คำแนะนำการขอรับโอน มรดกที่ดิน
 

วสันต์ กิจบำรุง

หมายเหตุ - ข้อความในวงเล็บ (ระเบียบข้อ...) หมายถึง ระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาทางมรดก พ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2557)   https://www.dol.go.th/registry/Documents/5460.pdf
 
คำแนะนำเบื้องต้น – ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าการขอรับโอนมรดกที่ดินนั้นไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกก่อน ไม่ว่าจะตั้งโดยพินัยกรรม หรือร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก   ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นกรณีมรดกมีหรือไม่มีพินัยกรรม  ทายาทก็สามารถไปยื่นคำขอรับโอนมรดกที่สำนักงานที่ดินได้เองโดยตรง  เพราะประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง และระเบียบกรมที่ดินที่เกี่ยวกับการรับมรดกที่ดิน  ได้กำหนดวิธีการรับโอนมรดกให้ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก  แต่หากพินัยกรรมได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ หรือได้มีการร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ก็ต้องให้ผู้จัดการมรดกเป็นคนดำเนินการให้  ทายาทไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการโดยลำพังแต่อย่างใด  เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอรับโอนมรดกที่ดินซึ่งมักจะมีปัญหาอยู่บ่อย ๆ ให้ไปปรึกษาสำนักงานที่ดินเป็นอันดับแรก  อย่าได้ไปปรึกษาบุคคลอื่นเพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงย่อมไม่มีความรู้ความชำนาญพอ  หากหลงเชื่อก็อาจเสียเวลาเสียเงินเสียทองไปโดยไม่จำเป็น

1. เมื่อใดจะมีการรับมรดก

เมื่อใครก็ตามตายลง  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญกฎหมายให้ถือว่าคนนั้นตายไปแล้ว  เมื่อมีสองกรณีนี้เกิดขึ้นก็สามารถรับโอนมรดกของคนนั้นได้ แต่ถ้ายังไม่มีการตายจะมีการโอนมรดกไม่ได้ จะมีได้ก็เป็นเรื่องการทำนิติกรรมยกให้แก่กันซึ่งไม่เรียกว่าเป็นการโอนมรดก
 
2. ใครบ้างมีสิทธิรับมรดก

หลักกฎหมายแพ่งมีว่าถ้าใครตาย (ต่อไปจะเรียกว่าเจ้ามรดก)  บรรดาคนที่มีความสัมพันธ์กับเจ้ามรดกดังต่อไปนี้มีสิทธิรับมรดก พ่อแม่(พ่อต้องจดทะเบียนสมรสกับแม่ด้วยถึงจะมีสิทธิรับมรดกของลูก)  สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน  ลูกชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ลูกเมียน้อยหรือลูกที่เกิดกับหญิงอื่น) ที่เจ้ามรดกรับรองว่าเป็นลูก (การรับรองก็เช่น ไปจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร รวมถึงการแสดงออกให้คนทั่วไปรู้ว่าเป็นบุตร ซึ่งไม่มีรูปแบบแน่นอน  เช่น ให้ใช้นามสกุล ไปแจ้งในใบเกิดว่าเป็นบุตร เอาชื่อไปใส่ในทะเบียนบ้านว่าเป็นบุตร  พาไปเข้าเรียนแจ้งว่าเป็นบุตร ส่งเสียเลี้ยงดูแบบลูก ก็ถือว่ารับรองว่าเป็นบุตรแล้ว)  บุตรบุญธรรมที่คนตายจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย   คนเหล่านี้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันทุกคน  หากมีลูกคนไหนตายไปก่อนเจ้ามรดก ลูกของลูก(หลาน) ก็มีสิทธิรับมรดกแทนที่คนที่ตายไป  แต่ถ้าตอนเจ้ามรดกตายไม่มีคนเหล่านี้เหลืออยู่เลย  มรดกก็จะตกกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  แต่ถ้าไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเลย   มรดกก็จะตกแก่พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกับเจ้ามรดก  แต่ถ้าไม่มีคนพวกนี้อีกมรดกก็จะตกแก่ปู่ ย่า ตา ยาย และหากยังไม่มีปู่ ย่า ตา ยาย อีก มรดกของคนตายก็จะตกแก่ลุง ป้า น้า อา  ในกรณีที่ทายาทบวชเป็นภิกษุก็มีสิทธิรับมรดกได้เหมือนทายาทคนอื่นนั่นเอง  แต่หากว่าไม่มีทายาทที่กล่าวถึงเลยมรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน  ซึ่งในความเป็นจริงคงเกิดขึ้นได้ยากมาก

นอกจากนี้มีอีกกรณีหนึ่งซึ่งสำคัญมาก  คือการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใครก็ได้ ทำให้คนนั้นมีสิทธิรับมรดกด้วย (ภาษากฎหมายเรียกว่าผู้รับพินัยกรรม)  และบางครั้งถ้าเจ้ามรดกรักชอบคนนั้นมาก เขาอาจให้รับมรดกทุกอย่างไม่ให้พ่อแม่ลูกเมียเลยก็ได้  โดยหลักการแล้วทุกคนควรทำพินัยกรรมไว้ก่อนตายเพราะทำได้ไม่ยากเลยไปให้อำเภอหรือเขตช่วยทำให้ก็ได้เสียค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย    การทำพินัยกรรมช่วยป้องกันไม่ให้ทายาทแย่งชิงมรดกกันวุ่นวาย  และการทำพินัยกรรมทำให้การรับโอนมรดกที่ดินสะดวกสบายกว่าการไม่ทำพินัยกรรมเป็นอย่างมาก  เนื่องจากว่าการรับโอนมรดกมีพินัยกรรมนั้นไม่ต้องทำบัญชีเครือญาติ  และไม่ต้องให้ทายาทอื่นที่ไม่มีชื่อรับมรดกตามพินัยกรรมเซ็นยินยอมใด ๆ ในการรับโอนมรดกเลย  ซึ่งการที่ต้องให้คนอื่นเซ็นยินยอมนี้ก่อปัญหามากที่สุด

3. เอกสารที่ต้องนำมาประกอบการขอรับโอนมรดก

โฉนดที่ดิน มรณบัตรของเจ้ามรดกและทายาทที่ตายไปด้วย (กรณีหลังนี้สามารถนำมาเพิ่มเติมได้ในภายหลัง) พินัยกรรม บัตรประชาชน  ทะเบียนบ้านของผู้ขอรับโอนมรดกและทายาทอื่น ๆ ที่จะให้ลงชื่อรับโอนมรดกด้วย  ทะเบียนสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับคู่สมรสที่ขอรับมรดก  หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร(ถ้ามี)หรือบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก  คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทที่ทำกันไว้ในเรื่องมรดกนั้น หลักฐานการสละมรดก  ในกรณีที่หาใบมรณบัตรมาไม่ได้และไม่มีสำเนาใด ๆ เก็บไว้ในราชการ  ซึ่งสามารถนำมาอ้างอิงว่าได้ตายไปจริงได้เลย   ก็ต้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบมรณบัตร เช่น อำเภอ  เทศบาล ออกใบรับรองการตาย   เอกสารเหล่านี้ (ยกเว้นโฉนด) ต้องถ่ายสำเนาเตรียมไว้ให้พร้อม โดยควรถ่ายในร้านถ่ายเอกสารทั่วไป เพราะจะสะดวกและถูกกว่าการไปถ่ายที่สำนักงานที่ดิน เมื่อถ่ายเอกสารแล้วอย่ารีบเซ็นชื่อรับรองสำเนาทันทีให้เซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ขอให้จำไว้ว่าเจ้าหน้าที่จะเก็บไว้แต่สำเนาภาพถ่ายเท่านั้น ส่วนเอกสารตัวจริงเจ้าหน้าที่จะส่งคืนให้ผู้ขอทุกอย่าง ไม่มีการเก็บตัวจริงไว้ที่สำนักงานที่ดินเลย   ถ้าใครอ้างว่าต้องเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินให้รู้ไว้ว่าผิดปกติ ไม่ต้องมอบให้ไปเด็ดขาด 

ในกรณีที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่ออายุมากแล้ว และผู้ขอรับมรดกแจ้งว่าไม่อาจนำหลักฐานการตายของบิดามารดาเจ้ามรดกซึ่งมีอายุมาก เช่น อายุร่วมร้อยปีและถึงแก่กรรมไปแล้วมาแสดงได้ กรมที่ดินมีระเบียบให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำผู้ขอไว้เป็นหลักฐานว่า หากปรากฏในภายหลังว่าถ้อยคำที่ให้ไว้เป็นเท็จเพราะปิดบังทายาท  การจดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนหรือแก้ไขได้ ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ขอจะต้องมีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการปิดบังทายาทนั้นด้วย   แล้วจึงดำเนินการให้ผู้ขอต่อไป โดยไม่ต้องให้ผู้ขอไปขอหนังสือรับรองการตายของบุคคลดังกล่าวมาแสดงอีก  (ระเบียบข้อ 13) (เรื่องแบบนี้มักไม่ค่อยมีปัญหากับคนแก่เท่าใด เพราะถ้าเจ้ามรดกแก่มากแล้ว พ่อแม่ก็ต้องแก่มากด้วยน่าเชื่อว่าตายจริง และคนเหล่านี้จะไม่ต้องการมรดกของลูกแต่จะให้หลานเหลนรับกันไป  แต่ต้องพึงระลึกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นอาจไม่เป็นในทางเดียวกัน เพราะบางครั้งเหตุผลแวดล้อมกรณีต่างกันไปด้วย)   

สำหรับทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพินัยกรรมนั้น จะตรวจดูต้นฉบับพินัยกรรม กับภาพถ่ายพินัยกรรมซึ่งผู้ขอรับรอง และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบกับต้นฉบับพินัยกรรม  แล้วลงชื่อรับรองการตรวจกับต้นฉบับเป็นหลักฐานในสำเนาหรือภาพถ่ายพินัยกรรมนั้นเก็บรวมเรื่องไว้  ส่วนต้นฉบับจะคืนให้ผู้ขอ โดยให้ลงนามรับไปเป็นหลักฐาน(คือเจ้ามรดกบางคนมีที่ดินหรือทรัพย์อื่นอีก  ก็ต้องนำพินัยกรรมตัวจริงไปแสดงประกอบการโอนมรดกด้วย  จึงไม่มีการเก็บพินัยกรรมตัวจริงไว้เป็นอันขาด)   การตรวจแบบพินัยกรรม เจ้าหน้าที่พิจารณาเฉพาะรูปแบบของพินัยกรรมว่าถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้หรือไม่ และหากการสอบสวนเชื่อได้ว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมของเจ้ามรดก ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ในกรณีที่ผู้ขอไม่สามารถนำต้นฉบับพินัยกรรมประกอบการยื่นคำขอได้ เนื่องจากสูญหายหรือถูกทำลาย ผู้ขอสามารถนำสำเนาพินัยกรรมที่เคยนำไปแสดงต่อหน่วยงานราชการ เช่น ศาล หรือสำนักงานที่ดินอื่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นได้รับรองสำเนาถูกต้องมาใช้เป็นหลักฐานแทนต้นฉบับพินัยกรรมก็ได้ 

สรุปหลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับ มรดก คือ

* โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
* บัตรประจำตัวประชาชน
* ทะเบียนบ้าน
* หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น ใบมรณบัตร หนังสือรับรองการตาย
* พินัยกรรม (ถ้ามี)
* ถ้าผู้ขอ ขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรส ต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
* ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดก ต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร  
* กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดก ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
* ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดงด้วย
* ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน   บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น ๆ

กรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลักฐานที่ต้องนำไป คือ
* คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
* หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
* ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
* โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์


4. กรณีใดสมควรร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก

ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักกฎหมายแพ่งว่าในการโอนมรดกทรัพย์ใด ๆ ก็ตามไม่มีกฎหมายบังคับไว้โดยตรงว่าจะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก โดยหลักแล้วทายาทสามารถรับโอนมรดกด้วยตนเองได้โดยตรง แต่ถ้าหากเจ้ามรดกตั้งผู้จัดการมรดกไว้ก็ต้องให้ผู้จัดการมรดกเป็นคนโอนมรดกให้  แต่ถ้าเขาไม่ได้ตั้งไว้  การจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัญหาในการรับโอนมรดกหรือต้องการความสะดวกในการจัดการมรดกหรือไม่เป็นสำคัญ  ซึ่งมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า  กรณีดังต่อไปนี้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ (คำว่า”ก็ได้” หมายถึงจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ไม่เป็นการบังคับ)

            (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร หรือเป็นผู้เยาว์

            (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ  หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ  หรือใน  การแบ่งปันมรดก

            (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้  ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ

จะแยกพิจารณาเป็นรายอนุมาตรา ดังนี้

กรณีอนุมาตรา (1) ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาจักร กรณีนี้เห็นชัดเจนว่าจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพราะว่าไม่มีตัวคนที่จะมารับโอนทรัพย์มรดกและจัดการมรดก (เช่น จัดการรับชำระหนี้ หรือใช้หนี้กองมรดก)  การที่ทายาทคนใดคนหนึ่งสูญหายไปไม่ต้องสูญหายทั้งหมด ก็เป็นเหตุให้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้แล้ว เพราะการหายไปคนหนึ่งก็ก่อความยุ่งยากในการโอนและจัดการมรดกได้  เช่น นายดำเป็นเจ้ามรดก มีลูกสามคนคือ นายเขียว นางขาว และนายแดง  นางขาวได้สูญหายไปก่อนจะรับโอนมรดก (อาจหายไปก่อนหรือหลังเจ้ามรดกก็ได้) กรณีนี้ถ้าหากเจ้ามรดกได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่คนอื่นและรับเงินมัดจำมาแล้ว และจะถึงกำหนดไปจดทะเบียนขายแล้ว แต่ก็มาตายเสียก่อน กรณีนี้ทายาทของนายดำต้องมีหน้าที่ทำตามสัญญาจะขายที่ดินให้จบสิ้นไป  แต่จะมีปัญหาในการรับมรดกเนื่องจากไม่มีนางขาวมาเซ็นรับโอนมรดก หรือแม้แต่นายเขียวและนายแดงจะขอให้ลงชื่อนางขาวร่วมรับโอนมรดกไปด้วยกัน(ถ้านำหลักฐานมาแสดงได้ว่านางขาวก็เป็นทายาทด้วย) เมื่อรับโอนมรดกแล้วก็ไม่สามารถโอนขายได้ทั้งแปลง  เพราะไม่มีตัวนางขาวมาเซ็นขาย  ครั้นจะไม่ให้นางขาวรับมรดกไปด้วย  จะให้แต่เพียงนายเขียวกับนายแดงรับไปสองคน แล้วจึงให้สองคนทำการโอนขาย ก็ทำไม่ได้อีก  เพราะไม่มีตัวนางขาวมาเซ็นยินยอมให้แค่สองคนรับโอนมรดก   

กรณีอย่างนี้จึงควรขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก  เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว  ผู้จัดการมรดกก็โอนขายได้เลย เพราะเป็นการจัดการมรดกชำระหนี้กองมรดก  และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท

ส่วนกรณีผู้เยาว์เป็นผู้รับมรดกนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดเป็นเหตุอ้างขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้บังคับไว้  จึงจะขอตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น  หากผู้เยาว์เพียงขอรับโอนมรดกตามสิทธิที่ได้รับตามกฎหมายชัดเจนแล้วและเมื่อรับโอนมรดกแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรต่อไปในขณะยังเป็นผู้เยาว์ เช่น เจ้ามรดกเป็นพ่อผู้เยาว์ มีทายาทเหลือแค่ลูกสามคน สองคนบรรลุนิติภาวะแล้ว เหลือคนสุดท้องเป็นผู้เยาว์เพียงคนเดียว(จะมีอายุแค่ 10 ขวบหรือ 19 ปีก็ยังถือเป็นผู้เยาว์)  ในกรณีนี้ลูกคนสุดท้องก็สามารถรับมรดกได้พร้อมกับพี่สองคน   หากการรับมรดกนี้ไม่มีเงื่อนไขหรือภาระติดพันใด  ๆ  ไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมกับทายาทอื่น และผู้เยาว์ก็ไม่ได้สละมรดก  หรือตกลงแบ่งแยกที่ดินกับพี่น้องกันแต่อย่างใด   ต้องการเพียงใส่ชื่อรับโอนมรดกร่วมกันไว้เฉย ๆ เท่านั้นไม่มีการตกลงอะไรเพิ่มเติมกันก่อนรับมรดกอีก  กรณีแบบนี้ก็สามารถขอรับโอนมรดกได้เลย  ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องตั้งผู้จัดการมรดกก่อนแต่อย่างใดด้วย 

แต่หากเมื่อรับโอนมรดกไปแล้วผู้เยาว์ต้องการจะทำนิติกรรมอื่น ๆ  เกี่ยวกับที่ดินนั้นในระหว่างยังเป็นผู้เยาว์อยู่  และกฎหมายแพ่งบัญญัติว่าการกระทำนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อไปขออนุญาตจากศาลแล้วเท่านั้น  จะเห็นได้ว่าเรื่องการที่ต้องขออนุญาตจากศาลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการจดทะเบียนรับโอนมรดกไปแล้ว  ถือเป็นคนละตอนกับการรับโอนมรดก   แต่ในช่วงการรับโอนมรดกตามกฎหมายนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และก็ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้เยาว์จะต้องรับโอนมรดกจากผู้จัดการมรดกเท่านั้นด้วย  จึงกล่าวได้ว่าการรับมรดกของผู้เยาว์นั้นปกติไม่จำเป็นต้องร้องศาลเพื่อให้ตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด
 
แต่มีสิ่งที่เป็นทางเลือกให้ทางผู้เยาว์ได้อย่างหนึ่งคือ  ในกรณีผู้เยาว์ต้องการรับโอนมรดกแล้วจะทำการขายต่อไปทันทีเพราะเจ้ามรดกได้ทำสัญญาขายให้คนอื่นไว้แต่ได้ตายเสียก่อน  หรือหากรับโอนมรดกแล้วทั้งสามคนต้องการแบ่งแยกที่ดินออกจากกันทันที   กรณีแบบนี้เมื่อผู้เยาว์รับโอนมรดกแล้ว ถ้าจะขายที่ดินของผู้เยาว์กฎหมายแพ่งกำหนดให้ต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน    ซึ่งในทางปฏิบัติทางฝ่ายผู้เยาว์สามารถเลือกให้มีการร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกก่อนก็ได้  เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกทั้งหมด  เมื่อตั้งแล้วผู้จัดการมรดกก็ทำการขายที่ดินให้คนซื้อตามสัญญาได้ทันที  โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลเพื่อขายที่ดินที่ผู้เยาว์มีสิทธิในมรดกนั้นก็ได้  เพราะเป็นการจัดการขายที่ดินที่เจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายไว้นั้นก็ต้องมีหน้าที่โอนขายให้คนซื้อต่อไป  การขายในกรณีนี้จึงอยู่ในอำนาจการจัดการมรดกอย่างหนึ่ง 

ในกรณีที่หากทายาทต้องการแบ่งแยกที่ดินออกอย่างรวดเร็วในช่วงที่ยังมีผู้เยาว์อยู่  ก็มีทางเลือกให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้  และให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งแยกที่ดินไว้ให้เรียบร้อยเพื่อเตรียมไว้โอนให้ทายาททุกคนตามสิทธิที่แต่ละคนมีอยู่ตามกฎหมายก็ได้  เพราะบางกรณีหากโอนที่ดินให้ทุกคนมีชื่อร่วมกันจะทำการแบ่งแยกออกลำบากมาก เพราะอาจตกลงกันไม่ได้  ไม่ให้ความร่วมมือมายื่นคำขอก็มี   แต่หากตั้งผู้จัดการมรดกไว้  ผู้จัดการมีอำนาจจัดการแบ่งที่ดินออกตามสมควรได้  เมื่อแบ่งแยกโฉนดเตรียมไว้ให้ทุกคนแล้ว (แปลงที่แบ่งแยกออกมานั้นทุกแปลงจะลงชื่อผู้จัดการมรดกไว้)  ออกตามส่วนที่ทุกคนควรจะได้แล้วก็จัดการโอนให้ทายาทแต่ละคนได้  แต่ในการทำอย่างนี้ผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการแบ่งอย่างยุติธรรมต้องรับฟังทายาทด้วย  เพราะหากทำไม่ถูกต้องผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดชอบต่อทายาทซึ่งก็อาจถูกฟ้องร้องและแพ้คดีได้  คือมีหลักว่าผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการให้ถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมาย หากทำถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องรับผิดชอบต่อทายาทแต่อย่างใด  เพราะเมื่อศาลพิจารณาคดีแล้วเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้วศาลก็ย่อมเห็นด้วยกับผู้จัดการมรดกนั่นเอง

ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นเรื่องการที่ผู้เยาว์รับมรดกตามสิทธิที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายจึงทำได้ง่าย ๆ เป็นแค่จดทะเบียนโอนมรดกใส่ชื่อในโฉนดซึ่งอาจเป็นชื่อคนเดียวเพราะผู้เยาว์เป็นทายาทคนเดียว  หรือใส่ชื่อร่วมกับทายาทอื่นร่วมรับกันไปตามที่มีสิทธิตามกฎหมาย ในทางปฏิบัติการรับโอนมรดกที่ดินจะไม่มีการระบุส่วนของทายาทแต่ละคนไว้แต่อย่างใด  และจะใส่ชื่อรวม ๆ กันไว้เฉย  ๆ สิทธิของแต่ละคนจะมีเท่าใดก็เป็นไปตามสิทธิที่ทายาทแต่ละคนมีตามกฎหมาย  เช่น หากเป็นลูกก็ได้เท่ากันโดยไม่ต้องระบุส่วนไว้  แต่หากจะสละสิทธิไม่รับมรดก  หรือจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดก  เช่น จะรับแปลงนี้ไม่รับแปลงนั้น หรือจะกำหนดว่าเอาที่ดินตรงนี้ตรงนั้นในที่แปลงเดียวกัน  หรือไม่เอาที่ดินแต่เอาเฉพาะมรดกที่เป็นเงิน  หรือเอาแต่ที่ดินไม่เอาเงิน  การทำอย่างนั้นผู้เยาว์จะทำไม่ได้เพราะเป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงสิทธิหรือส่วนที่ควรได้ตามกฎหมายมรดก  ถือเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างหนึ่ง   การตกลงอย่างนั้นกฎหมายแพ่งบัญญัติให้ผู้เยาว์จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ในทางปฏิบัติในสำนักงานที่ดินถ้าผู้เยาว์โตแล้ว รู้เรื่องดีก็สามารถยื่นคำขอเองได้  แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากพ่อแม่ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองก็สามารถยื่นคำขอให้ลงชื่อผู้เยาว์รับมรดกได้เลย (พ่อแม่มาทำเรื่องให้ลงชื่อลูกในโฉนดไม่ใช่ลงขื่อพ่อแม่)  แต่จะมีข้อยกเว้นอีกอย่างหนึ่งที่ทำไม่ได้คือถ้าเป็นการรับมรดกที่มีเงื่อนไขหรือมีค่าภาระติดพัน (ที่ดินส่วนใหญ่มักไม่มีการจดทะเบียนแบบนี้)กฎหมายแพ่ง มาตรา 1611(2) บัญญัติว่าต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีละได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว

สำหรับกรณีผู้เยาว์ขอรับมรดกโดยที่ทรัพย์มรดกมีการจดทะเบียนจำนองไว้และในสัญญาจำนองมีข้อความว่า “ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้เงินยังขาดจำนวนที่ค้างชำระอยู่อีกเท่าใด ผู้จำนองยอมรับใช้จำนวนเงินที่ขาดนั้นจนครบ” กรณีดังกล่าวไม่เป็นการรับมรดกโดยมีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันตามมาตรา ๑๕๗๔ (๙) หรือตามมาตรา ๑๖๑๑ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับจดทะเบียนได้ (ระเบียบ ข้อ 33) อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะรับโอนมรดกได้ แต่ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้รับมรดกและจำเป็นต้องขายที่ดินต่อทันที ซึ่งอาจเกิดจากเจ้ามรดกทำสัญญาจะขายที่ดินนั้นไว้ก่อนแล้ว กรณีอย่างนี้ผู้เยาว์(หรือผู้ใช้อำนาจปกครอง) ก็จะทำไม่ได้ เพราะการจะโอนขายหรือทำนิติกรรมอย่างอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์นั้นกฎหมายแพ่ง มาตรา 1574 บัญญัติว่าก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำได้ แต่ถึงจะมีเหตุขัดข้องหรือยุ่งยากอย่างนี้ก็มีทางเลือกอีกอย่างคือ ร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดก เพราะเมื่อตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกสามารถขายที่ดินโดยไม่ต้องโอนมรดกให้ผู้เยาว์ก่อนได้ แต่โอนขายไปตามที่เจ้ามรดกทำสัญญาจะขายไว้ เพราะถือเป็นการจัดการมรดก(ใช้หนี้กองมรดก) อย่างหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้วิธีการนี้มีประโยชน์เป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ   การที่ผู้จัดการมรดกสามารถโอนขายได้เลยโดยไม่ต้องโอนมรดกไปยังผู้เยาว์ก่อน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนมรดกอีกต่อหนึ่ง

กรณีอนุมาตรา (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

สำหรับกรณีใน (2)  ผู้จัดการมรดกไม่สามารถจัดการ ฯลฯ มีกรณีเกิดขึ้นบ้างเหมือนกันแต่ไม่มากนัก  ปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ทายาทไม่เต็มใจ ที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือแบ่งปันมรดกเสียมากกว่า เช่น ทะเลาะแย่งชิงมรดกคัดค้านกันวุ่นวาย  จนไม่มีทางตกลงกันได้ จึงมาร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก อีกกรณีที่เกิดเป็นประจำคือ ธนาคารปฏิเสธไม่ให้ทายาทเบิกเงินของเจ้ามรดก หรือบริษัทไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนรถยนต์ให้ทายาท  ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นทายาทที่มีสิทธิจริง แต่ในส่วนของการรับมรดกที่ดินที่ทำตามกฎหมายที่ดินนั้นจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด  เพราะประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้กำหนดวิธีการไว้ชัดเจนแล้ว   หากมีหลักฐานว่าเป็นทายาทจริงก็ดำเนินการประกาศการขอรับมรดก และถ้าไม่มีคนคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศขอรับมรดก   เจ้าหน้าที่ก็สามารถโอนมรดกตามที่ประกาศได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด

ตัวอย่างต่อไปนี้ก็น่าจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยถือเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือแบ่งปันมรดกได้

(1). เรื่องความไม่สะดวกในการจัดการมรดก ถ้าเจ้ามรดกเป็นคนรวยมีทรัพย์สินที่ดินมากตั้งอยู่หลายจังหวัด มีเงินฝากธนาคารและทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมาย   หรือทายาทมากมีภาระการงานมาก หรืออยู่กันห่างไกลคนละจังหวัด กรณีแบบนี้ถ้าให้ทายาทแต่ละคนไปรับโอนมรดกที่ดิน ก็ต้องพากันเดินทางตระเวนไปขอรับมรดกหรือไปเซ็นไม่รับมรดกกันทุกที่ (แต่ไม่จำเป็นต้องไปกันทุกคนก็ได้เพราะคนไม่รับมรดกสามารถทำหนังสือไม่รับโอนเฉพาะแปลงนั้น ๆ แล้วให้คนขอรับโอนนำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ในวันขอประกาศขอรับมรดกได้ หรือทำหนังสือมอบอำนาจไปก็ได้) ทำให้เสียเงินค่าเดินทาง (ค่าน้ำมัน) เสียเวลา (คนขอต้องไปสองรอบคือรอบแรกไปยื่นคำขอประกาศรับมรดก รอบสองไปจดทะเบียนรับโอนเมื่อประกาศครบกำหนด 30 วันแล้ว และไม่มีคนคัดค้าน) แต่ถ้าขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ก็ดำเนินเรื่องทางศาลซึ่งต้องใช้เวลาอยู่นานหลักเดือนเหมือนกัน แต่เมื่อศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกก็นำโฉนดไปจดทะเบียนผู้จัดการมรดกได้เลยโดยไม่ต้องประกาศที่สำนักงานที่ดินอีกสามสิบวันเหมือนการรับโอนมรดกตามปกติ เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้วก็จดทะเบียนโอนมรดกต่อในวันเดียวกันนั้นได้เลย (หรือจะโอนขายเพื่อเอาเงินมาแบ่งให้ทายาทก็ทำได้)  ซึ่งผู้รับมรดกจะไปด้วยกันกับผู้จัดการมรดก หรือจะมอบอำนาจให้ผู้จัดการมรดกทำแทนในการจดทะเบียนรับโอนมรดกก็ได้  ซึ่งก็จะทำสำเร็จด้วยการไปติดต่อเพียงครั้งเดียว

