ในการสร้างบ้านหนึ่งหลังต้องมีการแจ้งกับทางกรมโยธาธิการและการผังเมืองที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างและขอเลขที่บ้านหรือเลขที่อาคารต่อไป โดยจะต้องมีการเสนอแปลนบ้านที่สอดคล้องกับกฎหมาย รวมทั้งต้องไม่สร้างบนพื้นที่ต้องห้าม เช่นสร้างคร่อมทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินของหลวง

การยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องไปยื่นเอกสารกับทางหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยอาคารที่จะก่อสร้างต้องมีลักษณะเป็นอาคารพักอาศัย อาคารตึกแถว หอพัก แฟลต อาคารชุด สำนักงาน โกดัง ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม ห้องแสดงสินค้า อาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เฉพาะที่สูงไม่เกิน 4 ชั้น และอาคารเลี้ยงสัตว์ อาคารชั่วคราว สะพานไม้ เขื่อน หอถังเก็บน้ำ รั้ว ป้าย แผงลอย และถนน

สถานที่ยื่นขออนุญาตสร้างที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร
  1. ที่ว่าการเขตท้องที่ที่สถานที่ทำการก่อสร้างอาคารขึ้นอยู่
  2. ณ กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา อาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารอื่นใดนอกจากข้อ 1
สถานที่ยื่นขออนุญาตสร้างที่พักอาศัยในจังหวัดอื่นๆ
  1. ในเขตเทศบาล ให้ยื่น ณ ที่ทำการเทศบาล สำนักการช่าง ของแต่ละพื้นที่
  2. นอกเขตเทศบาลให้ยื่นกับหน่วยงานบริการของแต่ละพื้นที่ เช่น อบต.
เอกสารที่ต้องเตรียม
  1. หนังสือขออนุญาตปลูกสร้าง ( ขอรับได้ที่สำนักการช่าง หรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ )
  2. สำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน /น.ร.3 /สด. (กรณีที่ติดจำนองให้ผู้รับจำนองยินยอมด้วย)
  3. หนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน (กรณีเจ้าของอาคารก่อสร้างในที่ดินของผู้อื่น)
  4. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นขออนุญาต
  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  6. แบบแปลนแผนผังและรายการประกอบแบบ รายการคำนวณ 1 ชุด กรณีพื้นที่อาคารทั้งหมดเกิน 150 ตรม.
  7. หนังสือยินยอมเจ้าของที่ดินข้างเคียง ในกรณีใช้ผนังร่วมกัน พร้อมสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวระชาชน และสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน
  8. หนังสือรับรองผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม กรณีพื้นที่อาคารทั้งหมด เกิน 150 ตร.ม.
  9. หนังสือรับรองของผู้ควบคุมงาน ถ้าเป็นบ้านพักอาศัยเจ้าของบ้านสามารถเซ็นรับรองเองได้
  10. หนังสือมอบอำนาจในกรณีให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
  11. สำเนาเอกสารต้องมีลายเซ็น ชื่อเจ้าของบ้านกำกับทุกแผ่น

ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 45 วัน หากได้รับอนุญาตก็จะสามารถก่อสร้างได้ แต่ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาต อาจจะเนื่องจากแปลนไม่ถูกต้อง หรือปัญหาอื่นๆ ก็ต้องแก้ไขก่อนยื่นขอใหม่ ไม่ควรสร้างก่อน เพราะอาจเป็นการผิดต่อกฎหมายได้

เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเรียบร้อย ก็จะสร้างบ้านได้อย่างสบายใจ

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก