รู้ทันสารพัด "โรค" ฤดูหนาว ภัยลูกน้อยอย่ามองข้าม
ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมีอากาศเย็นลง จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลานต้องใส่ใจและให้ความอบอุ่นเป็นพิเศษ
ภาพจาก : www.thaipost.com
สำหรับผู้ใหญ่มักจะเกิดโรคที่มาพร้อมกับอากาศหนาว เช่น "โรค" ที่ติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายได้คือ โรคทางเดินหายใจ ติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ "โรค" ติดเชื้อ" แบคทีเรีย และโรคที่ไม่ติดเชื้อคือ โรคหอบหืด ที่จะแสดงอาการกำเริบในช่วงฤดูหนาว หรือพื้นที่มีอากาศเย็น
ในส่วนของเด็กเล็กอาจต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เพราะเขาไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองจะต้องเฝ้าระวังทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกมาเตือนโรคระบาดที่ควรระวังในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
ภาพจาก : www.thaipost.com
ภัยแรกคือไข้หวัด เกิดจาก "เชื้อไวรัส" ที่อยู่บริเวณเยื่อบุจมูก แพร่กระจายผ่านทางการจามและการสั่งน้ำมูก ส่วน "เชื้อไวรัส" ที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ จะอยู่บริเวณเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ แพร่กระจายผ่านการไอ สำหรับเด็กเล็กจะได้รับ "เชื้อไวรัส" มาจากคนอื่น หรือที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ และในฤดูหนาว เชื้อยิ่งแพร่ระบายเร็ว เพราะเชื้อเติบโตเร็ว ทั้งนี้ การรับมือ ไม่ควรพาลูกออกไปในสถานที่มีคนอยู่เยอะ เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ รวมทั้งคนในครอบครัวที่เป็นไข้หวัดก็ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กด้วย แต่หากลูกน้อยมีไข้แล้วก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากอุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ไม่ควรให้ยาลดไข้ แต่ควรใช้วิธีเช็ดตัวโดยนำผ้าชุบน้ำอุ่นทำให้ตัวลูกเย็นลง โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ แต่ถ้ามีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยภาพจาก : www.thaipost.com
โรคต่อมาคือท้องร่วง ฤดูนี้จะมีเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดท้องเสียในเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปี และจะมีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่รับเข้าไป
เด็กที่มีอาการรุนแรงจะถ่ายมาก ส่งผลให้เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปเยอะ จึงควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ และให้น้ำตาลเกลือแร่ชดเชยเกลือแร่ที่เสียไป แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที สำหรับแนวทางป้องกัน โรคนี้มักจะติดเชื้อไวรัสจากทางปาก จึงต้องดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมและอาหาร ล้างมือให้สะอาด ระวังอย่าให้ลูกหยิบสิ่งของเข้าปาก อีกวิธีป้องกันที่ได้ผลดีคือการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคต่อมาคือ ปอดบวม เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย พบบ่อยในช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคม พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ติดต่อผ่านทางการหายใจ น้ำมูก และน้ำลาย อาการที่แสดงออกคือ มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบากภาพจาก : www.thaipost.com
อีกทั้งเด็กยังมีอาการงอแงและซึม บางรายอาการรุนแรงจะหายใจแรงจนจมูกบานหรือหน้าอกบุ๋ม และถ้าหลอดลมภายในปอดตีบอาจจะเกิดเสียงหายใจวี้ด และรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว การรับมือ หลีกเลี่ยงพา "ลูกน้อย" ไปในสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้เลี่ยงจากควันบุหรี่ ไฟ และไอเสียรถยนต์ และยิ่งช่วงอากาศหนาวเย็นควรให้ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น นอนห่มผ้าเสมอ และควรพาไปพบคุณหมอเกี่ยวกับการฉีควัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค ต่อมาคือ โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ติดต่อง่ายและรวดเร็วจากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนอาการช่วงแรกหลังรับเชื้อโรคหัดไป 7 วัน มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ แต่ไข้ไม่ลด ซึม งอแง ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง บางรายทีอาการถ่ายเหลว และอาจชักจากการมีไข้
ภาพจาก : www.thaipost.com
จากนั้นร่างกายจะมีผื่นเริ่มขึ้น ลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด เริ่มจากบริเวณตีนผม ซอกคอ ก่อนจะลามขึ้นใบหน้า ลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคัน โดยผื่นจะขึ้นอยู่ 2-3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้นและจะจางลง โรคหัดส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เอง วิธีดูแลคือ พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำเยอะๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ให้กินยารักษาตามอาการ ถ้ามีอาการไอ เสมหะข้น-เขียว หายใจไม่สะดวก เพราะหลอดลมตีบ ควรพบคุณหมอ รับมือโรคหัด ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปยังสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน และหากมีอาการควรอยู่ในการดูแลของคุณหมอ โรคสุดท้ายคือ อีสุกอีใส มักระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน จากเชื้อไวรัสชื่อวาริเซลลา หรือฮิวแมนเฮอร์ปีส์ไวรัสชนิดที่ 3 ไวรัสนี้ติดต่อผ่านการหายใจ ไอ จาม สัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มแผลของคนเป็นโรค เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลา 10-20 วันจึงเริ่มออกอาการ อาการเริ่มต้นคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เบื่ออาหาร งอแงภาพจาก : www.thaipost.com
จากนั้นเริ่มมีผื่นแดง ก่อนเปลี่ยนเป็นตุ่ม มีน้ำใสภายในและคัน ตุ่มจะทยอยขึ้นทั่วตัวเต็มที่ภายใน 4 วัน ควรตัดเล็บลูกให้สั้น และจำเป็นต้องใส่ถุงมือเพื่อกันลูกเกา จะทำให้เชื้อลุกลาม
โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อน พร้อมทั้งรักษาดูแลตามอาการ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ กินยาลดไข้ตามคุณหมอสั่ง และควรรีบพาไปพบหมอด่วนถ้าลูกรับเชื้อไวรัสเป็นอีสุกอีใสตอนอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทาน เสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย
การรับมืออีสุกอีใส อย่าให้ลูกสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใส ควรแยกห้องนอนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยอีสุกอีใส ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ รู้ทันโรคฤดูหนาว เชื่อว่าพ่อแม่จะป้องกันลูกน้อยให้ผ่านพ้นความเสี่ยงไปได้อย่างปลอดภัยพร้อมรอยยิ้มที่มีความสุข
ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก : www.thaipost.com