(2). กรณีทายาทไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมรับโอนมรดก ทำให้รับมรดกไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีทายาทเป็นคนจนมาก แต่ได้มรดกที่ดินราคาแพง ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมโอนมรดกก่อน(บางทีเสียเป็นหลายหมื่นถ้ามรดกมีราคาสูงมาก) กว่าจะขายได้ต้องไปกู้มาโอนมรดกก่อนก็เป็นภาระมาก ถ้าขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกและค่อยขายไปทีหลัง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีค่าธรรมเนียมโอนมรดก เพราะไม่ต้องโอนมรดกก่อนอีกหนึ่งทอด  แต่โอนขายได้และเอาเงินไปแบ่งให้ทายาทได้เลย  แต่การใช้วิธีนี้ต้องคุ้มกับเงินที่จ้างทนาย(ทนายทั่วไปปกติไม่น่าเกินหนึ่งหมื่นบาท) แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นคนจนก็สามารถขอความช่วยเหลือจากอัยการหรือสภาทนายความให้ช่วยได้ (ทุกจังหวัดมีตัวแทนอยู่ ทางอัยการก็ช่วยเหลือได้) อาจเสียค่าใช้จ่ายบ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะการร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ยากเลย  

กรณีอนุมาตรา (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการ
ใด ๆ 

กรณีนี้มักเกิดจากการเขียนพินัยกรรมไม่ถูกต้อง การตั้งผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย  หรือมีข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดกับผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดก  ทำให้ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ เช่น ตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ซึ่งก็เท่ากับว่ามรดกรายนั้นไม่มีผู้จัดการมรดกนั่นเอง   ซึ่งแม้จะเป็นเหตุให้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้  แต่กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ที่ความจำเป็นเป็นเรื่อง ๆ ไปเหมือนกรณีอื่นที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น


5. การโอนมรดกที่มีผู้จัดการมรดก

5.1 กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม(โดยศาลไม่ได้ตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก)  
ผู้จัดการมรดกสามารถเลือกทำได้สองวิธีคือ

5.1.1  ผู้จัดการมรดกนำพินัยกรรมไปยื่นคำขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดก  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับคำขอและประกาศมีกำหนด 30 วัน ในวันประกาศจะเสียค่าธรรมเนียมไม่กี่บาท หากไม่มีคนคัดค้านในช่วงประกาศ ก็จดทะเบียนลงชื่อผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ เมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศ ค่าธรรมเนียมตอนจดทะเบียนผู้จัดการมรดกก็เพียง 50 บาท ต่อจากนั้นก็ทำการจดทะเบียนโอนมรดกให้ผู้รับพินัยกรรมต่อไปได้

5.1.2   ผู้จัดการมรดกพร้อมกับผู้รับพินัยกรรมไปสำนักงานที่ดินพร้อมกัน  แล้วผู้จัดการมรดกไม่ยื่นขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม  แต่ทำบันทึกยอมให้ผู้รับพินัยกรรมยื่นคำขอประกาศรับมรดกตามพินัยกรรมไปโดยตรงเลย  (ระเบียบ ข้อ52/1 (1)  แต่ผู้จัดการมรดกจะไม่ไปพร้อมกับคนรับพินัยกรรมก็ได้  โดยทำหนังสือยินยอมให้คนรับมรดกนำไปมอบต่อเจ้าหน้าที่  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป (ตามระเบียบข้อ 52/1(2)  ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการประกาศการขอรับมรดก 30 วันตามปกติต่อไป  หากไม่มีคนคัดค้านก็จดทะเบียนลงชื่อผู้รับมรดกตามพินัยกรรมไปได้เลย  วิธีการนี้จะไม่มีการเสียค่าธรรมเนียมการประกาศการขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกและการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกด้วย   เป็นเรื่องให้ความสะดวกแก่ผู้จัดการมรดกไม่ต้องมาติดต่อดำเนินการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกและโอนมรดกอีกต่อไป 

5.2  กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล   ผู้จัดการมรดกจะต้องนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกที่สำนักงานที่ดินก่อน  และต้องนำโฉนด ใบมรณบัตรของเจ้ามรดก ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้จัดการมรดก  เจ้าพนักงานที่ดินก็จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลลงในโฉนดได้ทันที โดยไม่ต้องประกาศใด ๆ ทั้งสิ้น การจดทะเบียนผู้จัดการมรดก ถือเป็นประเภทไม่มีทุนทรัพย์เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเพียงแปลงละ 50 บาท (ค่าคำขอ 5 บาท ค่าพยานสองคน คนละ 10 บาท)  เมื่อจดทะเบียนผู้จัดการมรดกลงในโฉนดแล้วก็มีสิทธิจัดการมรดกที่ดินแปลงนั้นได้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป  ซึ่งปกติก็จะโอนมรดกให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมต่อไปแล้วแต่กรณี   หรือจะขายที่ดินเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ของเจ้ามรดกก็ได้  เพราะหน้าที่หลักของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งก็คือใช้หนี้ที่เจ้ามรดกมีอยู่  แล้วถึงจะแบ่งมรดกที่เหลือจากการใช้หนี้ให้แก่ทายาทต่อไป 

6. การโอนมรดกที่ไม่มีผู้จัดการมรดก

6.1. กรณีมีพินัยกรรม

การโอนแบบนี้นอกจากผู้รับพินัยกรรมแล้วคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ  จึงไม่ต้องตกลงหรือแบ่งกับใคร เพราะฉะนั้นถ้าพินัยกรรมไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้  ก็ไม่มีความจำเป็นต้องร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ผู้รับพินัยกรรมก็แค่ไปยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่จะประกาศการขอรับมรดกมีกำหนด 30 วัน หากไม่มีใครคัดค้านในช่วงประกาศ 30 วันนั้น ก็ไปจดทะเบียนโอนมรดกได้เมื่อพ้นกำหนด 30 วันแล้ว (ถ้าผู้เยาว์ที่อายุเยอะพอทำเรื่องเองก็สามารถยื่นคำขอได้  หรือให้พ่อแม่มาแสดงตัวทำเรื่องแทนได้ตามปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งผู้จัดการมรดกเลย เว้นแต่มีความจำเป็นอื่นตามที่อธิบายไว้ในตอนต้นแล้ว)

(ความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับการไม่ตั้งผู้จัดการมรดก  การรับโอนมรดกที่ดินโดยไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดกไว้นั้นมีอยู่จำนวนมาก  ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้และมีข้อดีอยู่มากด้วย  คือป้องกันไม่ให้ผู้จัดการมรดกที่ไม่ถูกกับทายาทหรือเป็นคนที่ไม่ดีมาทำหน้าที่นี้  เพราะบ่อยครั้งที่ผู้จัดการมรดกเกียจคร้านไม่ยอมทำหน้าที่ ถ่วงเวลาเพื่อหาประโยชน์จากทายาท หรือกลั่นแกล้งทายาทที่ตนเองไม่ชอบ   ทำให้ทายาทต้องยุ่งยากเกิดความล่าช้าในการรับโอนมรดก    จนถึงอาจต้องมีการร้องให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกก็มี  แต่หากจะตั้งไว้ก็ต้องเลือกตัวบุคคลให้ดี  อย่าตั้งคนที่อาจทะเลาะกับทายาทหรือรู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกกับทายาทบางคน  ต้องเป็นคนที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ จากการทำหน้าที่ด้วย) 


6.2 กรณีไม่มีพินัยกรรม

6.2.1. โดยขอรับโอนทั้งแปลง  ซึ่งก็คือการรับโอนมรดกตามที่เจ้ามรดกมีสิทธิอยู่ในที่ดินนั้นทั้งหมด  หมายถึงว่าหากเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวก็รับโอนมรดกไปทั้งแปลง  ส่วนหากเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับคนอื่น  ก็คือการรับโอนเฉพาะส่วนทั้งหมดของสิทธิที่เจ้ามรดกมีอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่ดินแปลงนั้น กฎกระทรวงฉบับที่ 24 วางแนวทางการโอนมรดกทั้งแปลงโดยไม่มีพินัยกรรมไว้ว่า ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด ถ้าผู้ขอนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม(รับมรดกทั้งแปลง) หรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ  พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม  หรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้น มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้  กฎกระทรวงเกี่ยวกับการรับมรดกที่ดินดังกล่าวก็ให้ยกคำขอเสีย   ตัวอย่าง นายดำเจ้ามรดกตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้   มีที่ดินสองแปลง มีลูกสองคนคือ นายแดง และนายเขียว ถ้านายแดงมายื่นคำขอรับโอนมรดกแปลงที่หนึ่งโดยขอรับโอนไปทั้งแปลง นายแดงสามารถทำได้   แต่ต้องให้นายเขียวมาเซ็นยินยอมให้รับโอนมรดกไปคนเดียว (นายเขียวจะทำหนังสือไม่รับมรดกแล้วมอบให้นายแดงนำมามอบให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเองก็ได้ แต่จะต้องนำมามอบในระหว่างช่วงเวลาการประกาศ 30 วันเท่านั้น  หากนำมามอบภายหลังครบกำหนดประกาศแล้ว จะทำไม่ได้ และมีผลทำให้คำขอนั้นต้องถูกยกเลิกโดยผลของกฎหมายโดยอัตโนมัติ)  ในทำนองเดียวกันถ้านายเขียวต้องการรับโอนมรดกอีกแปลงที่เหลือทั้งแปลงเพียงคนเดียว นายเขียวก็ทำได้โดยให้นายแดงเซ็นยินยอมให้นายเขียวรับไปคนเดียว ในกรณีอย่างนี้ทายาทจะตกลงรับโอนลงชื่อทุกคนทุกแปลง หรือจะรับโอนคนละแปลงก็เป็นเรื่องของทายาทจะตกลงกันแบ่งปันกันเอง  แต่ถ้าทั้งนายแดงและนายเขียวต่างไม่ยอมเซ็นให้แก่กัน ก็จะไม่สามารถรับมรดกแปลงละคนได้เลย แต่จะต้องจดทะเบียนลงชื่อทั้งสองคนรับโอนมรดกทั้งสองแปลง  แล้วค่อยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมทั้งสองแปลง เพื่อถือโฉนดแยกกันไปให้ชัดเจน

