ทำไมต้องมีทั้ง “สัญญาจอง” และ “สัญญาจะซื้อจะขาย” มันมีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ไม่เซ็นต์สัญญาจองได้มั๊ย ? นานาคำถามที่มีเข้ามา ทาง TerraBKK กฏหมายคลายปม รวบรวมประเด็นตอบข้อซักถามได้ความตามนี้

สัญญาจองซื้อ

เป็นสัญญาลักษณะใหม่ ที่ปัจจุบันผู้ขายอสังหาริมทรัพย์พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้แทน “สัญญาจะซื้อจะขาย” ขั้นตอนการปฏิบัติโดยปกติ เมื่อผู้ซื้อตกลงใจที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็จะต้องวางเงินจองเอาไว้ก่อน ทางผู้ขายก็จะออกใบรับเงินจองให้ แล้วนัดวันทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป

สัญญาจะซื้อจะขาย

เป็นสัญญาซื้อขาย แต่กำหนดว่าจะไปโอนที่ดินกันในภายหลังจากวันที่ทำสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำสัญญาเป็นหนังสืออย่างเดียว เพราะหากว่ามีการวางมัดจำ หรือการชำระหนี้บางส่วนก็สามารถฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย เช่นหากว่าไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ แต่ผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้บางส่วนส่งมอบให้แก่ผู้ขายแล้ว ถึงเวลานัดโอนที่ดิน ผู้ขายไม่ยอมไปโอนที่ดิน กรณีนี้แม้ว่าจะไม่มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายก็ตาม แต่เมื่อมีการวางมัดจำ ก็สามารถฟ้องร้องให้ผู้ขายโอนที่ดินได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากเราทำสัญญาจะซื้อจะขายก็ย่อมเป็นการปกป้องสิทธิของเราได้ดีกว่า เพราะในการพิสูจน์ในชั้นศาลหากมีหลักฐานย่อมได้เปรียบกว่า

ข้อดีของสัญญาจองต่อผู้ประกอบการ

ผู้ขายนิยมให้ผู้ซื้อมาทำสัญญาจองซื้อแทน เนื่องจากในการทำธุรกิจบ้านจัดสรร ตามขั้นตอนปกติผู้ประกอบการจะต้องไปซื้อที่ดินมาก่อน เสร็จแล้วก็จะทำแผนผังไปขออนุญาตจากหน่วยงานราชการต่างๆ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะสามารถทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์เปิดการขาย ระหว่างนั้นก็จะต้องทำเรื่องแบ่งแยกหรือรวมที่ดินให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แต่มีผู้ประกอบการบางรายเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายข้อนี้ เพราะต้องการขายในระหว่างที่ยังไม่สามารถซื้อที่ดินได้ หรือมีที่ดินแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการ โดยเลี่ยงมาใช้สัญญาจองซื้อ แทนที่จะเป็น สัญญาจะซื้อจะขายแทน

หากผู้ขายไม่สามารถขึ้นโครงการได้ ผู้ซื้อก็ทำได้เพียงอย่างเดียวคือเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่จะบังคับให้ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะไม่มีการกำหนดสิ่งที่ผู้ขายจะต้องปฏิบัติตอบแทนไว้ในสัญญาจอง

ข้อดีของสัญญาจะซื้อจะขายต่อผู้ซื้อ

คุ้มครองผู้ซื้อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย ทางการได้กำหนดให้เป็นสัญญามาตรฐาน ควบคุมให้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนดด้วย เช่นเงื่อนไขการเรียกร้องความเสียหาย กรณีผู้ซื้อผู้ขายผิดสัญญา ซึ่งต้องเป็นไปในลักษณะเท่าเทียมกัน หรือกรณีเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ต้องเปิดโอกาสให้สามารถโอนเปลี่ยนมือกันได้เสรีโดยเจ้าของโครงการไม่สามารถเลือกเก็บค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ได้ เป็นต้น

ผู้ซื้อมีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญา เมื่อครบกำหนดผู้ขายก็มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือบ้าน หากฝ่ายผู้ซื้อผิดสัญญาผู้ขายก็สามารถยกเลิกสัญญา แล้วริบเงินมัดจำหรือเงินดาวน์ที่ผ่อนมาแล้วได้ตามกฎหมาย ในทางกลับกันหากผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อก็สามารถฟ้องให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือบ้านก็ได้ หรือยกเลิกสัญญาแล้วให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่รับเงินแต่ละงวดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ก็ได้แล้วแต่จะเลือก

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก