การต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกยึดทรัพย์
หากภาระการผ่อนชำระค่าบ้านถึงทางตัน และการประนอมหนี้ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เจ้าหนี้ต้องการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด และเรื่องได้เข้าไปถึงชั้นศาลแล้ว ลูกหนี้ตาดำๆ จะยังมีทางออกเพื่อรักษาบ้านไว้หรือไม่ คำตอบคือพอมีทางต่อสู้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
เราเคยพูดถึงการประนอมหนี้กันไปแล้วใน กลยุทธ์ประนอมหนี้เพื่อรักษาบ้าน ซึ่งเป็นวิธีชะลอขั้นตอนการฟ้องร้องและชำระหนี้ต่อไปโดยรับภาระน้อยลง และยังได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านอยู่เหมือนเดิม แต่ในกรณีที่เรากำลังจะกล่าวถึงคือขั้นต่อจากการประนอมหนี้ เมื่อเจ้าของบ้านในฐานะลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่มีความสามารถในการชำระ จนยืดเยื้อถึงขั้นศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ ซึ่งหากเรื่องล่วงเลยมาจนถึงจุดนี้ ลูกหนี้ก็จะเหลือวิธีต่อสู้น้อยลง
กลยุทธ์ประนอมหนี้เพื่อรักษาบ้าน ระหว่างทางก่อนการเป็นเจ้าของบ้านอย่างสมบูรณ์อาจเกิดอุบัติเหตุหรือเรื่องราวบางอย่างซึ่งมีผลต่อการสภาพคล่องทางการเงิน ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บ้านถูกยึด จะมีวิธีการชะลอขั้นตอนการฟ้องร้องและชำระหนี้ได้อย่างไรอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ค่ะ
แม้เจ้าหนี้จะสามารถขออำนาจจากศาลเพื่อยึดทรัพย์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามาเคาะประตูบ้านพร้อมเจ้าหน้าที่แล้วจะยึดไปได้เลย ตามกฎหมายแล้วยังมีข้อควรพิจารณาอีกหลายข้อ ดังนี้
ใครคือเจ้าของทรัพย์หากลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์ ก็สามารถดำเนินการยึดได้ทันที แต่บ่อยครั้งที่ชื่อผู้กู้กับชื่อเจ้าของสินทรัพย์เป็นคนละคนกัน เช่นชื่อเจ้าของทรัพย์เป็นของคู่สามีภรรยา บิดามารดา ฯลฯ การจะยึดทรัพย์ลักษณะนี้จะมีข้อจำกัดเฉพาะตัวแล้วแต่กรณี เช่น
- ชื่อคู่สมรส หากเป็นสินสมรสคือผู้กู้และคู่สมรสทำมาหาได้ร่วมกัน ก็สามารถยึดได้ แต่ถ้าเป็นสินส่วนตัว ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นนอกเหนือจากคำพิพากษาศาล เจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีจะไม่ยึดให้
- ชื่อคู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียน ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับคู่สมรสตามกฎหมาย คือเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน หรือเป็นทรัพย์ส่วนตัวของอีกฝ่าย
- เจ้าหนี้รายอื่น คือที่ดินหรือบ้านหลังนี้ติดจำนองอยู่กับคนอื่น เจ้าหนี้ที่เป็นโจทก์จะค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะต้องร้องต่อศาลเพื่อขอชำระหนี้จำนองทั้งหมดให้กับเจ้าหนี้จำนอง เรียกว่า หนี้บุริมสิทธ์ เมื่อศาลอนุญาตและขายทอดตลาดแล้ว เงินที่ได้มาต้องจ่ายคืนแก่เจ้าหนี้จำนองเป็นเจ้าแรก ที่เหลือจึงจะตกเป็นของเจ้าหนี้ที่เป็นโจทก์ฟ้อง ซึ่งโอกาสจะเหลืออาจจะไม่มีก็ได้
- ที่ดินมรดก หากมีหลักฐานและพิสูจน์ได้จริงว่าที่ดินแห่งนี้เป็นมรดกของลูกหนี้ เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์ให้
- ที่ดินถือครองร่วมกับผู้อื่นหากไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองชัดเจน เจ้าหน้าที่บังคับคดีต้องดำเนินการตามกฎหมายคือ การยึดที่ดินต้องยึดทั้งแปลง ไม่สามารถแบ่งเป็นส่วนๆ ได้ ดังนั้นในกรณีนี้เจ้าหน้าที่บังคับคดีจะยึดทั้งแปลงและขายทอดตลาด โดยเจ้าหน้าที่จะกันเงินครึ่งหนึ่งจากการขายทรัพย์ไปให้เจ้าของร่วม
แต่ถ้าเป็นการแบ่งแยกที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะยึดเฉพาะส่วนของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดและนำเงินมาให้เจ้าหนี้ หากศาลไม่บังคับเฉลี่ยทรัพย์ก็เงินนั้นจะตกเป็นของเจ้าหนี้ทั้งหมด
หลังมีคำสั่งศาลให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์และเจ้าหนี้มาที่บ้านพร้อมเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ลูกหนี้ต้องไม่ขัดขวางการปฏิบัติงาน เช่นปิดประตูบ้านล็อคกุญแจไม่ให้เข้า เพราะเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายเครื่องกีดขวางเช่นโซ่ ล็อค กุญแจได้โดยไม่มีความผิด
แม้การบังคับยึดทรัพย์จะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ลูกหนี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ทางต่อสู้ในขั้นแรกคือต้องไปพบและชี้แจงต่อศาล เพราะหากศาลเรียกแล้วไม่ไปเจ้าหนี้จะชนะคดีไปทันที แต่ถ้าลูกหนี้ไปชี้แจงและมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมาได้ชำระหนี้ถูกต้องตามสัญญา หรือพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหนี้แจ้งความเท็จ ลูกหนี้สามารถฟ้องกลับจนชนะคดีได้
จะเห็นได้ว่าหนี้สินแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย แสดงความตั้งใจที่จะชดใช้ ไม่ใช่การเงียบหายไม่รับผิดชอบ หากทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย การถูกยึดบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้ภายใน 3 วัน 7 วัน
บทความโดย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก