"พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด" รอยอดีตในเมืองใหญ่
นิตยสาร Builder Vol.24 OCTOBER 2015 บนพื้นที่กว่า 6 ไร่ ริมถนนศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยตึกสูง ซึ่งตระหง่านอยู่ในฐานะอาคารสำนักงาน โรงแรม และที่พักอาศัยในแนวดิ่ง ยังมีอาคารหมู่เรือนไทยเล็กๆ ที่วางตัวอยู่อย่างสงบเงียบภายใต้แมกไม้และสวนเขียว ที่นี่คือ ‘พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด’ อดีตวังที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงที่แฝงไว้ด้วยความทรงจำ และปัจจุบันเปิดให้เข้าชมในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม จากอดีต ก่อนจะเปิดให้บุคคลภายนอกให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2495 เดิมที ‘วังสวนผักกาด’ เป็นตำหนักที่ประทับในพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และชายา ‘หม่อมราชวงศ์ พันธุ์ทิพย์ บริพัตร’ หรือ ‘คุณท่าน’ เดิมทีที่ดินบริเวณนี้เคยเป็นสวนผักกาดเก่าของคนจีน จนเมื่อท่านตัดสินพระทัยจะย้ายมาพำนักบริเวณนี้ จึงได้สร้างตำหนักและใช้เรือนไทยที่ได้รับตกทอดเป็นมรดกมาจากบรรพบุรุษที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งหมู่เรือนไทยเหล่านั้นก็ยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับที่ดินผืนนี้มาจนปัจจุบัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วังแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘วังสวนผักกาด’ ตามย่านเดิมที่เคยเป็นสวนผักกาดของคนจีน
สู่ปัจจุบัน ในอดีตวังสวนผักกาดแห่งนี้เคยต้อนรับรองแขกและบุคคลมีชื่อเสียงมากมาย พร้อมทั้งจัดแสดงของสะสมสวยงามที่หลายชิ้นเป็นมรดกตกทอดมาจากพระบิดา คือ ‘จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จนเมื่อเวลาผ่าน ‘คุณท่าน’ เล็งเห็นว่าโบราณวัตถุที่สะสมไว้ไม่ได้เป็นเพียงทรัพย์สินของท่าน แต่เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าต่อวัฒนธรรมไทย ทั้งยังเป็นมรดกตกทอดสำหรับมวลมนุษยชาติ ท่านจึงไม่ปรารถนาจะเก็บโบราณวัตถุเหล่านั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้าเยี่ยมชมบ้านของท่านได้ และถือว่าเป็นบ้านแห่งแรกที่เปิดให้คนภายนอกเข้าชมในขณะที่เจ้าของบ้านยังมีชีวิตอยู่ หากคุณหวังอยากใช้วันหยุดพักผ่อนของคุณให้เปี่ยมด้วยคุณค่ามากขึ้น การแวะมาสัมผัสกลิ่นอายแห่งอดีตที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดแห่งนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีสุดอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนอกจากหมู่เรือนไทยในอดีตจะยังคงถูกเก็บรักษาอย่างดีและคอยต้อนรับผู้มาเยือนที่หลงใหลในภาพสะท้อนของอดีตแล้ว พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดแห่งนี้ยังได้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับจัดแสดงศิลปวัตถุ อาทิ ศิลปาคาร จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งเปิดใช้ในปี พ.ศ.2539 โดยห้องโถงบริเวณชั้น 2 ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียง ส่วนห้องศิลปนิทรรศการมารศรี ในลำดับถัดมาใช้เป็นห้องแสดงงานศิลปะที่ศิลปินมากความสามารถหมุนเวียนกันมาแสดงผลงาน เมื่อเดินผ่านตึกแสดงงานศิลปะมาถึงสวนเขียวด้านหลัง คุณจะได้พบกับ ‘หอเขียน’ อยู่บริเวณสนามหญ้าทางทิศใต้ของวังสวนผักกาด และหมู่เรือนไทยซึ่งเป็นเรือนไทยเดิมตะหง่านอยู่อีกฟากหนึ่งของสนามหญ้าภายใต้เงาไม้ร่มรื่น สำหรับ ‘หอเขียน’ นั้น สมเด็จในกรมฯ ได้ผาติกรรมมาจากวัดบ้านกลิ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมของไทยให้คงอยู่ เนื่องจากมีกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังเมื่อซ่อมแซมเรียบร้อยเสด็จในกรมฯ ได้มอบเป็นของขวัญวันเกิดแก่ชายาของท่านเนื่องในอายุครบรอบ 50 ปี ปัจจุบันเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนขึ้นชมภายในหอเขียน ซึ่งมีภาพลายรดน้ำเรื่องพุทธประวัติ และรามเกียรติ์ ส่วนหมู่เรือนไทยโดยเฉพาะเรือนไทยหลังที่ 4 นอกจากจัดแสดงศิลปะวัตถุแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงเปิดใช้ในงานโอกาสสำคัญต่างๆ อีกด้วย เสน่ห์อย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดแห่งนี้คือ การตกแต่งโดยมอบความรู้สึกถึงความเป็นบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 09.00. - 16.00 น. (ค่าเข้าชม ท่านละ 50 บาท) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันทิพย์ อันเป็นองค์กรการกุศลที่ ‘คุณท่าน’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2511 เพื่อส่งเสริมการศึกษา การอนุรักษ์และศิลปวัฒนธรรม
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : "พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด" รอยอดีตในเมืองใหญ่
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.