ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากคุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักกฎหมายแพ่งว่าในการโอนมรดกทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม ไม่มีกฎหมายบังคับไว้โดยตรงว่าจะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก

โดยหลักแล้วทายาทสามารถโอนมรดกด้วยตนเองได้ แต่ถ้าหากเจ้ามรดกตั้งผู้จัดการมรดกไว้ก็ต้องให้ผู้จัดการมรดกเป็นคนโอนให้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ตั้งไว้ การจะสมควรร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัญหาในการรับโอนมรดกหรือการจัดการมรดกหรือไม่เป็นสำคัญ กฎหมายไม่ได้บัญญัติแยกแยะว่ากรณีใดจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ได้ คงบัญญัติไว้กว้างๆ ในมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า กรณีดังต่อไปนี้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้

(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร หรือเป็นผู้เยาว์

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

กรณีอนุมาตรา 1 กรณีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร สามกรณีนี้เห็นชัดเจนว่าจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพราะว่าไม่มีตัวคนที่จะมารับโอนทรัพย์มรดก และจัดการมรดก (รวมถึงการจัดการกองมรดกอื่น ๆ เช่น จัดการรับชำระหนี้ หรือใช้หนี้กองมรดก) การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งสูญหายไปไม่ต้องสูญหายทั้งหมด ก็เป็นเหตุให้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว เพราะในข้อเท็จจริงนั้น การหายไปคนหนึ่งก็ก่อความยุ่งยากในการโอนและจัดการมรดกได้

สำหรับกรณีผู้เยาว์ เป็นผู้รับมรดกนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดเป็นเหตุอ้างขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ จึงจะขอตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น แต่เนื่องจากว่าผู้เยาว์นั้นมีพ่อแม่เป็น ผู้ใช้อำนาจปกครองทำแทนได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว และการขอรับโอนมรดกตามสิทธิ (รับมรดกได้ แต่ถ้าจะสละสิทธิไม่รับมรดกต้องให้ศาลอนุญาต)ไม่ใช่การทำนิติกรรมแต่อย่างใด

ในทางปฏิบัติถ้าผู้เยาว์โตแล้ว รู้เรื่องดีก็สามารถยื่นคำขอเองได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมาก พ่อแม่ก็สามารถยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินให้ลงชื่อผู้เยาว์รับมรดกได้เลย แต่จะมีข้อยกเว้นอย่างเดียวที่จะรับทันทีไม่ได้ คือเป็นการรับมรดกที่มีเงื่อนไขหรือมีค่าภาระติดพัน

กรณีอนุมาตรา 2 เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

กรณีนี้มีกเกิดจากทะเลาะแย่งชิงมรดก คัดค้านกันวุ่นวายจนไม่มีทางตกลงกันได้ จึงมาร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก

อีกกรณีที่เกิดเป็นประจำคือ เอกชนไม่ยอมให้ทายาทรับทรัพย์มรดก เช่น ธนาคารปฏิเสธไม่ให้ทายาทเบิกเงินของเจ้ามรดก หรือบริษัทไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนรถยนต์ให้ทายาท ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นทายาทที่มีสิทธิจริง

หากมีหลักฐานว่าเป็นทายาทจริงก็ดำเนินการประกาศการขอรับมรดก และถ้าไม่มีคนคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศขอรับมรดก เจ้าหน้าที่ก็สามารถโอนตามที่ประกาศได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด

ตัวอย่างต่อไปนี้ก็น่าจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยถือเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือแบ่งปันมรดกได้

1. เรื่องความไม่สะดวกในการจัดการมรดก ถ้าเจ้ามรดกเป็นคนรวยมีทรัพย์สินที่ดินมากตั้งอยู่หลายจังหวัด มีเงินฝากธนาคาร และทรัพย์สินอื่น ๆอีกมากมาย มีทายาทมากมีภาระการงานมาก หรืออยู่กันห่างไกลคนละจังหวัด

กรณีแบบนี้ถ้าให้ทายาทแต่ละคนไปรับโอนมรดกที่ดิน ก็ต้องพากันเดินทางตระเวนไปขอรับมรดกหรือไปเซ็นไม่รับมรดกกันทุกที่ (แต่ไม่จำเป็นต้องไปกันทุกคนถ้าหากไม่ลงชื่อรับโอนในแปลงหนึ่ง ๆ ครบทุกคน)

แต่ถ้าขอศาลตั้งผู้จัดการมรดก ก็ดำเนินเรื่องทางศาลซึ่งต้องใช้เวลาอยู่นานเหมือนกัน แต่เมื่อศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกก็นำโฉนดไปจดทะเบียนผู้จัดการมรดกได้เลยในครั้งเดียว เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้วก็จดทะเบียนโอนมรดกต่อเลย (หรือจะโอนขายเพื่อเอาเงินมาแบ่งให้ทายาทก็ทำได้) ซึ่งผู้รับมรดกจะไปด้วยกันก็ได้ หรือจะมอบอำนาจให้ผู้จัดการมรดกทำแทน

2. กรณีทายาทไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมรับโอนมรดก ทำให้รับมรดกไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีทายาทเป็นคนจนมาก แต่ได้มรดกที่ดินราคาแพง ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมโอนมรดกก่อน

ถ้าขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกและค่อยขายไปทีหลัง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีค่าธรรมเนียมโอนมรดก เพราะไม่ต้องโอนมรดกอีกหนึ่งทอด แต่โอนขายได้และเอาเงินไปแบ่งให้ทายาทได้เลย แต่การใช้วิธีนี้ต้องคุ้มกับเงินที่จ้างทนาย (ทนายทั่วไปปกติไม่น่าเกินหนึ่งหมื่นบาท) แต่อย่างไรก็ตามสามารถขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความให้ช่วยได้

กรณีอนุมาตรา 3 เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรม ซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ กรณีนี้มักเกิดจากการเขียนพินัยกรรมไม่ถูกต้อง การตั้งผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะเป็นเหตุร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ที่ความจำเป็นเป็นเรื่อง

คู่มือการขอรับโอนมรดกที่ดินสำหรับประชาชน ในหลายๆ คำตอบเกี่ยวกับการการขอรับโอนมรดกที่ดิน มักมีคำตอบจากคนเรียนกฎหมาย หรือไม่ก็ทนายความ มาแนะนำให้จ้างทนายความทำเรื่องร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกกันเป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่ตามรูปคดีไม่มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเลย จากประสบการณ์ตอนที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในสำนักงานที่ดิน ในคำสั่งศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกมาทำเรื่องโอนมรดก มักระบุเป็นสูตรเลยว่าทางสำนักงานที่ดินอ้างว่าขัดข้องโอนให้ไม่ได้ (นอกจากจะต้องมีผู้จัดการมรดก)

ที่มาของข้อมูล คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 "การทำพินัยกรรมช่วยให้การรับมรดกที่ดินสะดวกสบายกว่าการไม่ทำอย่างเทียบกันไม่ได้" TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก