เมื่อพูดถึงความหรูหรา คนส่วนใหญ่มักมองถึงความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นความหรูหราในรูปแบบดั้งเดิม (traditional luxury) ที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่อดีต แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงยุคปัจจุบันที่มีความตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น การลดการใช้ทรัพยากร การรักษาสิ่งแวดล้อม ความหรูหราในมุมมองแบบเดิมก็ดูเหมือนจะอยู่กันคนละขั้วกับความยั่งยืน จึงน่าสงสัยว่า ความหรูหราและความยั่งยืนจะสามารถไปด้วยกันได้หรือแล้วอย่างไร 

ในงานสัมมนา TERRAHINT Brand Series 2024 ที่จัดขึ้นในคอนเซ็ปต์ TERRAHINT Brand Series 2024 Luxury is a necessity in the sustainability era. #ชีวิตติดแกลม เจาะกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์สู่ความลักซ์ชัวรี ที่จัดขึ้นเพื่อจุดประกายทางความคิด สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งของเวทีนี้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Transitioning towards sustainability and the global market เจาะแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนและตลาดโลก” โดย ดร.เควิน ชอง (Dr. Kevin Cheong) Managing Partner, Syntegrate Destination Management Consulting และอดีต Former Commercial (Sales) Director, Sentosa Development Corporation ผู้คร่ำหวอดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวในหลายประเทศและเป็นผู้มีส่วนพัฒนาเกาะเซนโตซ่าในประเทศสิงคโปร์ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกที่รองรับผู้คนทุกระดับและยังเป็นผู้นำเรื่องความยั่งยืน ได้มาให้ทัศนะในเรื่องการผสานความหรูหราและความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ และเห็นผล

ความหรูหราของโลกยุคใหม่

ดร.เควิน เห็นด้วยว่าความหรูหราและความยั่งยืนสามารถไปด้วยกันได้ โดยต้องมีการตีความความหรูหราในมุมมองใหม่ โดยที่ผ่านมา ความหรูหราคือการใช้สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ขับรถหรูมียี่ห้อ เดินทางบนเครื่องบินชั้นเฟิสคลาส แต่ในตอนนี้และต่อไป ความหรูหรามันไม่ใช่แค่การใช้สินค้าแบรนด์เนม การใช้สินค้ามียี่ห้อ เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่มีฐานะหรือมีเงินมากเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ คือ “เวลา” ดังนั้นในมุมมองของ ดร.เควิน ความหรูหราในรูปแบบใหม่จะเป็นเรื่องของ “เวลา” 

มนุษย์จะค้นหาหนทางที่จะเปิดรับประสบการณ์เต็มที่ที่สุด ภายในเวลาที่มี ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็ไม่ได้พบแค่ในกลุ่มคนมีฐานะเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นในคนทุกกลุ่ม ที่จะมองว่า “การมีเวลา” เป็นเรื่องของความหรูหราที่ทุกคนจะมองหา

ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคมากขึ้น

ส่วนในประเด็นความยั่งยืน (sustainability) ดร.เควิน ได้พูดเรื่องความยั่งยืนในหลายโอกาส สิ่งที่ ดร.เควิน ย้ำเสมอคือ ความยั่งยืนนั้นไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ สัตว์ ทะเล แมลง ฯลฯ แต่อยู่ที่พฤติกรรมของมนุษย์เป็นที่สุด โดย ต้นไม้ สัตว์ แมลง เหล่านั้น เป็นเพียงผู้เคราะห์ร้าย จากการกระทำของมนุษย์ (human actions)และการตัดสินใจของมนุษย์ (human decisions) เมื่อมองความยั่งยืนจากผลของการกระทำของมนุษย์ เห็นว่า ผู้คนจะคำนึกถึงผลกระทบจากการตัดสินใจในการบริโภคมากขึ้น ตระหนักว่าการบริโภคได้ทำลายอะไรหรือเปล่า หรือว่าต้องแลกมาด้วยอะไร คำนึงถึงคนรุ่นต่อไปมากขึ้น

 

การผสานความหรูหราและความยั่งยืน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผน

ดร.เควิน ยกตัวอย่างการผสานความหรูหราและความยั่งยืน ผ่านประสบการ์ณจากการพัฒนาเกาะเซนโตซ่า (Sentosa) ซึ่งเซนโตซ่านั้นเป็นเกาะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศสิงคโปร์ เมื่อมองภาพทั้งเกาะเพื่อบาลานซ์ความหรูหราและความยั่งยืนอย่างไรนั้น ต้องถามตัวเองว่า “ฉันจะใส่ความสนุกแบบเต็มที่ให้ผู้ที่มาเยือน ลงในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไร” ฃ

วิธีการหนึ่งคือ การนำสิ่งต่างๆ ให้มาอยู่ใกล้กัน โดยทำการแบ่งเกาะเซนโตซ่าออกเป็นสองส่วน คือ พื้นที่ส่วนตะวันตกของเกาะ เป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มแมส มีทราฟฟิคและความหนาแน่นสูง ในพื้นที่บริเวณนี้จะมีทั้ง Universal Studio Singapore, โรงแรม Resortworld ชายหาด, แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (nature-based attraction) และพื้นที่ส่วนตะวันออกของเกาะ จะเป็นส่วนลักซ์ชัวรี มีทราฟฟิคและความหนาแน่นน้อย และมีสนามกอล์ฟคั่นตรงกลาง โดยใช้สนามกอล์ฟ Tanjong และ Serapong เป็นพื้นที่ป้องกันเสียง (sound barrier) จากกิจกรรมต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของเกาะไม่ให้มารบกวนพื้นที่ฝั่งตะวันออก และ พัฒนาพื้นที่ริมทะเลเป็น เซนโตซ่าโคฟ (Sentosa Cove) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยประมาณ 6000 คน มีที่อยู่อาศัยริมทะเล และมีท่าจอดเรือยอร์ช

 

พื้นที่สีเขียว คือ “ปอด” ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด

ความยั่งยืนของเซนโตซ่านั้นมาจาก Green Lung (ปอดสีเขียว) ซึ่งหมายความว่า 70% ของต้นไม้บนเกาะนั้นต้องได้รับการอนุรักษ์ และมีต้นไม้ 59% ที่เรียกว่า Heritage Tree คือเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งต้นไม้เหล่านี้จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง รักษา ซึ่งเป็นข้อบังคับบนกฏหมายของเกาะเซนโตซ่า ทำให้การสร้างรีสอร์ตต่างๆ บนชายหาดของเกาะเซนโตซ่า ก็ต้องสร้างรีสอร์ตรอบๆ ต้นไม้ โดยไม่มีการตัดต้นไม้

การผสานความหรูหราและความยั่งยืนให้สัมผัสได้

เกาะเซนโตซ่ามีชายหาดความยาว 3.2 กิโลเมตร แบ่งเป็นโซนต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กิจกรรมของผู้คนหลากหลายประเภท ทั้งคู่รักโรแมนติค, ครอบครัว, หนุ่มสาว หากมองชายหาดจากตะวันตก ไป ตะวันออก จะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ความหนาแน่นสูง ไป พื้นที่ความหนาแน่นต่ำ ซึ่งความหรูหราของเซนโตซ่าที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนเกาะ ก็จะอยู่ใกล้ทุกอย่างทั้งชายหาด แหล่งท่องเที่ยว แหล่งกิจกรรม ใกล้เรือยอร์ชของคุณ 

ในส่วนความยั่งยืน (sustainability) คือการรักษาชายฝั่ง แนวปะการัง การฟื้นฟูพื้นที่แหล่งน้ำ เช่นในบริเวณ Labrador Nature Reserve ซึ่งทั้งหมดนี่ก็คือการผสานความหรูหรา (Luxury), ความยั่งยืน (Sustainability), และความสนุก (Fun) เข้าด้วยกัน ให้เกิดเป็นประสบการณ์ที่สามารถสัมผัสได้

 

ความยั่งยืนต้องไม่ลืมความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

อีกมุมของความยั่งยืนคือความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ดร.เควินได้เล่าว่า เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน เกาะเซนโตซ่ามีนโยบายว่านกยูงและลิงนั้นอยู่บนเกาะเซนโตซ่ามาก่อนที่มนุษย์จะเข้ามา จึงต้องมีการปกป้องอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ ด้วยการติดแท็คบนนกยูงและลิง และเฝ้าดูทุกๆ 6 เดือนว่า สัตว์เหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร? และมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวว่า สัตว์เหล่านี้นั้นอยู่บนเกาะเซนโตซ่ามาก่อน “โปรดเคารพและดูแล “บ้าน” ของสัตว์เหล่านี้ด้วย เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะเซนโตซ่า”

 

การพัฒนาเมืองต้องบูรณาการ Live, Work, Play, and Study

นอกจากนี้ ดร.เควิน ยังได้ให้กรณีศึกษากับอีกโครงการหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ คือ พุงโกล(Punggol Digital District) ซึ่งพัฒนาบนแนวคิดของการ อยู่อาศัย (Live) ทำงาน (Work) เล่น (Play) และเรียนรู้ (Study) ในพื้นที่เดียวกัน แต่พื้นที่เหล่านี้ต้องมีความแตกต่างกัน เพราะถ้าอยู่อาศัย ทำงาน และเล่น ในที่ที่มีบรรยากาศเดียวกัน ก็จะดูน่าเบื่อ ทำให้พุงโกลถูกแบ่งเป็นสองโซน คือ โซนตึกสูง และโซนมหาวิทยาลัย ซึ่งการพัฒนาต้องไม่ลืมเรื่องการอนุรักษ์และการพักผ่อน จึงมีการปลูกต้นไม้เพิ่มในพุงโกล มีการทำ heritage trail เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ไม่มีที่จอดรถบนดิน มีแต่ใต้ดิน เพื่อให้พุงโกลเป็นสถานที่ที่บูรณาการทั้ง Live, Work, Play, and Study เข้าด้วยกัน ซึ่งก็มีเมืองที่พัฒนาลักษณะนี้ในสิงคโปร์อยู่ 2-3 แห่ง และพุงโกลก็เป็นหนึ่งในนั้น

หนึ่งในปัญหาของพุงโกล คือ แนวชายฝั่ง ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้นั้นร้อนและมีน้ำมาก รัฐบาลจึงยกระดับเมืองนี้ขึ้น 20-25 เมตร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองซานแอนโตนิโอ รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีคลองในเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินถึง 2-3 ชั้น อีกทั้งพุงโกลยังมีการสร้างพื้นที่ครอบบริเวณคลองเพื่อให้เกิดร่มเงา และระบายอากาศเย็นเข้าสู่เมือง และยังเป้นการป้องกันปัญหาการเพิ่มระดับของน้ำทะเลอีกด้วย

 

พัฒนาอสังหาฯ โดยมี ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ดร.เควิน ให้ทัศนะของอสังหาฯ ที่จะประสบความสำเร็จว่า ควรพัฒนาโดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง สร้าง home ไม่ใช่แค่ house ต้องออกแบบด้วยใจ “heart-ware” ทำให้เกิดการ live, work, play ขึ้น แล้วสร้าคอมมูนิตี้ สร้างความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกของการมีอยู่ (sense of belonging) ความเป็นเจ้าของ (ownership) ที่มากกว่า house แต่เป็น home โดยคำนึงถึงการอยู่อาศัย นึกถึงร่มเงา แสง การอยู่ร่วมกัน ทั้งเราและสัตว์ ต้องอย่าลืมว่าสัตว์นั้นอยู่มาก่อนเรา 

ดังนั้นควรคำนึงถึงความยั่งยืนโดย 1.Respect เคารพคนอื่นๆ ซึ่งรวมถึง สัตว์ แมลง ธรรมชาติ ต้นไม้  2.Thoughtful ความสะดวกสบายของมนุษย์มีสิ่งที่ต้องแลกมา และสิ่งที่แลกมานั้นมันคุ้มค่าไหม 3. Mindful นึกถึงคนรุ่นต่อไป ด้วยปัจจัยเหล่านี้ก็จะสามารถพัฒนาเมืองที่ผสมผสานความหรูหรา ชีวิตความเป็นอยู่ และความยั่งยืน ได้อย่างกลมกลืน