หลายคนอาจเกิดการลังเลไม่กล้าซื้อบ้านมือสอง เนื่องจากกลัวไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการซื้อบ้านใหม่ แต่หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว ไม่ว่าจะซื้อบ้านมือสองหรือบ้านใหม่ ก็ล้วนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน เราจึงมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆในการนำไปใช้พิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับการซื้อบ้าน 8 ข้อหลักๆ ด้วยกันคือ

  1. เลือกจากทำเล (Location) : บ้านที่คุณจะซื้ออยู่ในทำเลที่เอื้อต่ออะไรบ้าง ความสะดวกในการเดินทาง แนวเส้นทางการคมนาคมในอนาคต ความคุ้มค่ากับการให้เวลาต่อครอบครัว หรือเลือกสังคมรอบข้างที่ดีและเอื้อต่อไลฟ์สไตล์ปัจจัยข้อนี้สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
  2. สภาพของตัวบ้าน : เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการตรวจสอบก่อนซื้อบ้านมือสอง ว่าบ้านหลังนี้ปลูกมานานกี่ปีแล้วตรวจสอบทั้งภายนอก งานระบบ งานโครงสร้าง หาร่องรอยการชำรุดของ “โครงสร้าง” เพื่อที่จะไม่มาเกิดค่าใช้จ่ายหนักๆในภายหลัง
  3. คุ้มค่าน่าลงทุน (Invesment) : อย่าลืมว่าการซื้อบ้านคือการลงทุนระยะยาว การจะลงทุนลักษณะนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างน้อยต้องมั่นใจว่าภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ค่าใช้จ่ายเมื่อรวมราคาซื้อและค่าซ่อมแล้ว ไม่ได้สูงกว่าการซื้อบ้านใหม่
  4. มีอนาคต (Wealth) : การมองให้ไกลในระยะยาวถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยควรพิจารณาว่า ในอนาคตหากจะปล่อยเช่าหรือขายต่อ ต้องได้มูลค่าที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ถีบตัวสูงขึ้นเช่นกัน
  5. ราคา : ประเมินราคาทรัพย์สินเบื้องต้นก่อนว่าขนาดของบ้านเหมาะกับการใช้สอยของเราหรือไม่ หรือถ้าบ้านต้องปรับปรุงซ่อมแซม จะคุ้มหรือไม่กับการที่ซื้อมา นอกจากนี้ก่อนจะทำสัญญาให้อ่านข้อตกลงให้ละเอียดว่าราคานี้ รวมและไม่รวมอะไรบ้าง เช่น  ค่าธรรมเนียมการโอน, ค่าอากรแสตมป์ ฯลฯ
  6. ตรวจเรื่องกฎหมาย : เจ้าของเดิมที่ขายบ้าน อาจจะขายด้วยข้อจำเป็นทางกฎหมายบางอย่าง ก่อนที่จะซื้อควรตรวจสอบกฎหมายให้ถี่ถ้วน เช่น  ตรวจสอบเรื่องเวนคืนว่าบ้านหลังนั้นอยู่ในระยะเวนคืนหรือไม่ หรือ บ้านหลังนี้ติดจำนองกับสถาบันการเงินอื่นๆใดหรือไม่
  7. ตรวจสอบผู้ขาย : ดูว่าผู้ขายนั้นมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยนั้นจริงหรือไม่  เพราะฉะนั้น อย่าลืมขอดูบัตรประชาชนและชื่อหลังโฉนดก่อนที่จะตกลงจะซื้อ
  8. ตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย :  ในเรื่องของค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน, ภาษี ฯลฯ จะต้องมีการตกลงเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และควรจะเก็บสัญญาเอาไว้แม้จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วก็ตาม