อาการตะคริวกิน มักพบมากในผู้สูงอายุ และผู้ที่พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ "อาการตะคริวกิน" ก็ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต ยกเว้น ว่าจะเป็นตะคริวในระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ เทอร์ร่า บีเคเค ขอนำนานาสาเหตุ กับ 10 วิธีป้องกันตะคริว และ ทำอย่างไรเมื่อตะคริวมาเยือน จาก นิตยสาร Health Today "ตะคริว" หลักๆ จะมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ตะคริวขา : เป็นตะคริวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ากล้อมเนื้อบริเวณลำขามีการหดตัวอย่างแรงและทันที มักเป็นช่วงสั้นๆ คือ ไม่ถึง 1 นาทีอาการก็หายไป ยกเว้นบางทีที่อาจจะเป็นอยู่หลายนาทีได้เหมือนกัน ตะคริวขามักเกิดระหว่างออกกำลังกายทั่วๆไป ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสการเป็นตะคริวขาสูง ตะคริวแดด : มักเกิดกับผู้ที่เสียเหงื่อมากๆ เช่น ผู้ที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อน (มักเป็นในช่วง 2-3 วันแรก สำหรับผู้ที่เริ่มทำงานกลางแจ้ง โดยไม่เคยทำมาก่อน) หรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ โดยอาจเกิดขึ้นในระหว่างออกกำลังกาย หรือหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว 2-3 ชั่วโมงก็ได้ ตะคริวมักเกิดบริเวณน่อง ต้นขา และไหล่ สามารถป้องกันได้โดยการได้รับเกลือแร่ที่เพียงพอ จากอาหารหรือน้ำดื่มเกลือแร่ แต่ไม่ควรใช้เกลืออัดเม็ด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
ตะคริวกลางคืน : แน่นอนว่ามักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนขณะนอนหลับ โดยมีดอกาสเกิดขึ้นบริเวณขาและหลังเท้า อาการตะคริวจะกินเวลา 2-3 วินาที แต่บางรายอาจกินเวลานานกว่านั้น เช่น เป็นนานถึง 10 นาที ซึ่งในกรณีนี้จะมีอาการปวดด้วย ส่วนสาเหตุก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป การยืนหรือนั่งนานๆ ภาวะร่างกายขาดน้ำ รวมถึงการวางขาที่ไม่เหมาะสมระหว่างนั่งก็ทำให้เกิดตะคริวขาระหว่างนอนได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน พาร์กินสัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง ไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ก็อาจทำให้เป็นตะคริวขาในตอนกลางคืนได้ เช่นกัน แต่พบน้อย โดยอาการจะดีขึ้นหากได้เดินหรือเคลื่อนไหว 10 วิธีป้องกันตะคริว 1. ดื่มน้ำ 6-8 แก้วทุกวัน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งนำไปสู่การเป็นตะคริว 2. ยืดเหยียดขาระหว่างวัน และเวลากลางคืน 3. ออกกำลังกายเบาๆ สม่ำเสมอ โดยขยับขาประมาณ 2-3 นาทีก่อนนอน เช่น การปั่นจักรยาน 4. เวลาห่มผ้าอย่าให้ผ้าตึงเกินไป ควรห่มแบบหลวมๆ ไว้ ผ้าห่มจะได้ไม่ไปกดขาและเท้า ซึ่งส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงขาไม่สะดวก 5. ระหว่างออกกำลังกายควรดื่มน้ำ และเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ 6. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 7. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีแมกนีเซียม เป็นต้น 8. ฝึกยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ เช่น หากต้องการป้องกันตะคริวที่่น่องให้กระดกเท้าขึ้นลง หรือเอาปลายนิ้วมือแตะปลายเท้า 9. หลีกเลี่ยงอากาศเย็น เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง 10. สวมรองเท้าที่เหมาะสม และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งเท้า ทำอย่างไรเมื่อตะคริวมาเยือน 1. เดินหรือขยับขา 2. เหยียดขาไปตรงๆ และกระดกให้ปลายเท้าหันเข้าหาลำตัว ห้ามกระตุกหรือกระชากอย่างรุนแรงและเร็ว เพราะกล้ามเนื้ออาจจะฉีกขาดได้หรือทำให้เจ็บ หรืออาจจะดึงนิ้วเท้าเข้าหาลำตัว (คล้ายการหักนิ้ว) โดยอาจจะทำจนกระทั่งตะคริวหายไป 3. อาบน้ำอุ่น ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ท่าออกกำลังกายคลายตะคริว ท่าออกกำลังกายไม้ตายที่จะช่วยบำบัดตะคริวกันขาตอนกลางคืน สามารถทำได้ที่บ้านทุกวัน โดยมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้ 1. เริ่มจากให้ยืนห่างจากฝาผนัง โดยให้ฝ่ามือสามารถแตะผนังได้อย่างสุดแขน 2. ระหว่างที่ยืน เอาฝ่ามือแปะลงบนผนัง จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนฝ่ามือทั้งสองข้างไต่ผนังให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เคลื่อนฝ่ามือทั้งสองข้างไต่ผนังให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าน่องและแขนตึง จากนั้นค้างไว้ 30 วินาที 3. ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสาร : Health Today