การกระจายความเจริญของ "อ.เมือง เชียงใหม่" ออกสู่ "สันทราย-สันกำแพง-หางดง"
จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีประชากรเป็นอันดับ 5 ของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ด้านประเพณีวัฒนธรรม และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก จังหวัดเชียงใหม่จึงมีความพร้อมสูงสุดในภาคเหนือ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทั้งทางถนนและทางอากาศ รวมทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางภาคประชาชน และการขนส่งสินค้าจาก กรุงเทพฯ – พิษณุโลก – เชียงใหม่ ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับการเข้ามาลงทุนของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังจากกรุงเทพฯ นำโดย บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่เข้ามาเปิดตลาดบ้านเดี่ยวตั้งแต่ปี 2544 ตามด้วย บมจ.ศุภาลัยในปี 2553 และล่าสุด บมจ.แสนสิริ ได้เริ่มเข้ามาบุกตลาดบ้านเดี่ยวในปี 2557 กับโครงการแรก "โครงการเศรษฐสิริ สันทราย" และได้เพิ่งเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวล่าสุด "โครงการบุราสิริ สันผีเสื้อ" ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยการพัฒนาไม่ได้มีเพียงแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังเป็นการเติบโตสูงสุดของการพัฒนาโครงการพาณิชย์ ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ด้วย ความเป็นเมืองค่อยๆเติบโตเรื่อยมากว่า 5 ปี จนเชียงใหม่เริ่มจะมีความคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ ที่มีประชากรแฝงจากต่างจังหวัดย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัย รวมทั้งชาวต่างชาติด้วยเช่นกัน
TerraBKK Research เราพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ของการขยายตัวเมืองเชียงใหม่ออกสู่อำเภอ “สันทราย-สันกำแพง-หางดง” ดังนี้
การขยายตัวด้านประชากรและจำนวนบ้าน
จากพื้นที่การปกครอง 25 อำเภอ โดยมีอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง หากสังเกตข้อมูลจากสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ตามทะเบียนราษฎร์ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า 10 อันดับอำเภอที่มีจำนวนประชากรและบ้านสูงสุด ในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปี 2552-2557 โดยมี 3 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่, อำเภอสันทราย และ อำเภอฝาง ตามลำดับ รองลงมาจะเป็นอำเภอโดยรอบตัวเมืองเป็นหลัก ได้แก่ อำเภอหางดง, อำเภอสันกำแพง, อำเภอสารภี, อำเภอสันป่าตอง รวมทั้ง อำเภอแม่ริม, อำเภอเชียงดาว, อำเภอแม่แตง และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรและบ้านที่เพิ่มขึ้นจาก 10 อำเภอข้างต้น จะพบข้อมูลดังนี้
การขยายตัวของจำนวนประชากร ในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงปี 2552-2557 จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9,147 คนต่อปี หรืออำเภอละ 366 คนต่ออำเภอต่อปีโดยเฉลี่ย พบว่า อำเภอที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อำเภอสันทราย, อำเภอหางดง และ อำเภอสันกำแพง ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่โดยรอบตัวเมือง
การขยายตัวของจำนวนบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงปี 2552-2557 จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.39% ต่อปี พบว่า อำเภอที่มีจำนวนบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อำเภอสันทราย, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง ล้วนเป็นพื้นที่โดยรอบตัวเมืองทั้งสิ้น
ทั้งหมดสะท้อนถึงความเจริญของตัวเมือง เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปสู่พื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ประชากรในพื้นที่ส่วนหนึ่ง จึงประกาศขายที่ดินเพื่อทำกำไร แล้วขยายตัวหรือโยกย้ายที่อยู่อาศัยไปสู่พื้นที่อำเภอโดยรอบ โดย อำเภอสันทราย คือ อำเภอหลักที่ประชากรเลือกเข้าอยู่อาศัยสูงที่สุด และด้วยการคมนาคมสัญจรที่สะดวก สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้ จึงเป็นช่องทางที่ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโครงการจัดสรร เพื่อรองรับ demand ที่เกิดขึ้น ขณะที่โครงการบ้านเดี่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นอย่างจำกัด เพราะราคาที่ดินเริ่มสูงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ โดย บมจ.แสนสิริ ที่เตรียมจ่อเปิดโครงการใหม่ บริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง "โครงการบุราสิริ สันผีเสื้อ" ความน่าสนใจของโครงการนี้ คือ การเป็นโครงการจัดสรรแปลงสุดท้าย ที่สร้างในพื้นที่สันผีเสื้อได้ เนื่องจากผังเมืองของเมืองเชียงใหม่ ได้ระบุให้พื้นที่สันผีเสื้อเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อทำการเกษตร จึงไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้อีกในอนาคต
TerraBKK Researchตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวของจำนวนบ้านและประชากรที่เกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นผลว่า เชียงใหม่เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัย
อาทิเช่น บ้านหลังที่ 2 ของคนกรุงเทพ ด้วยจุดแข็งของเชียงใหม่ที่มีการส่งเสริมสินค้าและบริการเชิงท่องเที่ยวหลายรูปแบบ สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรม และรองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัย เหมาะสำหรับเป็นบ้านหลังที่ 2 ได้ ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนเชิงวัฒนธรรม กลิ่นอายเสน่ห์ความเป็นล้านนา , การพักอาศัยเชิงการศึกษา สำหรับครอบครัวที่มีนักเรียน นักศึกษาเดินทางเข้ามาศึกษายังสถาบันในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ (CMIS) เป็นต้น, การพักผ่อนเชิงสุขภาพ โดดเด่นในด้านบริการสุขภาพ เช่น กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การบำบัดรักษาฟื้นฟูสุขภาพ บริการสปานวดแผนไทย แพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ประกอบกับความเป็นเมืองน่าอยู่ ชื่อเสียงดังไกลถึงต่างแดน ถูกจัดอันดับการันตีมากมาย มีดีทั้งด้านภูมิอากาศ, ภูมิประเทศและการใช้ชีวิต ไม่แปลกที่จะมีประชากรจำนวนมากเลือกใช้บั้นปลายที่เชียงใหม่ บ้านผู้สูงอายุวัยเกษียณ ด้วยความพร้อมสาธารณูปโภคเชิงสุขภาพและค่าครองชีพที่เหมาะสมกับทั้งคนไทยกับชาวต่างชาติ คาดว่าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปลายปี 2558 จะมีประชากรผู้สูงอายุจากกลุ่มประเทศอาเซียน เข้ามาพำนักในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
และ ด้วยศักยภาพเชียงใหม่ ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคที่จะตอบรับความเจริญด้านการอยู่อาศัยข้างต้น สังเกตได้จาก โครงการลงทุนเชิงพาณิชย์ภาคเอกชน ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ไม่ต่างจากกรุงเทพ, ด้านโครงการลงทุนภาครัฐ อย่าง โครงการระบบขนส่งมวลชนแบบราง (TRAM) เพิ่มความสะดวกสบายในการสัญจรสำหรับคนเชียงใหม่ หรือ โครงการเมกะโปรเจคท์รถไฟฟ้า เตรียมพร้อมการเดินทางเชื่อมต่อในอนาคต และด้วยพื้นฐาน ความเป็นเมืองท่องที่ยวสำคัญของประเทศ และความเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ สามารถกล่าวได้ว่า เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยศักยภาพรอบด้าน ที่จะเป็น "บ้านหลังที่ 2 ของคนกรุงเทพ"
โครงการลงทุนภาครัฐ และภาคเอกชน
สำหรับตัวเมืองเชียงใหม่ มีศักยภาพความเป็นเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย จากการพัฒนาของภาคท้องถิ่นเองในด้านเส้นทางคมนาคม เช่น โครงการสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณทางแยกที่เกิดการจราจรติดขัด เป็นต้น ภาคเอกชนก็ได้ทำโครงการลงทุนเชิงพาณิชย์ที่ตอบสนองกลุ่มลูกค้าหลายหลากระดับ ไม่ว่าจะเป็น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์
อำเภอสันทราย มี Central Festival Chiangmai ตั้งขึ้นในพื้นที่เชื่อมตัวตัวเมืองเชียงใหม่กับอำเภอสันทราย และ ย่านรวมโชค แหล่งรวมอาหารสดมากมาย เช่น ตลาดรวมโชค เทสโก้ โลตัส และริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต สร้างความคึกคักแก่บริเวณโดยรอบไม่น้อย ด้านโครงการจัดสรรเอกชนแบรนด์ดังรายใหญ่ จึงนำแบรนด์บ้านเดี่ยวหลากหลายมาเปิดตลาด เช่น โครงการเศรษฐสิริ สันทราย ของแสนสิริ เป็นต้น
อำเภอสันกำแพง มี Promenada Resort Mall Chiang Mai ตั้งขึ้นในพื้นที่เชื่อมตัวตัวเมืองเชียงใหม่กับอำเภอสันกำแพง กลายเป็นพื้นที่ Lifestyle แห่งใหม่ในย่านนี้ ด้านโครงการจัดสรรเอกชน ได้แก่ โครงการบ้านสีวลี –สันกำแพง ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นต้น
อำเภอหางดง มีซุปเปอร์สโตร์ เช่น บิ๊กซี สาขาหางดง, แม็คโคร สาขาหางดง เป็นต้น เหมาะแก่การจับจ่ายซื้อสอยของเหล่าแม่บ้านพ่อบ้าน ด้านโครงการจัดสรรจะเป็นแบรนด์ท้องถิ่นเป็นหลัก ราคาเริ่มต้นเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทขึ้นไป
โครงการเมกะโปรเจคท์ ที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ อย่าง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร เงินทุนกว่า 426,898 ล้านบาท เส้นทางรถไฟผ่านอำเภอสารภีเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันทางรัฐบาลไทย และญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเริ่มสำรวจเส้นทางช่วงปลายปี 2558 ระยะเวลาก่อสร้าง 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 พื้นที่ศึกษากรุงเทพ - เชียงใหม่ ระยะที่ 2 ระยะทางประมาณ 280 กิโลเมตรสถานีรถไฟ 6 สถานี
- สถานีพิษณุโลก
- สถานีสุโขทัย
- สถานีศรีสัชนาลัย
- สถานีลำปาง
- สถานีลำพูน
- สถานีเชียงใหม่
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพ - เชียงใหม่ ระยะที่ 2
โครงการระบบขนส่งมวลชนแบบราง (TRAM) ขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยไฟฟ้า ความเร็วเฉลี่ย 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบรายละเอียด โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยแผนการก่อสร้างระยะที่ 1 (5-15 ปี) ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟฟ้าแบบราง 5 เส้นทาง โดยมีเส้นทางหลักที่ควรจะเริ่มดำเนินการเป็นลำดับแรก 3 ช่วง ในลักษณะของการวิ่งวน ได้แก่- สายเหนือ–ใต้ (สายสีแดง) โดยจะมีสถานีเริ่มต้นจากศูนย์ประชุม และแสดงสินค้านานาชาติด้านทิศเหนือของตัว เมืองลงมายังตัวเมืองวนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับไปยังสถานีต้นทาง
- สายเหนือ–ใต้ส่วนล่าง (สายสีน้ำเงิน) มีสถานที่เริ่มต้นจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ขึ้นเหนือผ่านสนามบินเชียงใหม่ไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และวนกลับไปยังเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
- สายตะวันตก–ตะวันออก (สายสีเหลือง) จากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิ่งไปทางทิศตะวันออกรอบตัวเมือง ก่อนจะวกกลับออกไปทางโรงพยาบาลสวนดอก และกลับไปยังต้นทาง
โครงการระบบขนส่งมวลชนแบบราง (TRAM) อยู่ในระหว่างศึกษาและออกแบบรายละเอียด
เชียงใหม่เมืองมรดกโลก จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ชาวต่างชาติ ให้ความสนใจจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้นทุกปี ยอดรวมชาวต่างชาติ ปี 2013 เพิ่มขึ้น 6.82%จากปีก่อน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากสังเกต สถิติการเดินทางเข้า - ออก ราชอาณาจักร จำแนกตามหน่วยงาน ตม.จว.เชียงใหม่ ปี 2013 พบว่า จำนวนขาเข้ารวม 17,336 คน และขาออกรวม 10,255คน มีสัดส่วนชาวต่างชาติสูงถึง 87% และ77.5% ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาดู สถิติการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ของคนต่างด้าวรายหน่วยงาน ตม.จว.เชียงใหม่ ปี 2014 จะพบจำนวนผู้ผ่านการอนุมัติขออยู่ต่อประเภทใช้ชีวิตบั้นปลาย 5,176 คน เพิ่มขึ้น 19.3% จากปีก่อน ( ปี 2013 อนุมัติ4,337 ราย) ด้านการท่องเที่ยว จากข้อมูล Guest Arrivals at Accommadation Establishment สำนักงานการท่องเที่ยวและการกีฬา จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า นักท่องเที่ยวรายประเทศที่ได้เข้าพักสูงสุด 15 อันดับแรก ในปี 2013 ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, UK, เยอรมัน, USA, ออสเตเรีย, มาเลเซีย, เกาหลี, เนเธอร์แลนด์, สิงคโปร์, อิสราเอล, แคนาดา, สเปน และ สวิตเซอร์แลนด์
เศรษฐกิจหลักของเชียงใหม่ (GPP) เป็นภาคนอกการเกษตร
ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Province Product : GPP) แสดงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจังหวัด มูลค่าของสินค้า,บริการขั้นสุดท้าย หรือรายได้จากผลตอบแทนปัจจัยการผลิตที่ประกอบการในขอบเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามรอบระยะเวลา สังเกตได้ว่า GPP จังหวัดเชียงใหม่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น “ภาคเกษตร” ที่ดูเหมือนจะลดสัดส่วนลดทุกปี ขณะที่ “ภาคนอกเกษตร” กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อปี 2013 มีสัดส่วนถึง 86.3% (เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน) โดย 5 อันดับแรกมาจากสาขาผลิต ประเภทค้าขาย 13.3%, ประเภทอุตสาหกรรม 9.8%, โรงแรมและภัตตาคาร 9.5%, บริการอสังหาริมทรัพย์ 8.1% และการก่อสร้าง 8% สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เชียงใหม่พร้อมรองรับเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักทางภาคเหนือของประเทศไทย
ท้ายสุด เมื่อดูทั้งการลงทุนภาคเอกชนและนโยบายภาครัฐที่ไปในทิศทางเดียวกัน “เชียงใหม่ มนต์เสน่ห์ล้านนา” คงเป็นหัวเมืองสำคัญที่ช่วยผลักดันประเทศไทยของเราเข้าสู่ “Asean Hub” ได้อย่างภาคภูมิใจ -เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.