20 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดจาก GDP (PPP)
กว่า 200 ประเทศทั่วโลกมีคำนิยามของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตร ในขณะที่บางประเทศเศรษฐกิจทั้งหมดขึ้นอยู่กับน้ำมันและก๊าซ บางประเทศมี GDP ที่น้อยทั้งๆที่มีประชากรเยอะ บางประเทศมี GDP สูงทั้งๆที่มีประชากรน้อย ปัจจุบันที่ยอมรับกันในระดับสากลคือ การเปรียบเทียบความมั่งคั่งของประเทศจาก Gross domestic product (GDP) based on purchasing-power-parity (PPP) per capita เพื่อเทียบมาตรฐาน GDP ให้เป็นแบบเดียวกันทั้งโลก โดยการเทียบรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศนั้นๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจากการเปรียบเทียบด้วย GDP (PPP) นั้น TerraBKK ขอนำเสนอข้อมูลดังนี้
สำหรับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 10 อันดับแรก จัดอันดับตาม GDP (PPP) ที่มีรายได้ต่อตัวสูงสุดต่อหัว 4,600,000 บาทต่อปี อันดับ 1 : Qatar - GDP (PPP) 4,621,648.32 THB/Y กาตาร์เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เศรษฐกิจของกาตาร์ส่วนใหญ่เกือบ 85% ของรายได้จากการส่งออกเป็น “ปิโตรเลียม” กาตาร์ยังเป็นประเทศที่มีปริมาณแก๊สธรรมชาติ สำรองมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รัฐบาลของกาตาร์ทุ่มงบส่วนใหญ่ในการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เครือข่ายรถไฟ รวมถึงตั้งเป้าให้ประเทศเจ้าภาพด้านธุรกิจ และที่สำคัญในปี ค.ศ.2022 กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก อันดับ 2 : Luxembourg - GDP (PPP) 2,960,212.16 THB/Yเป็นประเทศเล็กๆในยุโรป มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายเหล็กและโลหะเพื่อส่งออก ลักเซมเบิร์กขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด และเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของยุโรป เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายทางการเงินที่มีวินัยและเข้มแข็ง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ความเข้มงวดของการเก็บความลับในด้านธุรกิจสถาบันการเงินหรือธนาคาร
อันดับ 3 : Singapore - GDP (PPP) 2,603,061.44 THB/Yสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย เป็นประเทศที่มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ด้วยความที่เป็นประเทศที่เล็ก ทำให้บริหารงานต่างๆได้ไม่ยากนัก บวกกับความเข้มงวดของกฎหมาย ทำให้เป็นประเทศที่ประชากรมีระเบียบวินัยสูง พื้นฐานความมั่งคั่งของสิงคโปร์ คือ ความเจริญด้านเทคโนโลยี การผลิต และศูนย์กลางด้านการเงิน
อันดับ 4 : Brunei Darussalam - GDP (PPP) 2,490,366.4 THB/Yบรูไนเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้มาสู่ประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่มีจำนวนประชากรที่น้อยมาก แต่บรูไนก็ไม่ได้หวังพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว ได้พยายามที่จะพัฒนาประเทศให้พึ่งพาตัวเองได้ อย่างไรก็ตามบรูไนเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก แต่รัฐบาลได้ให้สวัสดิการอย่างดีเลิศแก่ประชาชน อาทิ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาลฟรี
อันดับ 5 : Kuwiat - GDP (PPP) 2,271,736.96 THB/Yคูเวตเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมากและร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ประชาชนคูเวตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวและกำลังซื้อสูงมาก ประกอบกับการใช้นโยบายการค้าเสรี ไม่มีระบบโควตา หรือมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้า โครงสร้างภาคการผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รัฐบาลคูเวตได้ประกาศจัดทำโครงการ ลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิต การก่อสร้างเมืองธุรกิจใหม่ (Silk City) โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติคูเวต
อันดับ 6 : Norway - GDP (PPP) 2,108,661.44 THB/Yนอร์เวย์ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ติดอันดับประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดของโลก เนื่องจากนโยบายรัฐสวัสดิการสามารถใช้ได้จริง และตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมของนอร์เวย์ ได้เป็นอย่างดี เป็นประเทศที่มี อัตราการว่างง่านที่ต่ำ รายได้หลักเกือบครึ่งมาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
