5 ปีย้อนหลังผลประกอบการบริษัทกลุ่ม “ยานยนต์” ประจำครึ่งปีแรกของปี 2558
TerraBKK Research อัพเดทผลประกอบการกลุ่ม "ยานยนต์ (Automative)" ประจำครึ่งปีแรกรวม 6 เดือนย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึง 2554 บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีการซื้อขายในตลาดรอง SET บริษัทไหนสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น และมีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นบริษัทผู้นำในของกลุ่มยานยนต์ TerraBKK Research ได้รวบรวมเอาไว้ดังต่อไปนี้
รายได้ (Revenue) ของอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ พบว่า รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 รายได้ของหลายๆบริษัทค่อนข้างผันผวน สลับขึ้นลงแล้วแต่ประเภทของธุรกิจ โดยบริษัทที่มีรายได้สูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้า 3 อันดับแรกจากเปลี่ยนแปลงมากไปน้อย คือ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ (+70.65%) เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับหนังสัตว์ เบาะหนังและชิ้นส่วนรถยนต์, บริษัท อินเตอร์ไฮด์ (+33.56%) และ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (+13.46%) ส่วนบริษัทที่รายได้ลดลงมากที่สุดเห็นจะเป็นบริษัท ไทนามพลาสติกส์ (-11.05%) ซึ่งเป็นบริษัท ผลิตและจำหน่ายพลาสติกชนิดอ่อน หนังเทียมและยางปูพื้นรถยนต์
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่สุด คือ บริษัท อีซึ่น เพ้นท์ มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 43.83% เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตและจำหน่ายสีอุตสาหกรรม อันดับสองคือ ฮั้วฟง รับเบอร์ (27.6%) โดยทั้ง 2 บริษัทข้างต้นมีแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด สำหรับบริษัทอื่นๆที่มีแนวโน้มของอัตรากำไรขึ้นต้นเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปได้แก่ BAT-3K, GYT และ IRC อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงสุดคือ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน (15.58%) ลดลงจากปีที่แล้ว รองลงมาคือ ฮั้วฟง รับเบอร์ (14.55%) ส่วนบริษัท EASON อีซึ่นเพ้นท์ มีอัตรากำไรสุทธิเหลือเพียง 11.05% จาก GPM ที่สูงถึง 43.83%
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) แสดงถึงความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหนเพื่อที่จะนำมาสร้างรายได้ให้แก่กิจการ บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์มากกว่า 10% ได้แก่ ฮั้วฟง รับเบอร์ (17.87%), อีโนเว รับเบอร์ (12.97%), สยามภัณฑ์กรุ๊ป (11.88%) และ พี.ซี.เอส.แมชีน (11.09%) แต่จากการสังเกตพบว่าเกือบทุกบริษัทมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีอยู่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วลดลง มีเพียง IRC, EASON, GYT และ CWT เท่านั้นที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity) จะบอกถึงกิจการสามารถสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้มากน้อยขนาดไหน บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจะกลายเป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจและต้องมี Return to Equity มากกว่า 17% แต่สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2558 ไม่มีบริษัทใดเลยที่สามารถสร้าง ROE ได้มากกว่า 17% สำหรับบริษัทที่สามารถสร้าง ROE ได้สูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ ฮั้วฟง รับเบอร์, อินเตอร์ไฮด์ และ อีโนเวรับเบอร์ ROE ของกลุ่มยานยนต์ปีนี้มีแนวโน้มลดลงเป็นส่วนใหญ่ทำให้ครึ่งปีแรกของยานยนต์อาจจะดูไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก
อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share) บริษัทที่มีอัตรากำไรต่อหุ้นเติบโตสูงขึ้น (EPS Growth) ได้แก่ อีโนเว รับเบอร์ (+63.89%), กู๊ดเยียร์ (+63.52%), ฮั้วฟง รับเบอร์ (+31.82%) และอีซึ่น เพ้นท์ (+11.11%) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นจะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้แก่นักลงทุนต่อหนึ่งหน่วยลงทุนได้ดีมากน้อยขนาดไหนและเมื่อเราดูแนวโน้มอัตรากำไรต่อหุ้นประกอบทำให้เราสามารถเลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ดีมากขึ้น สำหรับกลุ่มยานยนต์ไม่มีบริษัทใดเลยที่มีแนวโน้มการเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้น
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปกติไม่ควรมีสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของทุนมากกว่า 2 เท่า และถ้าจะให้ดีควรจะน้อยกว่า 1 เท่า ในอุตสาหกรรมนี้ไม่มีบริษัทใดเลยที่อัตราหนี้สินต่อทุนสูงกว่า 1 เท่า บริษัทที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนสูงกว่าน้อยกว่า 1 เท่า ได้แก่ บริษัท อาปิโก ไฮเทค, บริษัท ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่, บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป, บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม และบริษัท อินเตอร์ไฮด์ - เทอร์ร่า บีเคเค
อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก