Toxic Positivity เมื่อการคิดบวกแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
โลกเราทุกวันนี้ มักมีแนวคิดที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้เรามีทัศนคติแบบ "ทัศนคติเชิงบวก" หรือ "คิดบวก" อยู่เสมอ ซึ่งมันอาจดูเหมือนเป็นวิธีที่ดีในการจัดการความเครียดและถอยจากปัญหาที่มีอยู่ตรงหน้าครับ
แต่เราเคยสังเกตไหมครับว่า บางครั้งการคิดบวกมากเกินไป อาจกลายเป็นกับดักที่ทำให้เราละเลยความเป็นจริงและพลาดโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้นะ
การมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายครั้งเวลาที่เราใช้แบบไม่เข้าใจ เช่น หากเรากำลังเผชิญกับความล้มเหลวในงาน การบอกตัวเองว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง" โดยไม่วิเคราะห์หรือปรับปรุงสิ่งที่ผิดพลาด อาจทำให้เราต้องเจอกับความล้มเหลวซ้ำๆ จนอาจพลาดโอกาสสำคัญที่จะเรียนรู้และเติบโตจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย
การคิดบวกแบบนี้ จะกลายเป็น "Toxic Positivity" หรือ การคิดบวกจนเกินไปทันที
"Toxic Positivity" นี้เอง จะหมายถึง การที่เราบังคับตัวเองหรือผู้อื่นให้มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ โดยไม่ยอมรับความรู้สึกด้านลบหรือปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งนี้สามารถทำให้เราห่างไกลจากความจริง ทำให้ความทุกข์ที่ถูกซ่อนไว้ไม่ได้รับการจัดการ และในระยะยาวอาจทำให้เรารู้สึกหมดพลังหรือเหนื่อยหน่าย
ดังนั้น แทนที่จะคิดบวกเพื่อหนีปัญหา ลองเปลี่ยนมุมมองเป็นการคิดอย่างสร้างสรรค์และเปิดใจรับความจริง การยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราคิดลบ แต่มันคือการให้โอกาสตัวเองได้เผชิญหน้าและแก้ไขมันอย่างแท้จริง ด้วยเทคนิคการตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ แบบนี้
1. ถามตัวเอง: ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร?
หลักสำคัญคือ ต้องลดอคติการเข้าข้างตัวเองลงด้วย เพื่อเปิดทางให้เราได้มองความเป็นจริงตามที่เป็น ไม่เช่นนั้น ซึ่งหลายครั้งอาจพบว่า บางปัญหาเกิดจากตัวเราเองก็เป็นไปได้
จากนั้นเมื่อพบปัญหาอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจแก้ (่Jump to solution) ทันทีครับ ให้ถามตัวเองต่อเรื่อยๆว่า ทำไมปัญหาตรงนี้ถึงเกิด สุดท้ายคุณจะเจอสาเหตุหลักที่เป็นดั่งรากแก้วของปัญหา และปัจจัยรายล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดปัญหานั้น และจะนำเราไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ดั่งที่ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า จงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสำรวจปัญหาให้ถ่องแท้ แล้วทางแก้จะไม่ได้ยากอย่างที่คิด
2. สำรวจหาทางออก: มีวิธีใดบ้างที่เราจะจัดการกับมันได้? โดยไม่ด่วนตัดสินว่าวิธีที่คิดได้นั้นดีและมีประสิทธิภาพมากพอไหม ลองลิสให้ได้มากๆ ไม่แน่เราอาจจะได้ไอเดียที่เป็นโซลูชั่นดี หากเราขัดเกลาปรัลแต่งให้เหมาะสมในภายหลัง นอกจากนี้ ไอเดียเหล่านี้ยังเป็นทางเลือกสำรองได้อีกด้วย หากทางเลือกลำดับแรกๆ ใช้ไม่ได้ จำไว้ว่า การแก้ไขปัญหาบางทีก็เป็นเช่น หลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น ที่เราเปลี่ยนตัวแปร ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเปลี่ยนไป
3. ขอความช่วยเหลือ: หากปัญหาเกินความสามารถ การพูดคุยหรือขอคำแนะนำจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะตัวเราเองอาจมองในมุมที่จำกัด ยิ่งเวลาเครียดแล้วสมองส่วนหน้าของคนจะถูกบล็อคทำให้คิดสร้างสรรค์ไม่ออก การหาคนช่วยจึงเป็นอีกทางเลือกที่ไม่น่าอายครับ
อย่าลืมว่า การคิดบวก หรือ การมีทัศนคติเชิงบวกที่ถูกต้องนั้น คนละเรื่องกับการหลอกตัวเอง แต่เป็นการมองหาแสงสว่างท่ามกลางความมืด ในขณะที่ยังยอมรับว่ามีความมืดอยู่ การอยู่กับความจริง รู้จักยอมรับความรู้สึก และลงมือแก้ไขปัญหา จะช่วยให้เราเติบโตและมีความสุขอย่างยั่งยืน
ขอให้ทุกคน จงใช้ทัศนคติเชิงบวกเป็นพลังในการก้าวผ่านมันอย่างชาญฉลาดนะครับ