ONE's View:แนวโน้มพันธบัตรรัฐบาลไทยปี 58 vs อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงปีนี้ ผมมองว่าปัจจัยสำคัญๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่ การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในช่วงไตรมาสที่ 1/58 โดยให้น้ำหนักในส่วนนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันตลาดบางส่วนคาดว่าน่าจะมีโอกาสที่ กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เป็น 1.75% จากปัจจุบัน 2.00% ในการประชุมครั้งนี้ คือ วันที่ 28 ม.ค. 58 ที่กำลังจะมาถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงเพื่อรองรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผมผมมองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อซึ่งทรงตัวในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คาดว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่จะถึง เพื่อประเมินการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลังจากที่มีมาตรการอัดฉีดของภาครัฐบาลก่อน
โดยคาดว่าภาคการลงทุนและการบริโภค การท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ แต่หากแรงกดดันจากภาคการส่งออกไทยยังคงอ่อนแอหรือมีความล่าช้าของโครงการลงทุนของภาครัฐกว่าที่คาด ซึ่งอาจกดดันให้การเติบโตของ GDP ไทยต่ำกว่าคาดแล้วนั้น ก็อาจทำให้มีโอกาสที่ กนง.จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยหาก กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วนั้นก็มองว่าน่าจะปรับลดภายในไตรมาสที่ 1/58 ซึ่งจะสามารถกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินได้ชัดเจนกว่าโดยเปรียบเทียบ ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากแนวโน้มที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีโอกาสเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเป็นช่วงที่ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินมากกว่า ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผล ได้แก่ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดว่าการประชุมในวันที่ 22 ม.ค. 58 ECB จะมีการส่งสัญญาณหรือมีมติในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะอยู่ที่มูลค่ากว่า 5 แสนล้านยูโร และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้จะยังมีสภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบต่อไป และผลักดันให้ยังมีเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับคำแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงนี้ หากนักลงทุนท่านใดที่รับความผันผวนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนใน ตราสารหนี้ได้น้อย ผมแนะนำให้ลงทุนในกองทุนประเภทตราสารหนี้ที่มีลักษณะ Term Fund ที่มีรอบระยะเวลาการลงทุนในช่วง 3-6 เดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการปรับตัวของราคาพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งกองทุนจะถือครองตราสารจนครบอายุที่ลงทุนและมีอัตราผลตอบแทนตามประมาณการค่อนข้างแน่นอน ขณะที่นักลงทุนที่ไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้อายุ 3-6 เดือนได้ หรือต้องการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อพักเงินระยะสั้นและเพื่อสภาพคล่องแล้ว แนะนำลงทุนในกองทุนรวม Money Market ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุตราสารระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งหากนักลงทุนสนใจการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้และหรือพันธบัตรรัฐบาล ทาง บลจ.วรรณมีเสนอขายกองทุนดังกล่าวหลายกองทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งขอรับหนังสือชี้ชวนเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 แต่ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ จากคอลัมน์ ONE's View ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ Dr.win@one-asset.com ขอบคุณแหล่งข่าว manager.co.th