแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ปีนี้เป็นปีที่ต้องยอมรับว่า “เหนื่อย” สำหรับภาคธุรกิจกันมาตลอดทั้งปี แต่ก็มีข่าวดีให้ได้ชื่นใจกันบ้างอย่างการลดอัตราดอกเบี้ย ที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของหลายๆ ท่านปรับลดลงกันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และแนวโน้มก็น่าจะปรับลดลงต่อเนื่องอย่างน้อย 0.25-0.5%

พูดถึงดอกเบี้ยทำให้ผมนึกถึงการออกตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้ที่เรียกว่า “กรีนบอนด์”!

“กรีนบอนด์” คือ อะไร?

“กรีนบอนด์ : Green Bond” ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ESG Bond ซึ่งประกอบด้วย

          - Green Bond ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด 

          - Social Bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น บริการสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา จัดหาอาชีพ สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย 

         - Sustainability Bond ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบทั้งในส่วนของ Green และ Social ​

จากนิยามข้างต้น “กรีนบอนด์” เป็นตราสารหนี้ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการระดมทุนนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนสัมพันธ์กับแนวทางในการลดโลกร้อน หรือ ก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถระดมทุนนำไปใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิตของธุรกิจที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการลดปริมาณขยะ และ มีส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ปกติการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ภาคธุรกิจระดมทุนโดยตรงจากประชาชน จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้จากสถาบันการเงินอยู่แล้ว ในขณะที่การออก “กรีนบอนด์” ในปัจจุบันภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยได้ต่ำกว่าเดิม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิต และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น “กรีนบอนด์” จึงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงแนวทางการพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวได้ในต้นทุนที่ถูกลงกว่าเดิม และ มีส่วนสำคัญที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับภาคธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

จากรายงานของ Climate Bonds Initiative ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 จนถึง ปี 2566 มีการออก ESG bond ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 870,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32,000,000 ล้านบาท) คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 300% และ 64% ของ ESG bond ทั่วโลกคือ กรีนบอนด์ หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 556,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,480,000 ล้านบาท

ในขณะที่ในปี 2567 ตามรายงานที่รวบรวมโดย Bloomberg ระบุว่า ยอดขายกรีนบอนด์หรือพันธบัตรที่ระดมทุนเพื่อโครงการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกสูงถึง 5.47 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ทุบสถิติเดือนกุมภาพันธ์ทุกปีที่ผ่านมา หลังจากขายไปได้ 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2567

สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการออก ESG bond เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนถึงปี 2566 มี มูลค่าการออก ESG bond ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 23,000 ล้านบาท เป็น 179,866 ล้านบาท หรือเติบโต 8 เท่าในช่วงเวลาเพียง 5 ปี และ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การออก Green Bond ในไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีมูลค่ารวม 85,300 ล้านบาท จาก 11 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 47% ของการออก ESG bond ทั้งหมด แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด และมากกว่า 50% ออกโดยบริษัทในกลุ่มพลังงาน ซึ่งประเมินว่าไทยต้องการเงินลงทุนในภาคพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 25% ภายในปี 2573 

ปริมาณการออกกรีนบอนด์ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมกับข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 และถูกนำมาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลไทย โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ธุรกิจอสังหาฯ กับ การออก “กรีนบอนด์”

ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่วัสดุที่นำมาใช้อย่างซีเมนต์ ที่มีผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระบวนการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดขยะและมลภาวะ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องมีการปรับกระบวนการก่อสร้างตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด

ถ้าภาคอสังหาฯ สามารถปรับกระบวนการก่อสร้างให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าไหร่ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ หรือ Net Zero ได้เร็วมากขึ้น

ตัวอย่างของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่นำแนวทางการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ที่เห็นได้ชัดคือ โครงการ One Bangkok

One Bangkok เป็นหนึ่งในโครงการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง โดยการลดขยะจากการก่อสร้าง ได้มากกว่า 75% โดยการนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล อาทิ การนำเทคโนโลยีบดย่อยเศษขยะคอนกรีตจากหัวเสาเข็มเพื่อนำไปสร้างผนังอาคารในโครงการฯ ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.94 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ 540 ต้น อีกทั้งยังมีการนำเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างมาผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงในอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการฯ

การรีไซเคิลขยะเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคของคนงานก่อสร้าง ให้กลายเป็นปุ๋ย ผ่านเครื่อง Food Waste Composter ทำให้สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 1.2 ตันคาร์บอนต่อวัน หรือ 367 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 40,815 ต้น

การรีไซเคิลน้ำเสีย ด้วยระบบบริหารจัดการน้ำอัตโนมัติที่สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำ ลดการใช้น้ำ (Reduce) และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำทำให้มีคุณภาพดีขึ้น Wastewater Treatment Plant (Recycle) และนำไปใช้ในส่วนต่างๆ อาทิ ระบบรดน้ำต้นไม้ภายในโครงการฯ และระบบชำระล้างของสุขภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการ One Bangkok เลือกใช้ระบบทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้น้ำอุณหภูมิต่ำจากระบบรวมศูนย์ ผ่านท่อใต้ดินไปยังแต่ละอาคาร ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้า 17,000  เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 9,000 ตันต่อปี

และยังนำเทคโนโลยีไอโอที (IoT) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและจัดการขยะรีไซเคิล ทำให้โครงการสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณขยะแบบเรียลไทม์ เพื่อนำเศษวัสดุที่เหลือใช้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตช่วยให้สามารถลดปริมาณขยะที่สะสม เป็นต้น

จากนวัตกรรมในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และ เทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ สามารถที่จะปรับปรุงกระบวนการก่อสร้าง ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยการลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างต่างๆ สามารถที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ โดยการออก “กรีนบอนด์” ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า การกู้ออกหุ้นกู้ปกติ และ การกู้จากสถาบันการเงิน

การปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างที่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อม และ สามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในอนาคตเมื่อ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชนอยู่ในขณะนี้ มีผลบังคับใช้ ภาคธุรกิจที่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าไหร่ ก็จะสามารถลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายได้มากเท่านั้น

ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จะคำนวณค่าใช้จ่ายจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณการเสียภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับปรุงกระบวนการก่อสร้าง และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทำงานได้ ก็จะลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติในกระบวนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  5-7 tCO2eq เท่ากับ เมื่อปรับกระบวนการก่อสร้างสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้ 1-2 tCO2eq เท่ากับว่าเราจะสามารถลดการจ่ายภาษีคาร์บอนลงจาก  5-7 tCO2eq เหลือ 3-4 tCO2eq ต่อปี เป็นต้น

ส่วนตัวผมมองว่า การปรับเปลี่ยนกระบวนการก่อสร้างไปสู่การเป็น “อสังหาฯ สีเขียว” ไม่ได้มีประโยชน์แค่การบริหารต้นทุนทางการเงินโดยการออก “กรีนบอนด์” หรือ การได้ลดภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงเท่านั้น แต่การก้าวสู่การเป็น “อสังหาฯ สีเขียว” เป็นการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ยั่งยืน ส่วนของต้นทุนต่างๆ ที่ถูกลงเป็นเพียงผลพลอยได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น

แล้วพบกันใหม่เดือนธันวาคมครับ