6.2.2 โดยรับโอนมรดกที่ดินเพียงบางส่วน ไม่ได้ขอรับโอนมรดกทั้งแปลง  การขอรับโอนมรดกที่ดินเพียงบางส่วนในงานที่ดินหมายถึง กรณีที่ที่ดินเป็นของเจ้ามรดกคนเดียว (ถ้ามีเจ้าของหลายคนก็จะเรียกว่าโอนมรดกเฉพาะส่วนเพียงบางส่วน) มีทายาทหลายคน แต่มีทายาทมาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิของเขาเพียงบางคนเท่านั้น โดยให้คงส่วนของทายาทอื่นไว้ในนามเจ้ามรดกต่อไป การโอนแบบนี้จึงไม่ได้เป็นการขอรับโอนมรดกทีเดียวทั้งแปลง เช่น ที่ดินแปลงหนึ่งเป็นของ ก. เจ้ามรดกแต่ผู้เดียวโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทายาทคือ ข.ค.ง.   แต่มี ข.หรือ ค. หรือ ง. มายื่นคำขอให้จดทะเบียนลงชื่อของตนตามสิทธิที่แต่ละคนมีอยู่ โดยให้คงส่วนของทายาทอื่นที่ไม่ได้มาขอรับโอนมรดกไว้ในชื่อของเจ้ามรดกต่อไป ความสำคัญที่จะทำให้เรียกว่าเป็นการโอนมรดก(ที่ดิน)เพียงบางส่วนอยู่ที่ว่า  ไม่ว่าจะมีคนรับโอนมรดกไปแล้วกี่คนก็ตาม  แต่ถ้าทายาทยังรับไปไม่ครบทุกคน ส่วนที่ยังไม่มีทายาทมารับนั้นจะคงไว้ในชื่อของเจ้ามรดกต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อจดทะเบียนโอนมรดกเพียงบางส่วนแล้ว ในโฉนดจะมีชื่อคนรับมรดกกับเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน  ชื่อเจ้ามรดกจะหมดไปก็ต่อเมื่อทายาทมารับโอนครบถ้วนหมดทุกคนแล้วเท่านั้น  จากตัวอย่างที่ยกมา  ถ้าหาก ข. มารับโอนตามสิทธิของตนเพียงคนเดียว ในโฉนดก็จะมีชื่อคนถือกรรมสิทธิ์สองคนคือ นาย ข. และนาย ก.(เจ้ามรดก) ถ้าต่อมาทายาทที่เหลือทยอยมารับโอนส่วนของแต่ละคนจนครบทุกคน ในโฉนดก็จะมีชื่อ ข. ค. ง. เป็นเจ้าของ ส่วนชื่อของ ก.(เจ้ามรดก)ก็จะไม่มีอีกต่อไป 

เหตุใดจึงต้องมีการจดทะเบียนโอนมรดกเพียงบางส่วน   การโอนมรดกแบบนี้มีสาเหตุจากว่าทายาทอาจทะเลาะเบาะแว้งจนไม่มองหน้ากัน ไม่ยอมให้คนยื่นคำขอรับโอนไปทั้งหมดเพียงคนเดียว ไม่ยอมทำอะไรร่วมกันทั้งนั้น ต่างคนก็ต่างมาทำเรื่องของตน โดยไม่ได้ให้ลงชื่อคนอื่นร่วมในคำขอของตนด้วย  ซึ่งทำได้ตามกฎหมายแต่ทายาทไม่ทำกันเพราะทะเลาะกันหรือไม่อาจนำหลักฐานการเป็นทายาทของคนอื่นมามอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้   (ตามกฎหมายการรับโอนมรดกที่ดินนั้น ถ้าทายาทคนหนึ่งมายื่นคำขอโอนมรดก ถ้าเขาจะให้ลงชื่อคนอื่น ๆ รับโอนไปด้วยทุกคน โดยไม่ต้องให้คนอื่นมาเซ็นในคำขอรับโอนด้วยก็ทำได้ โดยแสดงหลักฐานการเป็นทายาทของคนที่จะให้ลงชื่อรับโอนมรดกร่วมด้วย   เจ้าหน้าที่ก็จะประกาศการขอรับโอนมรดกรายนั้น   เมื่อครบกำหนดถ้าไม่มีคนโต้แย้งคัดค้านก็จดทะเบียนโอนมรดกรับร่วมกันได้หมดทุกคน ชื่อเจ้ามรดกก็จะไม่เหลืออยู่ในโฉนดต่อไป) การจดทะเบียนโอนมรดกเพียงบางส่วนนี้แม้ทำให้ทายาทมีชื่อเป็นเจ้าของโดยไม่ต้องวุ่นวายกับคนอื่นก็จริง  แต่ตราบใดที่ทายาทยังรับมรดกไม่ครบทุกคน การจัดการที่ดินทั้งแปลงจะทำไม่ได้ เพราะยังมีชื่อคนตายเป็นเจ้าของอยู่ การมีคนตายถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ก็จะทำให้แบ่งแยกไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาร่วมตกลงเซ็นชื่อด้วย และคนที่รับโอนมรดกก็จะบอกไม่ได้เหมือนกันว่าที่ดินส่วนของตนอยู่ตรงไหนแน่ คนซื้อก็อาจไม่อยากซื้อเพราะไม่รู้แนวเขตที่ดินของคนขาย 

การโอนมรดกเพียงบางส่วนนี้อาจจะมีข้อยุ่งยากขึ้น  หากไม่สามารถนำโฉนดที่ดินจากทายาทคนอื่นที่ไม่ถูกกันมาจดทะเบียนได้ (กรณีอื่นๆ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เอาโฉนดไปให้เจ้าหนี้ยึดไว้  หรือติดจำนองธนาคาร) แต่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81  ได้บัญญัติทางแก้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเรียกโฉนดมาจดทะเบียนได้ซึ่งจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียกโฉนดในหัวข้อที่ 9


การรับโอนมรดกเพียงบางส่วนกรณีมีพินัยกรรมก็ทำได้เพราะเป็นการรับมรดกตามสิทธิของผู้รับพินัยกรรมที่บางคนมีอยู่ ไม่ได้รับมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก  (เทียบตำตอบกรมที่ดินตาม  2.  ดูหน้า 136-7 คำวินิจฉับกรมที่ดินตามลิ้งค์)

https://www.dol.go.th/registry/DocLib3/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81.pdf

7. การดำเนินการหลังจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว

เมื่อมีการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกลงในโฉนดที่ดินแล้ว การจัดการมรดกต่อไปเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๑๗๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ทายาททั้งหลายย่อมหมดสิทธิที่จะเข้าจัดการมรดกด้วยตัวเอง  ผู้จัดการมรดกที่ได้รับแต่งตั้งจากศาล ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินตามบัญชีที่ระบุไว้ต่อศาลหรือไม่ระบุ   เว้นแต่ทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้นั้นเจ้ามรดกได้ตั้งผู้จัดการมรดกคนอื่นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  ถ้าพินัยกรรมของเจ้ามรดกตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกโดยมีข้อกำหนดพินัยกรรมว่า ในการจัดการมรดกนั้นให้ผู้จัดการมรดกจัดการร่วมกัน   แม้ต่อมาจะได้มีคำสั่งศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม(คือทางกฎหมายถ้าพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมารดกไว้  เขาก็เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  ไม่จำเป็นต้องไปร้องศาลให้ตั้งซ้ำอีก  แต่จะไปขอให้ศาลตั้งตามที่พินัยกรรมตั้งไว้อีกก็ได้)  อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกต้องเป็นไปตามพินัยกรรม   ถ้าพินัยกรรมตั้งไว้หลายคนและกำหนดว่าต้องจัดการร่วมกัน ถ้าผู้จัดการมรดกคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนที่การจัดการมรดกจะแล้วเสร็จ ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการมรดกต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไขเรื่องอำนาจให้เป็นไปตามกฎหมายก่อน (เปรียบเทียบกับฎีกา 1840/2534 ศาลมีคำสั่งตั้ง จ., ม., และ ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม ซึ่งตามพินัยกรรมข้อ 4 กำหนดไว้ว่าในการจัดการมรดกนั้นให้ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกร่วมกัน ดังนั้น อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมคือต้องจัดการร่วมกัน ถ้าผู้จัดการมรดกคนหนึ่งคนใดตาย คนที่เหลืออยู่ย่อมไม่มีอำนาจจะจัดการมรดกต่อไป) (ระเบียบ ข้อ 47) เช่น ขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพิ่ม เพราะเหตุผู้จัดการมรดกไม่สามารถจัดการมรดกได้ หรือเพราะเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก (ตามอนุมาตรา 2)  ในการดำเนินการจดทะเบียนใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน   ผู้จัดการมรดกทุกคนต้องมาร่วมดำเนินการด้วยกันเว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีที่ผู้จัดการมรดกบางคนไม่เห็นด้วย  แต่ผู้จัดการมรดกที่มาขอดำเนินการเป็นผู้จัดการมรดกส่วนข้างมาก ก็ดำเนินการในนามของผู้จัดการมรดกทั้งคณะได้ การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก หากมีรายงานการประชุมผู้จัดการมรดก หรือปรากฏหลักฐานว่าได้มีการแจ้งไปยังผู้จัดการมรดกทุกคนได้ทราบแล้ว มีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมากถือเป็นเสียงข้างมากแล้ว แต่ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแจ้งให้ผู้จัดการมรดกทุกคนได้ทราบถึงการจัดการมรดก   ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกตามเสียงข้างมาก  ก่อนดำเนินการตามคำขอ เจ้าหน้าที่ก็จะสอบสวนให้ได้ความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไปตาม

การจัดแบ่งมรดกโดยพินัยกรรมลักษณะทั่วไป ผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันอย่างไร เช่น กรณีพินัยกรรมมิได้กำหนดเจาะจงให้บุคคลใดได้รับทรัพย์สินเฉพาะอย่าง หรือให้ได้รับทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน อย่างเช่นกำหนดไว้เพียงลอย ๆ ว่าให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของใครบ้างเท่านั้น ซึ่งถือเป็นพินัยกรรมลักษณะทั่วไป ตามมาตรา ๑๖๕๑ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องโอนทรัพย์สินหรือที่ดินแต่ละแปลงให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมทุกคนรับร่วมกัน  แต่จะแยกแปลงกันก็ได้  คือจะต้องให้ทุกคนได้รับมรดกโดยเป็นธรรม  และสามารถตกลงกันเองได้   เจ้าหน้าที่ไม่มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกว่าจัดแบ่งอย่างไร   และปกติผู้จัดการมรดกสามารถทำนิติกรรมใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่จัดการมรดกได้ แต่บางกรณีจะทำไม่ได้ ได้แก่

7.1 การทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งผู้จัดการมรดกมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล เช่น ผู้จัดการมรดกต้องการขายที่ดินเพื่อเอาเงินมาแบ่งให้ทายาท กรณีแบบนี้ผู้จัดการมรดกจะเข้าซื้อเองไม่ได้ และจะขายให้แก่ผู้จัดการมรดกร่วมก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่การที่ผู้จัดการมรดกทำการโอนที่ดินให้แก่ตนเองเพราะตนเองก็เป็นทายาทโดยธรรมหรือเป็นผู้รับพินัยกรรมนั้นทำได้  เพราะไม่ใช่เป็นการทำนิติกรรม แต่เป็นการจดทะเบียนสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย (ได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม)ให้ปรากฏในทะเบียนที่ดินเท่านั้น และในกรณีจัดการมรดกที่ไม่มีพินัยกรรมและมีทายาทเป็นผู้เยาว์  การจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยผู้จัดการมรดกนั้นจะมีส่วนได้รับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมด้วยหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก และไม่ถือว่าเป็นการประนีประนอมยอมความกับทายาท ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจะขอโอนมรดกลงชื่อทายาทผู้มีสิทธิเพียงคนใดคนหนึ่งโดยไม่ลงชื่อผู้เยาว์ด้วยนั้น ย่อมดำเนินการได้ (ระเบียบ ข้อ 52(1)  คือบางแปลงให้ผู้เยาว์บางแปลงไม่ให้ก็ได้ 

ที่กล่าวนั้นเป็นแง่ทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะไม่ขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก  นั่นก็คือจะยอมให้ผู้จัดการมรดกไปตามนั้นได้ แต่ผู้จัดการมรดกก็ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อทายาทตามกฎหมาย  หากว่ากระทำการนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อทายาทคนใดคนหนึ่ง  ก็ย่อมถูกทายาทฟ้องร้องได้ แต่หากไม่มีใครฟ้องร้องสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นก็มีผลตามกฎหมายต่อไป

7.2 ทำผิดจากที่พินัยกรรมกำหนดไว้ เช่น เจ้ามรดกยกที่ดินแปลง ก. ให้เป็นของนายแดงแต่ผู้เดียว กรณีอย่างนี้จะเอาไปขายเพื่อนำเงินมาให้นายแดงไม่ได้   แต่ถ้านำไปขายเพื่อเอาไปใช้หนี้กองมรดก เนื่องจากเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินอื่นอยู่เลย อย่างนี้ทำได้เพราะเป็นการใช้หนี้กองมรดก ซึ่งกฎหมายแพ่งบัญญัติว่าต้องดำเนินการก่อนที่จะจัดการแบ่งหรือโอนให้ทายาท  อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมว่าให้นำทรัพย์มรดกไปจัดตั้งมูลนิธิ แต่ผู้จัดการมรดกประสงค์จะขายทรัพย์มรดก เพื่อนำเงินไปจัดตั้งมูลนิธิแทน อย่างนี้ทำไม่ได้เพราะไม่ตรงตามเจตนาของเจ้ามรดก

7.3 กรณีที่ศาลตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน แสดงว่าศาลไม่ประสงค์ให้จัดการมรดกลำพังคนเดียว ดังนั้น หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งไม่เต็มใจจะจัดการมรดกหรือตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือไม่มีอำนาจจะจัดการมรดกตามลำพังได้  หากผู้จัดการมรดกที่เหลือจะจัดการมรดกต่อไป จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงจะจัดการมรดกต่อไปได้  ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514

7.4 กรณีที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินกองมรดก ซึ่งมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมมีเพียงคนเดียว ผู้จัดการมรดกจะอ้างความจำเป็นเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท โดยไม่โอนมรดกให้แก่ทายาทก่อนไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าทายาทผู้นั้นจะยินยอมให้ขายได้หรือไม่ก็ตามเพราะการแบ่งปันให้แก่ทายาทนั้นจะต้ องเป็นกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมมีหลายคน (ระเบียบ ข้อ 51(5))  

7.5 ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนขายทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกได้ ไม่ว่าเป็นมรดกมีพินัยกรรมหรือไม่มี  และไม่ว่าผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม จะมีเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม  ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจที่จะขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกได้  แต่จะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะเอาทรัพย์ใดออกชำระหนี้ก่อน  และไม่จำเป็นต้องให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนโอนมรดกด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมนั้นจะเป็นผู้เยาว์หรือไม่ก็ตาม  เพราะหน้าที่หลักของผู้จัดการมรดกคือการรวบรวมทรัพย์มรดก จัดการใช้หนี้ของเจ้ามรดก  เมื่อมีเหลือจากใช้หนี้แล้วถึงจะจัดการแบ่งให้แก่ผู้รับมรดก (ระเบียบ ข้อ 53 (2)

8. ปัญหาผู้จัดการมรดกตาย มีการเปลี่ยนผู้จัดการมรดก หลังจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแล้ว

ถ้าตั้งผู้จัดการมรดกแล้วถ้าศาลเพิกถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ก็จด ทะเบียน “เปลี่ยนผู้จัดการมรดก” แต่ถ้าคนเดิมตายและศาลตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็ให้คนใหม่ไปจดในประเภท “โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดก” กรณีที่ได้จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว  ต่อมาผู้จัดการมรดกแบบมีคนเดียวหรือแบบมีหลายคน แล้วแต่กรณี  เกิดตายหมดทุกคนและทายาทโดยธรรมหรือทายาทตามพินัยกรรมไม่ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นใหม่อีก  แต่ประสงค์จะขอจดทะเบียนโอนมรดกโดยไม่มีผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ก็ไปขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนในประเภท “เลิกผู้จัดการมรดก” แล้วยื่นคำขอประกาศรับโอนมรดกโดยตรงต่อไปตามปกติ  (ระเบียบข้อ 39(5) และข้อ 50)  เพราะอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวเมื่อตายไปก็เป็นอันสิ้นสุดลง และการที่จะรับโอนมรดกใด ๆ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำโดยผู้จัดการมรดก  ถ้าทายาทไม่ต้องการให้มีผู้จัดการมรดกอีกต่อไป ก็ไม่ต้องร้องศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก แต่ทายาทรับโอนกันตามลำพังได้

9. การเรียกหนังสือแสดงสิทธิที่คนอื่นยึดไว้มาจดทะเบียนโอนมรดก

ปกติในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยทั่วไป เช่น การจดทะเบียนขาย ให้ จำนอง เช่า  เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องนำโฉนดมาจดทะเบียน  หากโฉนดอยู่ในความยึดครองของผู้อื่น เช่น ผู้รับจำนอง  ก็ต้องไปเอามาจดทะเบียนให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องฟ้องร้องกันต่อไป เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจไปเรียกให้คนที่ยึดถือโฉนดไว้นำมามอบให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่สำหรับการจดทะเบียนเกี่ยวกับการโอนมรดกเฉพาะตามมาตรา 81 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่กับคนอื่นมาจดทะเบียนได้ 

หลักในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นมีว่า  ถ้าผู้ขอรับมรดกไม่สามารถนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมายื่นพร้อมกับคำขอได้  และไม่ทราบเครื่องหมายที่ดิน(เช่น เลขโฉนดที่ดิน)แปลงที่จะขอจดทะเบียนมรดก เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอยื่นคำขอตรวจหลักฐานที่ดินนั้นเสียก่อน ในกรณีที่ทราบเครื่องหมายที่ดินที่จะขอรับมรดก  เมื่อได้ตรวจสอบกับหลักฐานที่ดินแปลงนั้นได้ก็ดำเนินการไปได้ ในกรณีที่นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมายื่นไม่ได้เพราะเป็นอันตรายหรือสูญหาย  ผู้ขอโอนมรดกก็ขอออกใบแทนได้  โดยจะทำเรื่องประกาศขอจดทะเบียนมรดกและการขอออกใบแทน(ในกรณีที่ต้องประกาศ เช่นโฉนดสูญหาย) แยกเป็นสองเรื่อง   แล้วบันทึกถ้อยคำผู้ขอให้จัดการนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นมายื่นในวันจดทะเบียน แต่ถ้าในวันนัดจดทะเบียนก็ยังไม่สามารถนำมาได้อีก  เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจากผู้ยึดถือมาดำเนินการต่อไป (ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ขอจะต้องแจ้งที่อยู่ของคนยึดถือโฉนดด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมไม่รู้ได้หากผู้ขอไม่แจ้งให้ทราบ)

ในการเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เจ้าหน้าที่จะเรียกก็ต่อเมื่อเรื่องที่ขอจดทะเบียนนั้นพร้อมที่จะจดทะเบียนได้ โดยเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับถึงผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมามอบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่กำหนด แต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียก  เมื่อครบกำหนดตามที่เรียกให้ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  และมีหลักฐานการได้รับหนังสือของผู้ยึดถือแล้ว แต่ผู้ยึดถือไม่ส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบภายในกำหนด เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานต่อไปได้ (ระเบียบ ข้อ 17)  
https://www.dol.go.th/registry/Documents/5460.pdf    

ถ้าผู้ยึดถือนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาให้จดทะเบียน เมื่อจดเสร็จแล้วก็จะให้คืนแก่ผู้ที่นำมามอบรับไปในวันจดทะเบียนนั้น จะไม่มอบให้คนรับโอนมรดก(คือเจ้าหน้าที่จะไม่ตัดสินว่าใครมีสิทธิยึดถือไว้ดีกว่ากัน  แต่ดูจากว่าใครนำมามอบก็คืนให้เขาไปเก็บตามเดิม แต่ถ้าเขาไม่ต้องการรับคืนก็เป็นเรื่องของเขา   การยึดหลักการนี้มีส่วนช่วยให้คนยึดถือไว้นำมามอบเพื่อให้จดทะเบียนได้มีความมั่นใจว่าหากจดทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะคืนให้เขาไป  เพราะหากไม่ใช้หลักการนี้เขาก็อาจไม่นำส่งมอบเลยก็ได้ และทำให้การจดทะเบียนโอนมรดกที่เป็นจุดประสงค์หลักต้องขัดข้องเสียเวลาไป   ส่วนการจะฟ้องร้องกันอย่างไรก็เป็นเรื่องของคู่กรณี  เพราะว่าการยึดถือไว้บางครั้งก็มีสิทธิทำได้หรือทำไม่ได้   แต่เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้ตัดสินต้องให้ศาลตัดสิน  ซึ่งบางกรณีการที่ผู้ยึดถือไว้ไม่ส่งมอบบางครั้งมีเหตุผลเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับฟังและบางครั้งก็ไม่เรียกมาจดทะเบียนได้  เพราะอำนาจที่จะเรียกตามมาตรา 81 นี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำทุกครั้งไป  ต้องดูข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบด้วย


ในกรณีผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนผู้จัดการตามมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่นำโฉนดมาเอง  เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจเรียก  คือถึงเรียกไปถ้าคนยึดไว้ไม่มอบให้ก็ทำอะไรไม่ได้ เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับคนยึดถือโฉนดได้

10. การโอนมรดกสิทธิอื่น ๆ และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นก็มีได้

การโอนมรดกไม่ได้มีเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น แต่สิทธิบางอย่างที่มีอยู่เหนือที่ดินก็สามารถโอนมรดกได้ เช่น สิทธิของผู้รับจำนอง  สิทธิเหนือพื้นดิน (ป.พ.พ.มาตรา 1411 กำหนดให้รับโอนมรดกได้ แต่ถ้าได้กำหนดไว้ในนิติกรรมก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินว่าไม่ให้มีการรับมรดกสิทธิเหนือพื้นดิน ก็จะมีการรับโอนมรดกสิทธิเหนือพื้นดินไม่ได้)นอกจากนี้ยังมีการโอนมรดกในอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ นอกจากที่ดินได้ เช่น บ้านพักอาศัยอย่างเดียวไม่รวมที่ดิน ซึ่งมีได้ เช่น เจ้าของที่ดินจดทะเบียนให้ผู้อื่นมีสิทธิเหนือพื้นดิน โดยให้ผู้อื่นนั้นปลูกบ้านในที่ดินของตนและยอมให้ผู้นั้นมีกรรมสิทธิ์ในบ้านแยกจากที่ดินของตนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1410) และทำให้บ้านนั้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินแต่อย่างใด (ป.พ.พ. มาตรา 146)ในการโอนมรดกบ้านเช่นนี้ เจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหลักฐาน เช่น ใบขออนุญาตปลูกสร้าง หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของเจ้ามรดกจริง เพื่อประกอบการพิจารณาในการจดทะเบียนมรดกด้วย เมื่อสอบสวนพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวเป็นของเจ้ามรดกจริง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป การจดทะเบียนโอนมรดกอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพียงอย่างเดียว จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนแบบโฉนดที่ดินให้เจ้าของบ้านยึดถือไว้ เพราะไม่เคยมีการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในบ้านแต่อย่างใด  เมื่อเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนมรดกแล้ว ถ้าผู้ขอต้องการหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอยื่นคำขอคัดสำเนารายการจดทะเบียนมรดกในทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ท.อ.๑๓) แล้วเจ้าหน้าที่จะคัดหรือถ่ายสำเนาเอกสารและรับรองสำเนาให้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าคัดและรับรองสำเนาตามกฎหมาย
 
11. การประกาศ ส่งประกาศ และการนับวันประกาศ

การยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินและจดทะเบียนผู้จัดการมรดกต้องมีการประกาศให้ประชาชนทราบก่อนมีกำหนด 30 วัน  จะมียกเว้นไม่ต้องประกาศก่อนคือกรณีการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล   และการโอนมรดกหลังจากจดทะเบียนผู้จัดการมรดกไว้แล้ว เมื่อประกาศครบ 30 วันแล้ว  หากไม่มีคนคัดค้านก็สามารถจดทะเบียนตามที่ขอได้ ในกรณีที่ต้องมีประกาศนั้นส่วนใหญ่เป็นการปิดประกาศในสถานที่ราชการ เช่น ที่สำนักงานที่ดิน ที่ทำการเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ที่ทำการกำนัน ซึ่งสำนักงานที่ดินจะมีหนังสือนำส่งให้หน่วยงานตามสถานที่ดังกล่าวเป็นผู้ปิดประกาศโดยไม่ต้องเสียเงินค่าปิดประกาศ   และตามกฎหมายจะต้องปิดประกาศการขอรับโอนมรดกในตัวแปลงที่ดินด้วย  การไปปิดในที่ดินนี้ผู้ขอรับโอนจะเป็นคนไปปิดเองไม่ได้  แต่จะให้กำนัน(ผู้ใหญ่บ้าน)ไปปิดประกาศและรายงานการปิดประกาศในหางประกาศแล้วให้ผู้ขอนำมามอบให้สำนักงานที่ดิน และตามกฎหมายผู้ขอต้องให้ค่าปิดประกาศแก่ผู้ไปปิดจำนวน 10 บาท เป็นค่าป่วยการในการไปปิดประกาศ (ซึ่งในยุคนี้อาจเห็นว่าไม่คุ้มค่าเสียเวลาและการเดินไปปิดเพราะบางทีอยู่ไกลเข้าลำบาก)

วิธีการนับวันปิดประกาศ

การนับวันปิดประกาศว่าจะครบกำหนด 30 วันเมื่อใด ให้เริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นของวันปิดประกาศฉบับหลังสุดเป็นต้นไป เช่น ปิดที่สำนักงานที่ดินวันที่ 5 เมษายน ปิดที่อำเภอวันที่ 6 เมษายน แต่ไปปิดที่ที่ดินเป็นที่สุดท้ายในวันที่ 7 เมษายน อย่างนี้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน จะไปครบกำหนด 30 วันในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งจะมาจดทะเบียนโอนมรดกได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม เป็นต้นไป แต่ถ้าวันที่ 7 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ จะต้องนับวันที่ 8 พฤษภาคม เป็นวันครบ 30 วัน และจะมาจดทะเบียนได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม เป็นต้นไป  การนับวันนี้ต้องนับให้ดีเพราะจะมีบ่อยครั้งที่คนขอรับโอนมรดกมาติดต่อขอโอนมรดกก่อนวันครบกำหนดทำให้เสียเวลาเปล่า ๆ

การส่งประกาศให้ทายาท

ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือส่งประกาศให้กับบุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่า
เป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทำได้   พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือส่งประกาศแจ้งให้ทายาทผู้มีสิทธิควรได้รับมรดก ตามที่ปรากฏในบัญชีเครือญาติเท่านั้น ในการนี้พนักงานเจ้าหน้าที่จะสอบถามผู้ขอ พร้อมทั้งบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า ผู้ขอจะเป็นผู้นำหนังสือและประกาศไปส่งเองหรือจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ส่งให้ ถ้าผู้ขอจะเป็นผู้นำส่งเอง เจ้าหน้าที่ก็ให้ผู้ขอลงนามรับหนังสือและประกาศไป และเมื่อผู้ขอได้นำส่งให้ทายาทอื่นแล้ว ให้นำใบรับของทายาทนั้น ๆ มามอบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการจดทะเบียน  ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ส่งจะจัดการส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ   แต่จริง ๆ ในเรื่องนี้ไม่ค่อยได้มีการปฏิบัติบ่อยนักเพราะทายาทมักมายื่นคำขอหรือมาเซ็นไม่รับมรดกพร้อมกันทุกคน  หรือถ้าไม่มาเพราะไม่ต้องการรับมรดก ก็มักทำหนังสือไม่รับมรดกมามอบต่อเจ้าหน้าที่ จึงมักไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบว่ามีการขอรับมรดกอีกแต่อย่างใด

12. การรับคำขอโต้แย้งและการเปรียบเทียบมรดก

ในระหว่างประกาศขอรับโอนมรดก อาจมีคนโต้แย้งการขอรับโอนมรดกได้ แต่เนื่องจากเป็นการขอรับโอนมรดก ผู้มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านการขอรับมรดกจึงต้องเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ซึ่งต้องเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น ถ้าเป็นคนอื่นไม่ใช่ทายาทแล้วจะมาขอโต้แย้งไม่ได้ เช่น คนที่อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์จะมาโต้แย้งการรับมรดกไม่ได้  ได้แต่จะร้องต่อศาลให้มีคำสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

พระภิกษุมาขอรับมรดกหรือโต้แย้งคัดค้านเพื่อขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมก็ทำได้ไม่เป็นการต้องห้าม ตามมาตรา ๑๖๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับคำขอไว้ดำเนินการตามกฎหมายได้ตามปกติ   โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะสอบสวนถึงสิทธิการรับมรดกของผู้โต้แย้ง โดยสอบสวนทำนองเดียวกับการสอบสวนผู้ขอจดทะเบียนรับโอนมรดก เมื่อครบกำหนดประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะสอบสวนเปรียบเทียบเป็นหนังสือ ให้ผู้ขอและผู้โต้แย้งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยจัดส่งหนังสือโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ  

วิธีการเปรียบเทียบจะเป็นดังนี้ เมื่อผู้ขอและผู้โต้แย้งได้มาพร้อมกันตามกำหนดนัด เจ้าหน้าที่จะแจ้งคำขอและคำโต้แย้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบ แล้วชี้แจงถึงสิทธิของผู้ขอและผู้โต้แย้งอันจะพึงมีตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่  ถ้าตกลงกันได้ก็จะจัดทำบันทึกข้อตกลงไว้ในแบบบันทึกถ้อยคำ ให้ทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ถ้าข้อตกลงนั้นชอบด้วยกฎหมาย ก็ดำเนินการไปตามข้อตกลงนั้นได้ ถ้าคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็สอบสวนคู่กรณี พยานบุคคลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามที่เห็นสมควร  แล้วจะสั่งการไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และหลักกฎหมาย โดยสั่งไว้ด้วยว่า ถ้าฝ่ายใดไม่พอใจคำสั่งฝ่ายนั้นต้องไปฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และต้องนำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาดังกล่าวด้วย หากไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการไปตามที่สั่งการไว้  ถ้าผู้ขอหรือผู้โต้แย้งมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดนัดแต่เพียงฝ่ายเดียว  ก็ถือได้ว่าคู่กรณีไม่อาจตกลงกันได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการเปรียบเทียบสั่งการโดยถือเอาหลักฐานที่มีอยู่เป็นหลักในการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร  เสร็จแล้วจะแจ้งให้ผู้ขอหรือผู้โต้แย้งที่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดนัดทราบ   

ส่วนกรณีผู้ขอหรือผู้โต้แย้งที่ไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะส่งหนังสือแจ้งไปให้ทราบในทำนองเดียวกัน  เมื่อฝ่ายที่ไปฟ้องได้นำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกต่อศาลมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ก็จะระงับการจดทะเบียนไว้  ถ้าไม่นำหลักฐานที่ฟ้องร้องภายในกำหนดดังกล่าวมาแสดง ก็ดำเนินเรื่องตามที่ได้สั่งการไว้ต่อไป 

ในกรณีที่คู่กรณีได้ทราบคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบ พนักงานเจ้าหน้าที่จะบันทึกการที่ผู้ขอหรือผู้โต้แย้งไม่ยอมลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน พร้อมด้วยพยานรู้เห็น สำหรับกรณีที่ทั้งผู้ขอและผู้โต้แย้งไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดนัด เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือนัดคู่กรณีมาทำการสอบสวนเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง โดยแจ้งกำหนดวัน เวลาและสถานที่ที่จะสอบสวนเปรียบเทียบให้ผู้ขอและผู้โต้แย้งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และจะมีการระบุไปด้วยว่า ถ้าผู้ขอและผู้โต้แย้งไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนเปรียบเทียบตามกำหนดและมิได้แจ้งข้อขัดข้องให้ทราบ  พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยกเลิกเรื่องขอจดทะเบียนมรดกนั้นเสีย   แล้วเก็บเรื่องเข้าสารบบที่ดินแปลงนั้น  (ต้องเข้าใจไว้ว่าการทำเรื่องต่าง ๆ ที่สำนักงานที่ดินนั้นเขาจะเก็บไว้เป็นหลักฐานตลอดไป เพื่อจะได้ใช้พิสูจน์ความผิดในกรณีมีการแจ้งเท็จหรือเป็นหลักฐานว่าเคยมาทำเรื่องอะไรไว้   (การพิพาทเมื่อมีการรังวัดเช่นกันก็เก็บไว้เช่นกัน )) จะได้ช่วยให้คนที่จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้รู้ว่ามีปัญหาอะไรมาก่อนจะได้ระวังไม่เข้าทำสัญญาด้วย   และพนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งสิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ผู้ขอทราบเพื่อให้ดำเนินการ(ฟ้อง)ทางศาลปกครองได้  หากเห็นว่าเจ้าหน้าที่สั่งการไม่ถูกต้อง

ในกรณีที่ทายาทได้ยื่นฟ้องต่อศาลหรือทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก  ได้ฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดกต่อศาล ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการได้มาโดยทางมรดก เมื่อผู้นั้นนำหลักฐานการยื่นฟ้อง พร้อมสำเนาคำฟ้องมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่จะลงบัญชีอายัด และหมายเหตุกลัดติดไว้ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินและสารบบที่ดินเป็นการชั่วคราวว่า “ที่ดินแปลงนี้ได้มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกต่อศาลตามคำฟ้องศาล................................คดีหมายเลขดำที่.............................ลงวันที่...........................ให้ระงับการจดทะเบียนไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด” และเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดประการใดก็ให้ดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น   หากมีผู้ขอโต้แย้งภายหลังวันครบกำหนดประกาศ เจ้าหน้าที่จะไม่รับคำโต้แย้งไว้ดำเนินการให้ได้  เนื่องจากประกาศครบกำหนดตามกฎหมายแล้ว

13. ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการโอนมรดก

ขั้นตอนการประกาศรับมรดก เสียค่าคำขอแปลงละ 5 บาท ค่าประกาศแปลงละ 10 บาท ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ไปปิดประกาศแปลงละ 10 บาท ถ้าให้มีพยานด้วยก็เพิ่มอีกคนละ 10 บาท

ขั้นตอนจดทะเบียน ถ้าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก เลิกผู้จัดการมรดก เปลี่ยนตัวผู้จัดการมรดก แปลงละ 50 บาท ส่วนตอนจดทะเบียนโอนมรดกคิดร้อยละ 50 สตางค์โดยคิดจากราคาประเมินของทางราชการในกรณีโอนระหว่างบุพพการีกับผู้สืบสันดาน และระหว่างสามีภรรยา ส่วนกรณีระหว่างคนอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว เก็บร้อยละ 2 ของราคาประเมินของทางราชการ ในการจดทะเบียนโอนมรดกบางส่วน จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่ผู้ขอได้แสดงการมีสิทธิในบันทึกการสอบสวนโดยคิดเฉลี่ยตามส่วนที่ขอรับมรดก ตามหลักเกณฑ์และอัตราข้างต้น


สรุป ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน

* ค่าคำขอ แปลงละ ๕ บาท
* ค่าประกาศมรดก แปลงละ ๑๐ บาท
* ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก แปลงละ ๕๐ บาท
* ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ ๒ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
* ในกรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ร้อยละ 50 สตางค์


14. คำแนะนำเกี่ยวกับสอบถามเรื่องการโอนมรดก

เมื่อมีปัญหาใดๆ เกี่ยวข้องกับการขอรับโอนมรดก วิธีการดีที่สุดคือไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ว่าต้องทำอย่างไร ปกติที่สำนักงานที่ดินจะมีผู้ให้คำแนะนำประจำอยู่แล้ว ถ้าไม่เข้าใจก็ถามคนอื่นดูอีกได้ แต่ถ้ากลัวว่าจะโดนว่าไม่เชื่อเขา ก็ไปถามที่สำนักงานที่ดินแห่งอื่น หรือโทรไปถามที่กรมที่ดินหรือสำนักงานที่ดินอื่น ๆ ได้ ไม่ควรไปสอบถามทนายความก่อนถามสำนักงานที่ดิน  เพราะเหตุว่าทนายความไม่ใช่ผู้ปฏิบัติโดยตรง เขาไม่มีความรู้ความชำนาญ
ในเรื่องวิธีการรับมรดกที่ดินพอ  เพราะมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบกรมที่ดินรองรับการโอนมรดกแทบจะทุกรูปแบบอยู่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะทำตามนั้นโดยเคร่งครัด และเขาไม่กลัวถูกฟ้องจนไม่กล้าทำให้อย่างแน่นอน ถ้าหากคนขอรับโอนมีสิทธิตามกฎหมายจริง เพราะถ้าสามารถแสดงหลักฐานว่ามีสิทธิรับมรดกจริง เจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องและทำการประกาศ เมื่อครบกำหนดประกาศ ไม่มีคนคัดค้านเขาก็โอนให้ตามนั้น ก็ไม่ต้องรับผิดเพราะทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ หากจะมีการทำหลักฐานเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือมีการปิดบังทายาทก็เป็นเรื่องของคนที่มายื่นคำขอต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาเอง เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