อันดับ 7 : United Arab Emirates - GDP (PPP) 2,081,197.12 THB/Yเป็นประเทศที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ 7 รัฐ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2514 จึงนับว่ามีอายุเพียง 40 ปีเศษ แต่ในระยะเวลาเพียงไม่นาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พัฒนาความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยส่วนสำคัญมาจากรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ยังไม่รวมถึงการเงินและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขึ้นเรื่อย ๆ
อันดับ 8 : Switzerland - GDP (PPP) 1,767,594.88 THB/Yเป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และตั้งอยู่ในทวีปยุโรปตะวันตก แต่นับเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ในด้านการลงทุนในระดับนานาชาติมาเป็นระยะเวลานาน เป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเป็นเป้าหมายของนักลงทุน เนื่องจากมีนโยบายทางการเงินและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ และมีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยังมีนโยบายเปิดกว้างสำหรับการลงทุน
อันดับ 9 : Hong Kong - GDP (PPP) 1,765,337.92 THB/Yฮ่องกงมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า ที่มีปริมาณการขนส่งเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งเป็นตลาดหลักทรัพย์ทีมีมูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย ภาคบริการเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของฮ่องกงเนื่องจากมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของ GDP ธุรกิจบริการหลักประกอบด้วย การค้า การขนส่ง การเงินการธนาคารและการท่องเที่ยว
อันดับ 10 : United States - GDP (PPP) 1,749,701.44 THB/Yประเทศมหาอำนาจและมีเศรษฐกิจประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำโลกทั้งในด้านการเงิน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ส่งออกอาวุธที่ใหญ่ที่สุด สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและนิวเคลียร์อันดับ 1 ของโลก และเป็นผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3
และมาต่อกันที่ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก 10 อันดับแรกจัดอันดับตาม GDP (PPP) ที่มีรายได้ต่อตัวต่ำสุดต่อหัว 19,471 บาทต่อปี อันดับ 1 : Central African Republic - GDP (PPP) 19,471.10 THB/Yเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อีกทั้งประชาชนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรแร่ที่สำคัญ เช่น น้ำมันดิบ, ทอง, เพชร แต่ความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายภายในประเทศ ส่งผลให้สาธารณรัฐแอฟริกากลางก็ยังคงติดอันดับเป็นประเทศที่จนที่สุดในโลก
อันดับ 2 : Democratic Republic of the Congo - GDP (PPP) 22,489.08 THB/Yเป็นประเทศหนึ่งในแอฟริกากลางและมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของทวีป มีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ จากการเสื่อมค่าของเงินฟรังค์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงในปี 1994, ความวุ่นวายในสงครามกลางเมือง, การรบพุ่งอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปี 1998 ได้ทำลายเศรษฐกิจของคองโกลง
อันดับ 3 : Malawi - GDP (PPP) 25,003.42 THB/Yมาลาวีต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ เป็นหลัก มาลาวีถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Highly Indebted Poor Countries (HIPC) ซึ่งได้รับการยกเว้นหนี้และเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบจากสหประชาชาติและกลุ่มประเทศ G8 นอกจากนี้รัฐบาลมาลาวียังเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาประเทศหลายประการ
อันดับ 4 : Liberia - GDP (PPP) 28,824.16 THB/Yสงครามกลางเมืองในปี 1989-1997 ได้ทำลายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของไลบีเรีย โดยเฉพาะสาธารณูปโภคในกรุงมันโรเวียและปริมณฑล มีนักธุรกิจเป็นจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศ ไลบีเรียจัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำเพียงร้อยละ 55.5 และแม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแล้ว แต่คาดว่าระบบการศึกษาในไลบีเรียยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมาก
อันดับ 5 : Niger - GDP (PPP) 33,027.84 THB/Yเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ไนเจอร์พึ่งพาการส่งออกแร่ยูเรเนียม แต่ความผันผวนของราคายูเรเนียมในตลาดโลกส่งผลกระทบต่อรายได้ของไนเจอร์อย่างมาก ไนเจอร์เป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล และประสบปัญหาภัยแล้ง จึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรรมของไนเจอร์ยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ขยายของทะเลทราย (desertification) อีกด้วย
อันดับ 6 : Mozambique - GDP (PPP) 35,945.28 THB/Yแม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด แต่ก็เป็นประเทศหนึ่งในแถบแอฟริกาซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแหล่งแร่ และป่าไม้ มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะแก่การทำการเกษตร อุตสาหกรรมที่สำคัญของโมซัมบิก ได้แก่ การทำเหมืองถ่านหิน การเกษตร ประมง เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ อะลูมินั่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
อันดับ 7 : Eritrea - GDP (PPP) 38,454.08 THB/Yเป็นประเทศที่แยกตัวเป็นเอกราชจากเอธิโอเปีย เอริเทรียเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำ (ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี) นอกจากนี้ รายได้สำคัญจากเมืองท่าต่างๆ ของเอริเทรีย รวมทั้งอุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามกับเอธิโอเปีย เพราะรัฐบาลเอธิโอเปียปิดการค้าและการติดต่อตามแนวพรมแดนทั้งหมดทำให้เอริเทรียขาดรายได้อย่างมาก
อันดับ 8 : Guinea - GDP (PPP) 42,969.92 THB/Yเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะบอกไซต์ ซึ่งมีปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของโลกและเป็นผู้ผลิตแร่บอกไซต์รายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีทองคำ เพชร ยูเรเนียม แร่ธาตุอื่น ๆ และปิโตรเลียม แต่ยังคงประสบปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การคอรัปชั่นสูง, ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน, การขาดแรงงานมีฝีมือ
อันดับ 9 : Madagascar - GDP (PPP) 45,738.24 THB/Yเป็นประเทศหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งแร่หลายชนิดหลายประเภท ทั้งแร่โลหะ แร่อุตสาหกรรมและแร่รัตนชาติ แร่เหล่านั้นได้แก่ บ๊อกไซท์ ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส นิเกิล ดีบุก พลอย แต่มาดากัสการ์ยังขาดแคลนเงินทุนในการสำรวจแร่ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาเงินและความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก ปัญหาสังคมของมาดากัสการ์ คือ การขาดแคลนอาหาร ประชากรยากจน และขาดการศึกษาที่ได้มาตรฐาน สภาวะการเมืองภายในยังไม่นิ่ง
อันดับ 10 : Togo - GDP (PPP) 46,076.16 THB/Yเศรษฐกิจหลักของโตโกคือเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นเกษตรกรรมที่มีผลิตผลเพียงพอเฉพาะบริโภคภายในประเทศ สินค้าส่งออกหลัก คือ โกโก้ กาแฟ และฝ้าย แต่ความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งการนัดหยุดงานของภาครัฐและเอกชนในช่วงปี 1992-1993 ส่งผลกระทบต่อโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญด้านอื่นๆ
สำหรับประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 79 ซึ่งมี GDP (PPP) อยู่ที่ 462,165 บาท/ปีTerraBKK เห็นนัยยะสำคัญอย่างหนึ่งว่าปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ คือความมั่นคงทางการเมืองและการจัดการปัญหาภายในประเทศ หากประเทศใดที่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการประเทศได้เป็นอย่างดี มีสถานภาพทางการเมืองที่มั่นคง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆอยู่อันดับต้นๆของโลก แต่หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมปัญหาการเมืองภายในประเทศได้ แม้ว่าประเทศจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มากเพียงใด ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปอยู่แนวหน้าของโลกได้
(Source of GDP (PPP) : International Monetary Fund, World Economic Outlook Database, October 2014)บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก